จับตามาตรการรัฐบาล เมื่อประชากรญี่ปุ่นลดวูบ

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่ทำนองเดียวกันกับกระทรวงมหาดไทยในบ้านเรา เผยแพร่สถิติที่น่าตกใจสู่สาธารณชนทั่วไป

สถิติที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 2022 โดยตัวเลขจากการจดแจ้งในระบบทะเบียนราษฎรของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจนถึงสิ้นปี จำนวนประชากรญี่ปุ่นหดหายไปมากถึง 800,000 คน เหตุเพราะอัตราการเสียชีวิตเร่งเร็วจนสูงกว่าอัตราการเกิดในระดับที่เป็นสถิติสูงสุดของประเทศ

จำนวนคนญี่ปุ่นที่เสียชีวิตลงในปี 2022 มีสูงถึง 1.56 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคนญี่ปุ่นเกิดใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันมีเพียง 771,000 คนเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่า คนญี่ปุ่นตายมากกว่าเกิดถึงราวๆ 2 เท่าตัวเลยทีเดียว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จำนวนประชากรญี่ปุ่นลดลง แต่เป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้คนชาวญี่ปุ่นลดลงมากขนาดนี้ เรียกได้ว่าคนญี่ปุ่นหดหายไปมากที่สุดในช่วงเวลา 1 ปี จนกลายเป็นสถิติประชากรลดสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎรในปี 1968 มาเลยทีเดียว

ขณะนี้จำนวนประชากรทั้งประเทศของญี่ปุ่นอยู่ที่ 122.4 ล้านคน ลดลงจากจำนวน 128 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรสูงสุดของประเทศเมื่อประมาณ 15 ปีก่อนอย่างมากและชัดเจน

 

ปัญหาประชากรในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เรื่อยมา รัฐบาลทุกชุดก็รับรู้แล้วว่า จำนวนประชากรของประเทศมีแนวโน้มลดลงและมีมาตรการแก้ไขออกมาเป็นระยะๆ

แต่ที่ถือเป็นเรื่อง “เซอร์ไพรส์” สำหรับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ก็คือ “ความเร็ว” ในการลดลงของประชากร

เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานี่เองที่สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติในกรุงโตเกียว อาศัยสถิติและข้อมูลต่างๆ แล้วคาดการณ์ว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ของญี่ปุ่นไม่น่าจะลดลงต่ำกว่า 800,000 คน จนกว่าจะถึงปี 2030

เอาเข้าจริงสถานการณ์กลับเกิดขึ้นก่อนหน้าถึง 7 ปี

 

นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ เองจริงจังกับเรื่องนี้ไม่น้อย เมื่อเดือนมกราคม คิชิดะเคยออกมาเตือนทั้งประเทศว่า ญี่ปุ่นกำลังใกล้เข้าสู่จุด “วิกฤต” ด้านประชากร แล้วประกาศกันงบประมาณก้อนใหญ่ถึงราว 20 ล้านล้านเยน เพื่อรองรับการแก้ปัญหานี้

เม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของญี่ปุ่น และเทียบแล้วสูงกว่างบฯ เพื่อการเดียวกันของรัฐบาลเมื่อปี 2021 ถึงเกือบ 2 เท่า

ปลายเดือนกรกฎาคมคิชิดะสั่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งให้ทำหน้าที่ ปรับแต่งมาตรการที่มีอยู่และคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ ลงทุนถึงขนาดจัดพิธีระดับชาติขึ้นเพื่อเปิดตัวการรณรงค์ทั่วประเทศในการให้การสนับสนุนเด็กๆ และครอบครัวญี่ปุ่น

รัฐบาลตกลงเพิ่มเงินเลี้ยงดูลูก, ออกมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและทารุณกรรมต่อเด็ก, ส่งเสริมให้ “คุณพ่อ” มือใหม่สามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ได้

รวมทั้งการกันเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกิจการสถานรับเลี้ยงดูแลเด็กๆ ก่อนวัยเรียนเพื่อให้พ่อแม่สามารถกลับไปทำงานได้

และสุดท้ายยังให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีต่อบรรดาพ่อแม่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ปัญหาก็คือ หลายคนไม่เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้จริง

มาซาทากะ นากางาวะ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยประชากรฯ ระบุว่ามาตรการเหล่านี้มุ่งเน้นไปในเชิงเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่ยังมีอีกมาก เช่น การแต่งงานในญี่ปุ่นก็ลดลงเรื่อยๆ คู่แต่งงานมักรอจนอายุมากแล้วจึงแต่งและเลือกที่จะไม่มีลูก หรือมีลูกเพียง1คนหรือ 2 คนเท่านั้น

ส่วนชิซาโตะ คิตานากะ รองศาสตราจารย์สังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ระบุเช่นกันว่า มาตรการเหล่านี้แทบไม่ต่างอะไรกับมาตรการที่เคยล้มเหลวมาของรัฐบาลก่อนๆ เพราะไม่มีการปรับปรุงหรือคิดค้นวิธีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพออกมา

เธอระบุว่าคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่น มีความกังวลในหลายๆ ด้านเกี่ยวกับการมีลูก ตั้งแต่เรื่องการเงิน การศึกษา แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ทัศนคติของสังคม

คิตานากะชี้ว่า ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับครอบครัวในญี่ปุ่นค่อนข้างตายตัว ไม่ยืดหยุ่นเหมือนในอีกหลายประเทศ

การมีลูกในญี่ปุ่นหมายถึงต้องแต่งงานอย่างเป็นทางการ มีสามีภรรยาที่ชัดเจน เด็กๆ ที่เกิดมาโดยที่พ่อหรือแม่ไม่ได้แต่งงานนั้นมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในญี่ปุ่น เหตุผลก็คือ สังคมไม่ยอมรับ

ผลก็คือ การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นเรื่องยากลำบากถึงที่สุด ไหนจะต้องทำงานหาเงิน ต้องเลี้ยงลูก ในเวลาเดียวกันก็ถูกจับจ้อง ถูกรังเกียจจากสังคม

 

นอกเหนือจากการเปลี่ยนทัศนะของสังคมแล้ว คิตานากะเชื่อว่า รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณอุดหนุนครอบครัวให้สูงมากขึ้นอีกมาก เพื่อช่วยในการเลี้ยงดูลูกๆ พร้อมกันนั้นก็จำเป็นต้องปรับลด “ต้นทุนในการศึกษา” ลงในระดับที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อลดทอนเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นกังวลจนเลี่ยงหรือไม่อยากมีลูกลงให้ได้มากที่สุด

นอกจากข้อมูลในเชิงประชากรญี่ปุ่นเองแล้ว สถิติที่น่าสนใจอีกประการที่เผยแพร่ออกมาในคราวเดียวกันก็คือ จำนวนชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานี้มีเกือบ 3 ล้านคนในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2021 ถึงกว่า 289,000 คน หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของญี่ปุ่นอีกเช่นเดียวกัน

การรับเอาชาวต่างชาติเข้ามาเป็นพลเมืองของตน เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาประชากรของประเทศ ทั้งยังช่วยให้ตลาดแรงงานมีเสถียรภาพ เพราะมีแรงงานอพยพป้อนเข้าสู่ตลาดอยู่เสมอ

แต่คิตานากะเองเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ยังยากมากที่จะเกิดขึ้นได้ และสังคมญี่ปุ่นเองยังไม่เคยคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะยาวอย่างจริงๆ จังๆ

ที่สำคัญก็คือ มีชาวญี่ปุ่นอีกมาก ที่ “ยังไม่พร้อม” ที่จะรับเอาชาวต่างชาติเข้ามาเป็นพลเมืองร่วมชาตินั่นเอง