2 สิ่งที่ฝากไว้ในบั้นปลายชีวิต ของ…เพชร โอสถานุเคราะห์ นักธุรกิจ-ศิลปิน นอกกรอบ

ข่าวการเสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 69 ปี ของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับการกล่าวขานถึงและแสดงความอาลัยอย่างมากมาย

นั่นเพราะชื่อของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เป็นที่รู้จักและโด่งดังในหลายแวดวงในหลายช่วงเวลา

นอกจาก “เพชร” จะมีสถานภาพอยู่ในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลโอสถานุเคราะห์ และอาณาจักร “โอสถสภา” ที่วันนี้มีอายุ 132 ปีแล้ว เขายังเป็นศิลปินนักร้องที่ได้รับความนิยมในช่วงประมาณปี 2530 และมีผลงานเพลงมากมาย

ทั้งยังเป็นครีเอทีฟ เป็นเจ้าของแม็กกาซีนและรายการทีวี “ผู้หญิงวันนี้” ที่โด่งดัง

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นนักการศึกษาที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาอย่างมากมาย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เขารับช่วงต่อมาจาก “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ผู้เป็นพ่อ

หรือในแง่ของการเป็นนักธุรกิจ นักบริหาร “เพชร” ยังมีตำแหน่งประธานกรรมการบริหารโอสถสภา ที่กลับมาช่วยดูแลกิจการครอบครัว ต่อจากน้องชาย “รัตน์” ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อช่วงปี 2558

หลังจากนั่งบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวนาน 5-6 ปี ก่อนจะยุติบทบาทและวางมือในช่วงปี 2563

 

ย้อนกลับไป ก่อนที่ “เพชร” ในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลจะก้าวขึ้นมารับผิดชอบงานใหญ่ ในยุคที่ “สุรัตน์” ผู้เป็นพ่อ เป็นแม่ทัพใหญ่โอสถสภา เพชรก็ได้เข้าไปเรียนรู้งานในหลายๆ ด้าน และเป็นหนึ่งในขุนพลที่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญของการบริหารงานภายใต้โอสถานุเคราะห์ รุ่นที่ 4 โดยช่วงหนึ่ง เขาเข้ามารับผิดชอบงานด้านสายการตลาด ก่อนที่จะผันตัวไปดูแลบริษัทโฆษณา สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง

ขณะที่ “รัตน์” น้องชาย ที่ได้รับผิดชอบด้านสายการเงิน สมทบด้วย “ธนา” และ “ประธาน ไชยประสิทธิ์” หลานของสุรัตน์ รวมถึงธัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์ บุตรชายของน้องชายสุรัตน์ ที่เขาร่วมงานด้านสายการตลาด

หลังจากที่ “เพชร” เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอได้ระยะหนึ่ง เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า

“ช่วงที่เข้ามาดูแลกิจการของบริษัท ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากโอสถสภาเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่เก่าแก่ที่สุด อยู่มา 125 ปี ประสบความสำเร็จมาช้านาน มีผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จหลายตัว แต่ปัจจุบันการแข่งขันก็สูงขึ้น โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้บริษัทเติบโตและยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจ”

“…และมีนโยบายที่จะมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า ผมเองตั้งเป้าหมายว่า โอสถสภาจะเป็นบริษัทชั้นนำในด้านอุปโภคบริโภคที่ดีที่สุด และทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปได้อีกนับร้อยปีเหมือนที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้”

อย่างที่รับรู้กันดีว่า “เพชร” ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร “โอสถสภา” ครั้งใหญ่ เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการดึง “มืออาชีพ” “วรรณิภา ภักดีบุตร” เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้า และตัวเองที่เป็นซีอีโอ มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานและให้ความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ

ถัดมาไม่นาน “เพชร” ได้ประกาศวางมือ ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ โดยมี “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” ที่มากประสบการณ์ เข้ามารับสานต่อแทน

และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 “เพชร” ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 12,584 ล้านบาท

ขณะที่โอสถสภาชี้แจงว่า การขายหุ้นครั้งนี้ว่า ผู้ถือหุ้นมีความสนใจที่จะอุทิศทรัพยากรไปใช้ในวางรากฐานโครงการด้านศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา ให้มากขึ้น

และนอกจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ “เพชร” รับต่อมาจาก “สุรัตน์” ผู้เป็นพ่อ เขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นกรรมการในอีกมากกว่า 10 บริษัท อาทิ บริษัท ไดมอนด์ ฟาร์ม โฮลดิ้งส์ จำกัด (ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์) บริษัท แคมปัส (อสังหาริมทรัพย์) บริษัท แคมปัส แลนด์ (การค้าอสังหาริมทรัพย์) บริษัท ชิเซโด้ ไทยแลนด์ (ขายส่ง ขายปลีก เครื่องสำอาง) บริษัท โอสถานุเคราะห์ โฮลดิ้ง (บริการทางการเงิน) บริษัท บียู โฮลดิ้งส์ (บริการด้านการศึกษา)

บริษัท ดอยสวัสดี ฮิลล์ (รับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์) บริษัท บียูเอฟซี บริหารจัดการทีมกีฬา บริษัท บียู พร็อพเพอร์ตี้ (ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์) บริษัท โอ กราวน์ (ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์) บริษัท โฮมมี่ โคซี่ (ที่พักอาศัย และที่พักอาศัยสำหรับนักศึกษา) บริษัท ดิบ มิวเซียม (ให้เช่าพื้นที่) เป็นต้น

 

หากพลิกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก “ชีวิตเกินร้อย” ที่พิมพ์เมื่อมีนาคม 2555 หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในวาระพิเศษ ในโอกาสที่บริษัทโอสถสภา มีอายุ 120 ปี (2434-2554)

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ได้เขียนไว้ในคำนิยมถึงโอสถสภา และเพชร โอสถานุเคราะห์ ที่ ดร.สมคิด เรียกว่า “พี่เพชร” โดยเนื้อหาบางส่วนกล่าวไว้ดังนี้

“…ผมถามพี่เพชรว่า อะไรคือสิ่งที่พี่เพชรยึดถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างธุรกิจ

พี่เพชรตอบผมว่า หนึ่งคือ การสร้างและดูแลรักษาคนที่ดีและมีความสามารถ ยิ่งสร้างและรักษาได้มากเท่าใด องค์กรก็ยิ่งมีพลัง มีความสามารถที่จะเจริญเติบโต

สองคือ การปลูกฝังหลักการแนวคิดการทำประโยชน์ให้แก่สังคมไว้ในปรัชญาการดำเนินธุรกิจ การเป็นนักธุรกิจไม่ใช่เป็นเพียงผู้ประกอบการที่แสวงหาแต่กำไร แต่ต้องเป็น Social Entrepreneur ที่คิดและสร้างสิ่งที่ดีงามแก่สังคม แล้วสังคมจะตอบแทนท่าน ทำให้องค์กรของท่านเป็นที่รัก น่าเชื่อถือ และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

พี่เพชรบอกผมว่า สิ่งที่พี่เพชรตั้งใจและจะทำในปั้นปลายชีวิต ก็คือสองสิ่งนี้ คือการพัฒนาคนให้ดีและสามารถปลูกฝังแนวคิด Social Entrepreneur ในจิตวิญญาณของชาวโอสถสภาทุกคน”

 

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นดีเอ็นเอของโอสถานุเคราะห์ ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

จากรุ่นทวด “นายแป๊ะ” ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาสู่รุ่นปู่ “นายห้างสวัสดิ์” ที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจของผู้เป็นพ่อ ก่อนจะถึงทายาทรุ่น 3 ของตระกูล “สุรัตน์” ก่อนจะส่งต่อมายังทายาทรุ่นที่ 4

และ เพชร โอสถานุเคราะห์ ได้ขับเคลื่อน 2 เรื่องดังกล่าวเป็นรากฐานให้กับเครือธุรกิจโอสถสภา ก่อนที่จะจากลา ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวให้เล่าขานกันในฐานะบุคคลผู้เป็นส่วนผสมของทั้งนักคิด (ครีเอทีฟ) นักธุรกิจ และศิลปิน ที่กล้าเปลี่ยน กล้าก้าวออกนอกกรอบมาโดยตลอด