รีวิว “รสชาติทุเรียนจีน” | เทศมองไทย

เมื่อราว 4 ปีเศษที่ผ่านมา สถาบันวิชาการเกษตรแห่งไหหนาน (หรือไหหลำ) ริเริ่มโครงการปลูก “ทุเรียน” ขึ้นที่ไร่เชิงเขาแห่งหนึ่งในเมืองซานย่า เมืองที่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของเกาะซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลไหหนาน ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับเขตร้อนมากที่สุด

ตั้งเป้าหมายว่าอย่างน้อยที่สุดผลผลิตจากสวนทุเรียนแห่งนี้เมื่อเข้าสู่ตลาด จะช่วยดึงให้ราคาทุเรียน “นำเข้า” ทั้งหลายลดลงมา และช่วยให้ชาวจีนได้บริโภคทุเรียนกันทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม

คนจีนกินทุเรียนกันมากจริงๆ แต่ละปีจีนนำเข้าทุเรียนเพื่อการบริโภคภายในประเทศไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่นำเข้าจากประเทศไทย รองๆ ลงมาเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทุเรียนไทยขายมากที่สุดในจีนก็จริง แต่ทุเรียนที่นิยมกันมากที่สุดและขายกันในราคาแพงที่สุดเป็นทุเรียน “มูซัง คิง” (คนจีนเรียกว่า เหมาซานหวัง) ของมาเลเซีย ซึ่งส่งไปขายในปริมาณไม่มากมายนัก

 

ข่าวคราวของ “ทุเรียนจีน” กลายเป็นที่ฮือฮากันขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้ เมื่อมีการออกข่าวเป็นระยะๆ มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ผลผลิตทุเรียนจากสวนของจีนที่ซานย่า “ล็อตแรก” กำลังจะออกสู่ตลาด โดยคาดว่าจะถึงมือผู้บริโภคในราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ถึงขนาดที่ว่า มีการตั้งคำถามกันว่า ทุเรียนไทยกับมาเลเซีย ที่ครองตลาดจีนอยู่ในเวลานี้จะเผชิญกับ “ความเสี่ยง” ต่อการสูญเสียตลาดให้กับทุเรียนจีนหรือไม่?

แต่เท่าที่ติดตามข่าวคราวทุเรียนจีนมาตลอดในระยะหลัง ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ชาวสวนทุเรียนในไทยยังไม่ต้องปริวิตกกับทุเรียนจีนกันมากมายนัก อย่างน้อยก็ในช่วง 3 ปีถึง 5 ปีข้างหน้านี้ ด้วยเหตุผลบางประการ

เหตุผลแรกก็คือ สวนทุเรียนอายุกว่า 4 ปีที่ซานย่า ให้ผลผลิตน้อยมาก ทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่โตไม่ใช่เล่น กล่าวคือ มีเนื้อที่กว่า 1,700 เอเคอร์ หรือกว่า 4,000 ไร่ (1 เอเคอร์เท่ากับ 2.5 ไร่โดยประมาณ) แต่ต้นทุเรียนที่นั่นที่ติดดอก ออกผล มีเพียงราว 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

เดิมทีที่คาดกันว่า ปีนี้ผลผลิตจากสวนแห่งนี้น่าจะได้สูงถึง 2,450 ตัน เอาเข้าจริง ผลผลิตที่นำออกสู่ตลาดได้มีเพียงแค่ 50 ตันเท่านั้นเอง

คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.005 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทุเรียนที่คนจีนกินในแต่ละปี

 

นักวิชาการการเกษตรของจีนเอง ยังยอมรับว่า ถ้าจะให้ผลผลิตทุเรียนจีนส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในตลาดจริงๆ ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้นจนถึงระดับ 2-3 หมื่นเอเคอร์เลยทีเดียว

เหตุผลถัดมา เป็นเหตุผลสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือเรื่องรสชาติ

ผมไม่มีปัญญาแสวงหาทุเรียนจีนมาลิ้มรสชาติหรอกครับ แต่ให้บังเอิญมีคนเคยชิมแล้วก็เขียนถึงรสชาติของทุเรียนจีนไว้เป็นเรื่องเป็นราว ใน เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

คนเขียนชื่อ “เชีย ดริสคอลล์” เป็นผู้สื่อข่าวชาวสิงคโปร์ที่ไปปักหลักอยู่ในฮ่องกง คุ้นเคยและชื่นชอบทุเรียนมาแต่ไหนแต่ไร

เขา “รีวิว” ทุเรียนจีนได้อรรถรสดีทีเดียว อยากเชิญชวนให้หามาอ่านกัน

 

ทุเรียนที่เชียได้มาชิมได้มาจากเพื่อนร่วมงานในเสิ่นเจิ้น ที่จัดการสั่งซื้อจนได้ทุเรียนมา 2 ลูก เชียบอกว่า เพราะผลผลิตออกมาน้อย ขณะที่กระแสกำลังขึ้น ทำให้ทุเรียนจีนราคาค่อนข้างแพงทีเดียว เพื่อนแบ่งลูกหนึ่งขนาด 4 กิโลกรัมมาให้เชียและเพื่อนร่วมสำนักงานที่ฮ่องกงได้ชิมกัน

เชียเล่าเอาไว้ว่า ทั้งๆ ที่พยายามจำกัดความคาดหวังของตัวเองไว้ให้มีแต่น้อยอยู่แล้ว แต่ก็อดผิดหวังกับทุเรียนจีนไม่ได้

ข้อสังเกตแรกของเชียก็คือ กลิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียน แต่ทุเรียนจีนลูกนี้มีให้กระสาน้อยมาก จนต้องจ่อจมูกเข้าไปใกล้จริงๆ ถึงจะได้กลิ่นโชยมาบางๆ เบาๆ

ทั้งๆ ที่ทุเรียนถูกแบะอ้าออกไว้กลางห้องอยู่อย่างนั้น

ถัดมาเป็นเรื่องของสี ทุเรียนจีนออกสีเหลืองจางและซีด ห่างไกลมากจากสีเหลืองทองอร่ามชวนน้ำลายไหล

สุดท้ายเป็นเรื่องของรสชาติ เชียเล่าว่าเพื่อนรายหนึ่งที่แวะเวียนมาชิมเพราะอยากรู้อยากเห็น บอกคำเดียวว่า “จืด” ส่วนเจ้าตัวเองได้ลิ้มรสแล้วบอกว่า ทุเรียนจีนรสชาติห่างไกลจากที่ทุเรียนควรเป็นอยู่มาก ตัวเนื้อไม่มีลักษณะเป็นครีม ส่วนรสก็ออกไปทางชืดๆ

“ชวนให้นึกถึงการกินกล้วยดิบเสียมากกว่า” เชียสรุป

เขาอุปมาทุเรียนจีนเอาไว้ว่า “เหมือนแฟกซ์จางๆ” จากทุเรียนต้นฉบับ ยิ่งกินก็ได้แต่ยิ่งทำให้นึกถึงรสชาติจริงๆ ของทุเรียนแท้ๆ มากขึ้นเท่านั้น

เชียบอกว่า เพื่อนใจร้ายบางคนที่ได้ชิมถึงกับบอกว่า “เหมือนไม่ได้กินอะไรเลย”

เขาสรุปว่า นี่คงเป็นทุเรียนจีนเวอร์ชั่น 0.5 ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายเวอร์ชั่นมากเพื่อให้ได้กลิ่น เนื้อ และรสของทุเรียนที่ถูกต้อง

เชีย ดริสคอลล์ สรุปเอาไว้แบบไม่เกรงใจว่า ทุเรียนจีนคงทำให้ทุเรียนไทยกับมาเลเซีย เป็นกังวลกันนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง