รำลึกถึงนิธิ เอียวศรีวงศ์ : ‘บุรุษรัตนของสามัญชน’ แห่งยุคโลกาภิวัตน์ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

การจากไปครั้งสุดท้ายของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนของประชาชนร่วมสมัยผู้โด่งดัง สะท้อนภาวะและความเป็นมาของภูมิปัญญาในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในโลกโซเชียลมีเดียที่เปิดให้ปัจเจกบคุคลสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างตรงๆ ได้เต็มที่

เราได้เห็นน้ำหนักและทิศทางของความรู้สึกนึกคิดของคนชั้นกลางและล่างต่อนิธิอย่างไม่อ้อมค้อมว่า เขาคือนักคิดนักเขียน “ผู้ยิ่งยง” เป็นปัญญาชนผู้ยืนเคียงข้างประชาชนผู้ตกยาก ผู้เป็นเหยื่อของโครงสร้างและระบบสังคมเหลื่อมล้ำ (สองมาตรฐาน) ที่ลิดรอนความยุติธรรมไปจากพวกเขา

เป็นแสงสว่างทางปัญญาที่ไม่เหนื่อยหน่ายต่อการอธิบายแจกแจงและให้ความหวังต่ออนาคตที่จะต้องมาถึงของคนส่วนใหญ่

เป็นเวลานานกว่าที่สังคมสยามไทยจะสามารถให้กำเนิดนักคิดนักเขียนที่มีจุดยืนแน่วแน่และมั่นคงเช่นนี้ได้

หากพลิกมองอย่างเร็วๆ ผมนึกถึงนักหนังสือพิมพ์คนแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 คือเทียนวรรณ

ยุคต่อมาคือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ยืนอยู่แถวหน้าไม่มีใครเกินกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)

ในยุคพัฒนาและการเข้ามาของอิทธิพลอเมริกาสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักเขียนหนุ่มที่ไฟแรงและเป็นวีรชนปฏิวัติคนแรกคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และภาษาวัฒนธรรมตัวยงด้วย เป็นคนแรกที่สามารถเปิดเพดานที่ครอบงำประวัติศาสตร์ชาติไทยออกได้

หลังจากจิตรมาผมคิดว่านิธิ โดยบังเอิญเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้องของจิตรหลายปี และเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย ก้าวขึ้นมาในบทบาทของปัญญาชนของประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

 

ทําให้เกิดคำถามในหมู่นักประวัติศาสตร์อาชีพในประเทศนี้ว่า ทำไมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถึงสามารถสร้างนักประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าและหัวรุนแรง (ราดิคัล) ออกมาได้เล่า

ทั้งๆ ที่สถาบันการศึกษานั้นเป็นฐานที่มั่นหลักของอนุรักษนิยมและคณะเจ้าที่ทรงพลังอันแข็งแกร่งที่สุดในพระราชอาณาจักร

“สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” นิธิเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเข้าใจในพลังของอนุรักษนิยมไทยเมื่อคิดถึงนักการอาวุโสของคณะอักษรศาสตร์ผู้ปฏิบัติตนและปกปักรักษาอย่างเคร่งครัดในกฎมารยาทของผู้ดีอย่างสุดจิตสุดใจ

พลังในงานเขียนทั้งหลายของเขาส่วนหนึ่งจึงมาจากความเข้าใจในแก่นและวิธีการของอนุรักษนิยมไทย

การโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ระบบเก่าและโครงสร้างของมัน จึงถูกฉายผ่านแว่นและการนำเสนอใหม่ที่มุ่งให้ผู้อ่านตระหนักถึงธาตุแท้ของระบบเก่ามากกว่าการประณามหรือปฏิเสธด้านเดียว

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ (หรือที่นักระวัติศาสตร์เรียกว่า “สกุลดำรงราชานุภาพ”) นั้นเกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายให้ฝรั่งยอมรับว่าสยามนั้นมีอดีตและหมายถึงความเป็นศิวิไลซ์เทียบเคียงกับตะวันตก

เอกราชและอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ถูกคุกคามโดยอำนาจทั้งทางทหารและทางวัฒนธรรม อันนำมาซึ่ง “วิกฤตในอัตลักษณ์ของชนชั้นนำ”

จึงเป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์นั้น และถูกนำมาใช้ถึงปัจจุบันในการรักษาระบอบปกครองอำนาจนิยมภายใต้คติความเป็นไทย

 

โจทย์หรือสมมุติฐานใหญ่ของงานเขียนของนิธิ ไม่ว่าในบทความวิชาการ หนังสือและบทความวิจารณ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ จึงหนีไม่พ้นคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามไทยเกิดและคลี่คลายต่อไปอย่างไรเพื่อไปบรรลุจุดหมายอะไร อุปสรรค จุดอ่อนคืออะไร

คำถามนี้ไม่ใช่ปัญหาโดยตรงของวิชาประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วควรเป็นของสังคมศาสตร์มากกว่า

นักคิดยุโรปยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ที่ตระหนักถึงอานุภาพของระบบเศรษฐกิจใหม่ในนามระบบนายทุน ได้วิเคราะห์ให้เห็นลักษณะที่วิถีการผลิตนี้เข้าครอบงำและขูดรีดกระทำต่อคนทั้งสังคม ไม่มีใครหลุดรอดพ้นไปจากกระบวนการผลิตนี้ได้

เครื่องมือและวิธีวิทยาในการศึกษาทำความเข้าใจในลักษณะทางสังคมสมัยใหม่นี้ต้องอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์วัตถุนิยมไม่ใช่จิตนิยมและเป็นวิภาษวิธี

นิธิซึมซับแนวการศึกษานี้แต่ไม่ได้ใช้มันโดยตรงในงานศึกษาของเขา ตรงกันข้ามแนวการศึกษาของนิธิที่ผ่านมาเน้นหนักไปทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อศาสนาประเพณีต่างๆ ไม่ได้หนักไปทางแนววัตถุนิยม

แต่ด้วยผลของการเปลี่ยนแปลงในระบบแลกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยมในระยะหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา นำไปสู่ระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างปัจจัยทางวัตถุกับทางนามธรรมมีอิสระในการเคลื่อนไหวปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าในยุคแรกของการเกิดระบบทุน

อานิสงส์ข้อนี้ทำให้งานวิเคราะห์ของนิธิ แม้เริ่มจากมุมมองและพื้นที่ทางวัฒนธรรม แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นลักษณะทางวัตถุของระบบสังคมและการเมืองได้เป็นอย่างดี

อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย มือถือ อินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นประท้วงได้ โดยไม่ต้องรอผ่านการถูกกดขี่ทางกายภาพหรือทางกำลังเหมือนอย่างคนรุ่นก่อน

ความคิดต่อต้านประท้วงอำนาจรัฐไม่จำเป็นต้องเกิดและมาจากสังคมไทยเอง หากแต่มันมาจากทุกสังคมทั่วโลก

 

นิธิเน้นมิติปัจจัยทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนและชนชั้นในสังคมไทยเพราะในระยะยาวปัจจัยภายในเหล่านี้จะมีอิทธิพลชี้ขาดต่อการเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างมากกว่าทางเศรษฐกิจและการเมือง จาก “สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี” มาถึง “คนเสื้อแดง”

เขาวิเคราะห์ถึงลักษณะพลวัตของวัฒนธรรมในสองชนชั้นอย่างน่าประทับใจ

แน่นอนการแสดงออกทางวัฒนธรรมย่อมเป็นผลไม่มากก็น้อยจากความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการผลิตในแต่ละยุค แต่ในที่สุดเงื่อนไขชี้ขาดที่ทำให้วัฒนธรรมทั้งสองแตกต่างและตรงข้ามกันมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ผู้คนถูกหล่อหลอมภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองที่เพ่งมองคนภายใต้การปกครองอย่างไรและเห็นคุณค่าทางสังคมของพวกนั้นเท่าใด

บ่อยครั้งที่ข้อเขียนและหนังสือของเขาจึงเป็นการ “สนทนา” กับชนชั้นนำจารีต (ศักดินาอำมาตยา) และชนชั้นนำในระบบทุนด้วย เพราะคิดว่าหากชนชั้นนำจารีต (หรือ “เล่าเต๊ง” คำของนิธิ) ยอมรับการมาถึงของความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แล้ว อุปสรรคและปัญหานานัปการต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกก็จะลดหายไปเกือบหมดสิ้น รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม “คนนอกคอก” ทั้งหลายด้วย

แต่ยิ่งมาระยะหลังนี้ ผมได้ยินน้ำเสียงที่หนักและเชื่อมั่นมากขึ้นของนิธิว่า อนาคตของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อีกแล้ว (แต่เขาก็ยังอดเสริมไม่ได้ว่า เขาอาจผิด)

นิธิมองว่าความเปลี่ยนแปลงในอดีตมีลักษณะจำกัดหรือมีขอบเขต ที่ไม่สามารถนำสิ่งใหม่ที่ไม่มีมาก่อนในสังคมไทย แล้วพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิผลในสังคมไทย

เขามองกลับไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายใหม่ได้เกิดขึ้นในปลายอาณาจักรอยุธยาและนำไปสู่การก่อรูปอาณาจักรรัตนโกสินทร์ใหม่ที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกอย่างมหาศาล ที่เปิดโอกาสให้กระฎุมพีคนชั้นกลางขยายบทบาทในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่นำเอามิติเนื้อหาความรู้สึกของประชาชนคนชั้นล่างเข้ามาประกอบ สร้างจิตใจและความรู้สึกแบบมนุษยนิยมขึ้นมาในวัฒนธรรมศักดินาที่แคบและไร้ความรู้สึกตามธรรมชาติ

 

ประสบการณ์ในการนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับแต่การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แสดงถึงข้อจำกัดและการควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามไทย ว่าไม่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาคนชั้นล่างให้สามารถก้าวขึ้นมาเท่าเทียมคนข้างบนได้อย่างเต็มที่ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถึงระดับโครงสร้างในที่สุด

นี่คือลักษณะที่นักวิชาการตะวันตกเรียกว่า “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” หรือปัจจุบันเรียกอีกอย่างว่า “กับดักรายได้ปานกลาง”

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับประชาชนของนิธิจึงต้องเกิด เพื่อยกระดับและเปลี่ยนมุมมองและวิธีวิทยาของมันใหม่ ด้วยตระหนักถึงพลังและอานุภาพของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่ามีความเกี่ยวพันถึงการสร้างระบบการเมือง สังคมและวัฒนธรรมตามความเชื่อของคนในสังคมอย่างมาก

เขากล่าวว่า “ในความจดจำเกี่ยวกับอดีตของทุกสังคม ล้วนมีจุดยืนที่เป็นเหมือน ‘ปม’ คือเป็นจุดซึ่งร้อยรัดเส้นเชือกของความคิดจำนวนมากที่พุ่งมาจากทั่วทุกสารทิศ ให้มารวมกันเพื่อสานต่อเป็นตาข่ายแห่งความทรงจำที่ครอบคลุมเวลาจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคต”

เส้นเชือกที่จะมาสานกันนั้นมีทั้งมาจากข้อมูลที่อยู่ในหลักฐานพิสูจน์ถึงความถูกต้องได้ และมีที่มาจากนิทานเรื่องเล่าที่พิสูจน์ไม่ได้ ที่สำคัญนิธิขมวดต่อไปว่า “ปมดังกล่าวจึงต้องมีธรรมชาติที่ต่อต้านข้อมูลและมุมมองใหม่เสมอ” เพราะการทำลายปมประวัติศาสตร์แต่ละปม ต้องสร้างปมประวัติศาสตร์ใหม่เสมออันรวมถึงเวลาในอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วย

“ฉะนั้น การถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่จึงเป็นความเจ็บปวดในทุกสังคม แม้กระนั้นก็เป็นความจำเป็น เพราะไม่มีสังคมใดสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชั่วนาตาปีได้ด้วยความทรงจำที่ไม่ทำให้ตนเองพร้อมจะเผชิญกับปัจจุบันและเข้าใจปัจจุบันได้จริง” (คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, 2534)

 

71 ปีก่อนโน้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อเขียนถึงคุณูปการและฐานะของเทียนวรรณในวงการวรรณกรรมและนักคิดสยามไทย เขาสดุดีเทียนวรรณว่า “เป็นผู้ประกาศวาทะอันก้าวหน้าล้ำสมัยของเขาและอาจก้าวหน้ายิ่งกว่าคนเป็นอันมาก…เป็นบุรุษรัตนของสามัญชนและคนผู้ถูกกดขี่ทั่วไปอย่างแน่นอน” (สงบ สุริยินทร์, เทียนวรรณ, 2543) คตินี้มาจากจักกวัตติสูตรเรื่องรัตนะ 7 ประการของจักรพรรดิราช

“บุรุษรัตนของสามัญชน” จึงเหมาะสมและคู่ควรกับนิธิ เพราะพิจารณาถึงความใกล้เคียงและคุณูปการทางวิชาชีพของสองสามัญชนนักเขียนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ “ความจริง ความดีและความถูกต้อง” บนเส้นทางอันยาวนานและคดเคี้ยว

ผมขอจบบทความนี้ด้วยวรรคสุดท้ายในจดหมายที่เขียนถึงนิธิทุกครั้งว่า

“ด้วยความรักและระลึกถึง”