รัฐบาลเศรษฐา-มี 2 ลุงพ่วง สว. | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

เมื่อมติศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้อง กรณีรัฐสภาห้ามไม่ให้เสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำสองถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมติเป็นเอกฉันท์ในการตีตกคำร้องดังกล่าว ส่งผลให้การโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ เป็นไปอย่างโล่งสะดวก

ประธานสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เรียกประชุม 2 สภาเพื่อโหวตแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ โดยนัดวันที่ 22 สิงหาคมนี้

ถ้าไม่มีอะไรพลิกผันอีก คงจะได้นายกฯ คนที่ 30 เสียที หลังจากผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มาแล้วกว่า 3 เดือน

โดยโอกาสที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย จะได้รับความเห็นชอบเกิน 375 เสียง เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น น่าจะเป็นไปได้

เนื่องจากสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ ได้ถึง 314 เสียง ดึง ส.ว.เพิ่มอีกประมาณ 60 เสียง ไม่น่าจะยากนัก

เพราะภายใต้ 314 เสียง ส.ส.นั้น มีเสียงจากพรรค 2 ลุงเข้ามาร่วมด้วย เท่ากับว่ามี ส.ว.จาก 2 สาย 2 ลุงพ่วงเข้ามาด้วยอย่างแน่นอน

นั่นจึงทำให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมผสมสูตรรัฐบาลแบบไม่ต้องยึดหลักการอะไรอีกแล้ว

จัดรัฐบาลพร้อมโดนวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างร้อนแรงไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ การตัดสินใจของเพื่อไทย ในการแยกทางกับก้าวไกล คงเพราะมองเห็นว่าถ้าจับมืออยู่ด้วยกัน ก็คงโดนสอยไปด้วยกัน

อีกทั้งเพื่อไทยมีเนื้อแท้ที่ต่างกับก้าวไกลอย่างมาก

เพื่อไทยมีองค์ประกอบในทางการเมือง ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ มากนัก แต่จุดเด่นก็คือ มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่ทันสมัย มีแนวคิดนโยบายทางเศรษฐกิจที่แปลกใหม่ ถูกใจประชาชน แก้เรื่องปากท้องได้รวดเร็ว

ในทางการเมืองเพื่อไทยก็คือประชาธิปไตยแบบประนีประนอม ขณะที่ก้าวไกลนั้นการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แหลมคม มุ่งเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เพื่อไทย ไม่สามารถพุ่งชนกับเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองได้

จึงเลือกหนทางปล่อยมือก้าวไกล แล้วจับมือกับเครือข่ายการเมืองเก่า เพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ หวังจะใช้ฝีมือทางเศรษฐกิจมาเรียกคะแนนนิยมจากชาวบ้าน

รัฐบาลของเพื่อไทย จึงประกอบด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา รวมเข้ากับพันธมิตรที่เคียงข้างกันคือ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย เมื่อรวมกับพรรคเล็กอื่นๆ จึงเป็นสูตรรัฐบาล 314 เสียง

ต้องยอมถูกชาวบ้านสวดกันหูอื้อ ด้วยการนำ 2 ลุงเข้ามาร่วม เพราะหมายถึง พ่วงด้วยเสียง ส.ว.จำนวนมาก และการันตีความปลอดภัยเครือข่ายองค์กรอิสระ

 

ย้อนกลับไปช่วงแรกของความพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ภายใต้สูตร 8 พรรค 312 เสียง ต้องพึ่งพาเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ ในวันลงมติเลือกพิธาเมื่อ 13 กรกฎาคมนั้น มี ส.ว. 13 เสียงที่โหวตสนับสนุน ทำให้ไม่ผ่านความเห็นชอบ

พอถึงวันโหวตหนที่ 2 วันที่ 19 กรกฎาคม โดนเกมของฝ่าย ส.ว. ตีความว่าการเสนอชื่อพิธา คือญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีก ทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันดุเดือด ก่อนตัดสินด้วยการโหวตกันอีก ผลก็คือ เสียง ส.ว.เหลือแค่ 8 เสียง

จากนั้นมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาว่า มติของรัฐสภาดังกล่าว ซึ่งอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มาใช้ เหนือกว่าข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ถือว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลของการไปยื่นคำร้องดังกล่าว ทำให้รัฐสภาต้องชะลอการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ไม่รับพิจารณาคำร้อง ทำให้รัฐสภาสามารถนัดโหวตนายกฯ ใหม่ได้

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยที่รับสิทธิ์ในการตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล เดินหน้าดันนายเศรษฐา เป็นผู้ชิงนายกฯ พร้อมกับเร่งจัดขั้วรัฐบาลใหม่ โดยตัดสินใจแยกทางกับก้าวไกล

ในท่ามกลางเสียงโจมตีอย่างร้อนแรงจากประชาชนที่หวังให้การเมืองไทยยกระดับเสียที และผิดหวังเพื่อไทยที่หันไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อตั้งรัฐบาล เหมือนเล่นการเมืองแบบเก่าๆ

แต่เพื่อไทยก็อ้างว่า หากจะตั้งรัฐบาลให้ได้ ไม่มีทางเลือกให้เดินมากนัก ขืนจับมือกับก้าวไกลต่อไป ก็คงอันตรายไปด้วย

เมื่อปล่อยมือกับก้าวไกล 151 เสียง แล้วมีไทยสร้างไทยอีก 6 เสียงด้วย มีพรรคเป็นธรรมอีก 1 เสียงไปด้วย

เพื่อไทยต้องหาเสียง ส.ส.จากพรรคอื่นมาเติม จึงไม่พ้นต้องมีภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และลงเอยก็ต้องมีพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพราะ 2 ลุง หมายถึงมี ส.ว.มาพร้อม แถมจะปลอดภัยจากการถูกยื่นร้องถูกยื่นสอยด้วย

ลงเอยด้วยสูตรนี้ ทำให้เพื่อไทยเชื่อว่า การโหวตนายเศรษฐา ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ คงผ่านแน่นอน

 

ในทางการเมือง นับได้ว่าพรรคเพื่อไทย ตกอยู่ในสถานะที่เป็นจำเลยของประชาชนคนรักประชาธิปไตย ซึ่งผิดหวังที่เพื่อไทยไม่จับมือกับก้าวไกล เพื่อต่อสู้กับเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองไปด้วยกัน จนถึงขั้นชี้ว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยจะถูกประชาชนลงโทษ จะกลายเป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กไปในที่สุด

แต่เพื่อไทยเอง ก็มีความมั่นใจว่า ถ้าได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล จะได้ทุ่มเทฝีมือในการบริหารประเทศให้ทันสมัย มีนโยบายเศรษฐกิจที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้

อีกทั้งตั้งรัฐบาลล่าช้า ปัญหาประเทศ เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนจะยิ่งทรุดหนัก

จึงเลือกทางเดินหน้าตั้งรัฐบาล ด้วยคำประกาศ เป็นรัฐบาลสลายขั้ว ไม่มีขั้วการเมืองอีกต่อไป จึงทำให้เต็มไปด้วยพรรคการเมืองจากขั้วรัฐบาลเดิม

แล้วจำเป็นต้องเปิดทางให้พรรค 2 ลุง ซึ่งไม่มีทั้ง 2 ลุงเข้ามาร่วมใน ครม. แต่เมื่อมี 2 ลุง ย่อมมี ส.ว.พ่วงมาด้วยจำนวนมาก

สูตรนี้แหละ ที่เพื่อไทยเลือกแล้วว่าจะตั้งเศรษฐาเป็นนายกฯ สำเร็จ นำไปสู่การตั้งรัฐบาล แม่จะอยู่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างผิดหวังของประชาชน

กระนั้นก็ตาม ในช่วงท้ายก่อนถึงวันโหวตนายเศรษฐา จะพบว่ามีเสียงจาก ส.ว.ตัวตึงทั้งหลาย ตั้งแง่ตั้งเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาอีก

นั่นคือ แสดงท่าทีไม่พอใจที่เพื่อไทยประกาศว่า เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล จะเร่งแก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนทุกวงการ เพื่อร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับของประชาชน

นี่เองที่ ส.ว.กลุ่มสุดโต่งหวั่นไหว ถ้าเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แล้วบรรดาคนรุ่นใหม่ เหล่าด้อมส้ม แห่เข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะกลายเป็นประเด็นเดิมที่อำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองหวาดผวาพรรคก้าวไกล เกรงจะมารื้อรัฐธรรมนูญกระทบเรื่องเดิมๆ อีก

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นเพิ่มเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ที่เพื่อไทยจะต้องหาทางออกให้เหล่า ส.ว.สบายใจและเบาใจในความกังวลดังกล่าว

ต้องจับตากันต่อไป กว่าจะถึง 22 สิงหาคม เพื่อไทยจะเคลียร์เส้นทางได้ลุล่วงหรือไม่

แต่น่าเชื่อว่า สุดท้ายเพื่อไทยและชื่อเศรษฐาน่าจะผ่านไปได้

แล้วเมื่อเสร็จจาก 22 สิงหาคมอย่างลุล่วง ก็คงต้องรอฟังกันต่อไปว่าเครื่องบินจากดูไบจะแลนดิ้งในวันไหน!?!