มีลุง ไม่มีเบี้ยคนชรา? รัฐบาลลุงตู่ ดับฝัน ผู้สูงวัย พรรคการเมืองค้านระงม

เป็นประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู สำหรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยระบุว่า ต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” และจะต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งลงนามโดย “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงของการเป็นรัฐบาลรักษาการ

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเบี้ยคนชราคือสวัสดิการที่ผู้สูงอายุ “ควรจะได้รับ” เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในช่วงวัยที่ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้อีก

จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า หรือจะเป็นการส่งท้ายและโยนปัญหาให้กับว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะต้องขึ้นมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลชุดรักษาการ ที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เรื่องนี้ทำให้หลายคนต้องย้อนกลับไปดูนโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคการเมือง ที่ประกาศออกมาในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนอย่างไรบ้าง

 

เริ่มจาก “พรรคพลังประชารัฐ” เสนอเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็น 700 บาทต่อเดือน และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากผู้ที่อายุ 60 ปี จะได้ 3,000 ต่อเดือนเป็นขั้นต่ำ

“พรรครวมไทยสร้างชาติ” ประกาศนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท และสามารถกู้ฉุกเฉินได้ 10,000 บาท

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” เสนอนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท และเสนอการให้ค่าแรงเป็นวันละ 600 บาท ภายในปี 2570

ด้าน “พรรคก้าวไกล” ประกาศนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เช่นเดียวกับ “พรรคไทยสร้างไทย”

ส่วน “พรรคภูมิใจไทย” เสนอนโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปี และ “พรรคชาติพัฒนากล้า” อัดนโยบายยุทธศาสตร์สีเงิน ให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุกว่า 5 แสนตำแหน่ง และกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน

ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้ ล้วนสร้างความหวังให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้อีก แต่กลับต้องมาเจอหลักเกณฑ์จ่ายเงินแบบใหม่พ่วงกับการต้องพิสูจน์ความจน เพื่อได้มาซึ่งเงิน 600 บาทต่อเดือน ก็นับว่าเป็นความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และประชาชนที่ควรจะได้รับสิ่งนี้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

 

“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” หลังเจอกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ว่าเงินดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ตามหลักเกณฑ์ แต่งบประมาณส่วนนี้นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับมหาดไทย

เป็นที่มาว่า โดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น มหาดไทยจะต้องออกระเบียบเพื่อที่ให้ดำเนินการได้ ตอนนี้จะจ่ายอย่างไรขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด หลังจากนั้นมหาดไทยก็จะออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา แต่ทั้งนี้ต้องรอเกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่นิ่งเฉยต่อประเด็นนี้ อาทิ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวมติชนทีวี โดยกล่าวว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เห็นหัวประชาชนของรัฐบาลรักษาการ

“นี่ไม่ใช่เป็นความพยายามครั้งแรกของฝ่ายอำนาจศักดินาอนุรักษนิยม ที่พยายามจะตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ ปี 2566 ในข้อ 6(4) เขียนออกมาบอกว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ สรุปง่ายๆ คือต้องมีกระบวนการที่ไปพิสูจน์ความจน ผมบอกไว้เลยว่านี่คือหลักเกณฑ์ที่ออกมาผิดกฎหมาย เพราะถ้าเราไปดู พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มาตราที่ 11(11) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องจ่ายแบบทั่วถึงและเป็นธรรม ดังนั้น ระเบียบใดๆ ที่ออกมาแล้วไม่เป็นธรรม อธิบายไม่ได้ ย่อมขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ”

“ผมเรียกว่าเป็นอะไรที่ไม่เห็นหัวประชาชน จะเอาหลักเกณฑ์ที่ใช้กับบัตรคนจนมาใช้อันนี้ก็มั่วสุดสุด บัตรคนจน คนที่จนจริงมีเกือบ 40% พวกอยากจนมีถึง 70% แล้วคุณจะเอาฐานข้อมูลที่นักวิชาการเค้าติติงมาจำแนกว่าคนนี้จน-ไม่จนหรือครับ ผู้สูงอายุ 11 ล้านคนที่เรามีอยู่ตอนนี้ถ้าใช้เกณฑ์แบบนี้จะมีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแค่ 5 ล้านคน อีก 6 ล้านคนจะถูกรัฐลอยแพทันที”

“สวัสดิการตรงนี้อย่าคิดว่าเป็นเงินที่รัฐแจก มันเป็นเงินภาษีที่เขาทำงานตั้งแต่วัยหนุ่มมาทั้งชีวิต แล้วรัฐควรจะดูแลเขา ถ้าเรามัวแต่พิสูจน์ความจน ผู้สูงอายุที่เขาจนจริงลำบากจริงเขาจะตกหล่น ไม่ได้เข้ามากรอกเอกสาร ไม่ได้เข้าสู่ระบบทะเบียน แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ทั่วโลกก็พิสูจน์แล้วว่าระบบถ้วนหน้าดีกว่าการพิสูจน์ความจน แต่ของเราก็ยังจะกดคนจนให้มากราบกรานถึงจะได้รับความช่วยเหลือ ชอบระบบสงเคราะห์ ชอบการบริจาค”

“นี่แหละครับคือสันดานของฝ่ายอนุรักษนิยมที่แก้ไม่เคยหาย”

“จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี” เช่นกัน

“ผมเข้าใจว่าคนออกกฎไม่ใช่คนที่ต้องการเงินตรงนี้ เป็นคนที่ชีวิตอยู่ได้เพราะเงินภาษี แล้วไม่เคยจนเลยไม่เคยรู้ว่าเงิน 600 บาท มันประทังชีวิตได้ คนที่จะอายุ 60 ในอนาคตจะต้องไปพิสูจน์ความจน การต้องไปบอกว่าเราจนมันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย ทำไมต้องแบ่งแยกคนนี้จนคนนี้รวย แล้วมาออกในตอนที่เป็นรักษาการ ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง”

“ประเทศเรามีเงินเหลือเฟือนะ ข้าราชการที่ได้บำนาญ-สวัสดิการอะไรเยอะแยะไม่เห็นเคยลด มีแต่เพิ่ม พอเป็นประชาชนจะต้องมาจำกัดจำเขี่ยว่าจะเลือกให้ใครดีเพราะเงินมีจำกัด 90,000 ล้าน ไม่ใช่เงินเยอะนะครับเมื่อเทียบกับ 3.3 ล้านล้านต่อปีที่เป็นงบประมาณประเทศ แล้ว 3,000 บาทที่ก้าวไกลทำเป็นนโยบาย เรายังคิดว่าไม่พอเลย เริ่มต้นเท่านี้อนาคตมันต้องเพิ่มอีก นี่ 600 แล้วยังไปตัดเขาอีก ผมคิดว่าไม่เห็นหัวคนเลยครับ”

“ต้องแจกทุกคนนั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง ใครที่ไม่อยากได้ก็ไม่ต้องรับ แต่ควรได้รับทุกคนเพราะเป็นสิทธิ์ที่เราเกิดมาในประเทศนี้จะได้รับ มันน่ากลัวนะเวลาที่เราจะต้องไปพิสูจน์ความจน มานั่งเช็กทีละข้อ มานั่งบอกว่าผมจนจริงๆ นะ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำทำไมในเมื่อเงินงบประมาณก็เหลือเฟือ ความอยุติธรรมแบบนี้เป็นโจทย์ของประเทศไทย รัฐไทยไม่เคยปฏิบัติกับคนรวยคนจนเท่ากันเลย นี่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ครับ”

ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ว่าถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องสื่อสารกันให้ชัดเจน เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นจะมีการลดลงจำนวน 5 ล้านคน งบประมาณจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบประมาณเรือดำน้ำที่แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ น่าเสียดายที่สภายังไม่เปิด จะได้ให้ลูกพรรคตั้งกระทู้ถามในสภาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

ส่วนทาง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ชี้แจงว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป ถ้ามีเม็ดเงินงบประมาณที่เพียงพอ สิ่งที่ทำมันจำเป็นต้องทำเพราะผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ฉะนั้น อย่าไปฟังหลายๆ อย่างจากคนที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเป็นรัฐบาลมาแล้วนำมาพูด ผมไม่อยากจะมาตอบโต้ตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ท้ายที่สุดหากสวัสดิการขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่สมควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม ต้องถูกพิจารณาจากสถานะความยากจน ภาพบรรดาผู้สูงอายุที่ต้องไปนั่งรอยืนยันความจนแลกเงินหลักร้อย จะกลายเป็นภาพที่ชวนให้รู้สึกหดหู่มากอีกครั้ง และตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่หาย

เป็นผลงานส่งท้ายการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยประกาศจะทำให้คนจนหมดประเทศในปี 2565 เป็นแค่เพียงลมปากเท่านั้นเอง!