ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
การคาดการณ์เกี่ยวกับบทสรุปการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 กลับกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย แม้เวลาจะผ่านไปเกินกว่า 3 เดือนแล้ว พรรคก้าวไกลที่ได้เสียงอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ผ่านมือมายังพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสอง แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมีประสบการณ์ทางการเมืองมาไม่น้อย แต่กลับไม่สามารถสร้าง “ความนิ่ง” ให้กับการเมืองไทยได้
ทั้งชื่อนายกรัฐมนตรี จำนวนและรายชื่อพรรคร่วมรัฐบาล การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ล้วนยังไม่สามารถมีข้อยุติ ทุกประเด็นล้วนสามารถเปลี่ยนแปลงจนนาทีสุดท้าย
กว่าจะถึงวันที่รัฐสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ จึงอาจมีหลายฉากทัศน์ (Scenario) ทางการเมืองที่สามารถเป็นไปได้
สองปัจจัยที่ต้องนำมาวิเคราะห์
ในเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคการเมืองนำไม่มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จำเป็นต้องรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม การเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลได้ง่ายยากเพียงไรจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ความเข้มแข็งของพรรคแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล และอำนาจในการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล
โดยสามารถแสดงให้เห็นดังในรูปตาราง (ดูตาราง)
4 ฉากทัศน์ของการเจรจาตั้งรัฐบาล
ฉากทัศน์ที่ 1 อาจถือเป็นฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best case scenario) ของพรรคแกนนำ คือ พรรคแกนนำมีความเข้มแข็ง เช่น การได้เสียงในสภาเป็นเสียงค่อนข้างมาก ใกล้เคียงหรือเกินกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ความต้องการเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมจึงเป็นไปเพื่อเสริมความเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไปและมีทางเลือกที่จะเลือกพรรคใดมาร่วมรัฐบาลก็ได้ อำนาจต่อรองจึงอยู่ที่พรรคแกนนำ การแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการเอื้ออารีแบ่งปันสงเคราะห์โดยอีกฝ่ายไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ
ฉากทัศน์ที่ 2 เป็นกรณีที่ทั้งพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลต่างมีความเข้มแข็ง ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่พรรคแกนนำขาดไม่ได้ในทำนองน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ดุลอำนาจของสองฝ่ายมีความทัดเทียมกัน การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นไปในลักษณะการต่อรองสมประโยชน์ โดยมีจุดลงตัวที่ประโยชน์ที่ได้รับเหมาะสมกับสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นกรณีพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองสูง เนื่องจากเป็นทางเลือกที่จำเป็นต้องเลือก ไม่มีพรรคการเมืองอื่นให้เลือกอีกแล้ว มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ หรือพรรคร่วมเป็นพรรคที่มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย (Worse case scenario) ของพรรคแกนนำที่จำต้องโอนอ่อนตามความต้องการของพรรคร่วม เป็นสถานการณ์ที่พรรคแกนนำจำต้องเสียสละ ยอมให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญแก่พรรคร่วมรัฐบาล มิเช่นนั้นการจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ประสบความสำเร็จ
ฉากทัศน์ที่ 4 กรณีที่ทั้งพรรคแกนนำและพรรคร่วมอยู่ในสถานะที่ไม่เข้มแข็งทั้งสองฝ่าย เช่น พรรคแกนนำมีเสียงไม่มาก ส่วนพรรคร่วมก็ประกอบด้วยพรรคจำนวนมาก เสียงกระจัดกระจาย การรวมจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นสถานการณ์ของการประคับประคองสถานการณ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้เกิดความสำเร็จ
การแบ่งสัดส่วนคณะรัฐมนตรี อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับฉากทัศน์ที่ 2 คือ เป็นไปตามสัดส่วนและลงตัวที่ผลประโยชน์สอดคล้องกับสัดส่วนของตน
ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน
หากประเมินถึงฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ (Possibility case) ของการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีเสียง ส.ส. 141 เสียง แม้มีเสียงจำนวนไม่น้อย แต่การตั้งข้อจำกัดเงื่อนไขการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกลซึ่งมี 151 เสียงร่วม ทำให้มีทางเลือกในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาลเหลืออยู่ไม่มากนัก
ยิ่งหากไม่นำเสียงของพรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคใดพรรคหนึ่งมารวม เสียงในส่วนที่เหลือทั้งหมดรวมกับพรรคเพื่อไทยก็ได้เพียง 248 เสียง ไม่ถึงครึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นั่นหมายความถึง ความจำเป็นของพรรคเพื่อไทยที่ต้องถูกบังคับให้จับมือกับพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งพรรคในสามพรรคข้างต้น มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเป็นรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้
นี่ยังไม่ได้รวมกรณี กติกาพิกลพิการในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเกินกว่าครึ่งของที่ประชุมรัฐสภาที่ประกอบด้วยเสียง ส.ส. และ ส.ว.อีก
ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ จึงกลายเป็นฉากทัศน์ที่พรรคเพื่อไทยเองไม่พึงปรารถนา คือ ฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งเป็น Worse Cast ของการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคแกนนำมีอำนาจต่อรองต่ำ จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตามข้อเสนอหรือความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาล เขาอยากได้อะไร แม้ใจไม่อยากให้ ก็ต้องฝืนให้
การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป
อาจไม่จบลงง่าย
สัญญาณที่บ่งบอกถึง “ความไม่นิ่ง” ของสถานการณ์การเลือกนายกรัฐมนตรี คือ แม้พรรคพลังประชารัฐ ประกาศจะยก 40 เสียงเพื่อสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการกล่าวโดยแกนนำพรรคระดับรอง หาใช่มติพรรคซึ่งยังสามารถเปลี่ยนแปลงคำพูดได้
ตัวเลขที่เป็นทางการของพรรคร่วมรัฐบาลจึงหยุดที่ 238 เสียง ไม่ใช่ 278 เสียงตามที่กล่าวอ้าง
หรือแม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนาที่ยก ส.ส.ทั้งพรรคจำนวน 10 เสียงมาร่วมแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังมีข้อเรียกร้องที่ต้องตกลงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้ให้ชัดเจนก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
10 เสียง ยังเสียงดัง แล้ว 25 เสียงประชาธิปัตย์ 36 เสียงรวมไทยสร้างชาติ 40 เสียงพลังประชารัฐที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลย่อมดังกว่าและย่อมเป็นคำขอตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีที่เพื่อไทยอาจต้องอยู่ในภาวะกลืนเลือดของตนเอง
หากตกลงกันได้ โดยต้องมีพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ร่วมและได้ผลประโยชน์ตามที่สองพรรคต้องการ การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ และคือการเริ่มต้นของรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดใหม่ที่แทบไม่แตกต่างไปจากเดิม เพียงแต่มีสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยที่เก่งฉกาจในเรื่องการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพิ่มเข้ามาอีกพรรคหนึ่งเท่านั้น
แต่หากตกลงไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจะได้บทเรียนสำคัญของการปล่อยมือจากพรรคฝั่งเสรีนิยมด้วยกัน ไปร่วมกับพรรคฝั่งอนุรักษนิยมและต้องคิดทบทวนใหม่ถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ
ศัพท์นักเลงเขาว่า อย่าคิดว่าตัวเองเขี้ยว เพราะยังมีพรรคที่เขี้ยวกว่าอีกเยอะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022