เศรษฐกิจ / จับทางบ่งหนอง “ยาง-ปาล์ม” เรื้อรัง ถึงคราววัดฝีมือทีม ศก.ประยุทธ์ 5

เศรษฐกิจ

จับทางบ่งหนอง “ยาง-ปาล์ม” เรื้อรัง

ถึงคราววัดฝีมือทีม ศก.ประยุทธ์ 5

ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงซ้ำๆ ราวกับเป็นวาระประจำปี โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้เป็นคราวของยางพาราและปาล์มน้ำมัน

แม้ขณะนี้ราคายางจะพ้นภาวะต่ำสุด 3 โล 100 บาทแล้ว แต่คนทำสวนยังต้องขายราคาต่ำกว่าต้นทุนหรือใกล้เคียงทุน โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่เกษตรกรขายได้ในสัปดาห์แรกเดือนธันวาคมนี้ อยู่ที่ 41.35 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่ 47.00 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาอิงส่งออก (FOB) อยู่ที่ 52.75 บาทต่อกิโลกรัม

หากเทียบต้นทุนยางพารา นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อ้างอิงข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่า ต้นทุนยางพาราแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่ 51.28 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่รวมต้นทุนของที่ดิน แต่หากรวมต้นทุนที่ดินอยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อยังอยู่ในภาวะขายขาดทุน จึงยังเป็นปัญหาปากท้องของคนทำสวน ทำให้ชาวสวนยาง โดยตัวแทนของสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) รวม 20-30 คน ยื่น 3 ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปยางพาราไทยทั้งระบบแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่าน นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” เรียบร้อยแล้ว

ส่วนข้อเสนอของชาวสวนยางใดจะผ่าน!! คงต้องลุ้นหลัง กยท. พิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. เพื่อดูความเป็นไปได้ของข้อเสนอ ซึ่งกำหนดประชุมวันที่ 20 ธันวาคมนี้

และน่าจะได้คำตอบก่อนที่แกนนำของสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และ สคยท. ขีดเส้นไว้ว่า หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามที่เรียกร้อง 2-3 ข้อหลัก ภายใน 30 วัน จะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้งที่กระทรวงเกษตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลต่อไป

สําหรับข้อเสนอ มีทั้งต้องการให้แก้ไข พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49(5) เพื่อให้ชาวสวนยางที่สมัครใจสามารถจ่ายเงินสมทบเข้าเงินค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกยางพารา (เงินเซส) เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการแก่ชาวสวนยางได้ เวลาเกิดวิกฤตราคายางพาราให้จ่ายเงินชดเชยแก่คนกรีดยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมต้องรอเกษตรกรเสียชีวิตก่อนถึงจ่ายเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อครัวเรือน

และต้องการให้ชาวสวนยางชายขอบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการยางพารา เช่น มีส่วนร่วมในคณะกรรมการระดับชาติ อย่าง กยท. และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงจากภาครัฐ โดยชาวสวนยางชายขอบ มีมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน หมายรวมถึงชาวสวนยางทั้งที่มีโฉนดและไม่มี และชาวสวนยางรายย่อย ที่มีไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน

อีกข้อเสนอ ได้แก่ ต้องการปฏิรูปเกษตรชาวสวนยาง สามารถพึ่งพาตัวเองได้พอเพียง และลดการช่วยเหลือจากภาครัฐ, ปฏิรูปสวนยาง ด้วยการเพิ่มพืชอื่นๆ เข้าในพื้นที่ปลูกยาง เพื่อลดการพึ่งพาจากยางพาราเพียงอย่างเดียว, ปฏิรูปการผลิต และการแปรรูปยาง ให้รายย่อยสามารถรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อให้สามารถรวบรวบแปรรูปยางสร้างมูลค่าเพิ่มและทำการตลาดได้

และปฏิรูปการตลาด ด้วยการให้รัฐเขามาสนับสนุนชาวสวนยางในการลดพื้นที่ปลูกยางพาราลง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ดึงดูด และส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น

วงในประเมินเบื้องต้นไว้ว่า “รัฐบาลอาจจะรับฟัง แต่ยังไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางเร่งด่วนของรัฐที่เน้นดูดซับผลผลิตออกจากตลาด ยังไม่ได้เน้นจ่ายเงินชดเชยหรือแสดงท่าทีแก้ไขกฎหมาย แต่มุ่งระยะยาว เรื่องส่งเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ชาวสวน และสร้างมูลค่าเพิ่มดูจะเป็นไปได้มากที่สุด”

สอดคล้องกับหลังประชุมหารือ ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการ กยท. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งหลายฝ่ายประเมินไว้แล้วว่า ผลหารือครั้งนี้คือ เร่งการทำงานด่วน ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด โดยระยะสั้นประคองราคายางให้เหมาะสมและสมเหตุสมผล การซื้อขายยางด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่ควรจะเกิดขึ้น และระยะยาวมุ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทำให้หลังประชุม กระทรวงเกษตรฯ ออกมารับลูก 3 แนวทางในการแก้ปัญหาราคายาง ซึ่งบางส่วนเป็นแนวทางเดิมๆ

ตั้งแต่การขอให้ส่วนราชการเพิ่มการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ใช้สร้างถนนจาก 3 หมื่นตัน เป็น 5-8 หมื่นตัน

ขอความร่วมมือเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้เข้ามาช่วยรับซื้อยาง

หาก 2 แนวทางไม่พอดูดซับสต๊อกยางได้แสนตัน ก็จะใช้แนวทาง 3 ให้ กยท. เข้าซื้อยางในตลาด ในราคาสูงกว่าต้นทุน ซึ่งต้องเกิดขึ้นใน 3-4 เดือนจากนี้

อีกปัญหาที่เป็นคู่ขนานกันคือ ปัญหาปาล์มน้ำมัน นายสมคิด ก็ใช้วิธีการเดียวกันคือต้องดูดซับส่วนเกินออกจากตลาด เพื่อให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ที่ล้นถึง 5 แสนกว่าตัน เหลือ 3 แสนตัน ก็โยนหน้าที่นี้ให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันส่งออก 1 แสนตัน ให้กระทรวงพลังงาน 1 แสนตันนำไปผลิตไบโอดีเซล สูตรบี 7 รวมถึงให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และบริษัท ปตท. ดูแลอีกส่วน

เรื่องปาล์มคงต้องลุ้นต่อปีหน้า ว่าแนวทางส่งออกน้ำมันปาล์มผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จะได้แค่ไหน แม้เป้าต้องเห็นตัวเลขออเดอร์ในเดือนธันวาคม 6 หมื่นตัน และมกราคมปีหน้าอีก 7 หมื่นตัน เพื่อพยุงราคาปาล์มสด 3.80 บาทต่อกิโลกรัม จากที่ราคาตลาดเคลื่อนไหวแค่ 2.98-3.06 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนการฉายหนังเก่าซ้ำๆ กันทุกปี เมื่อปัญหาทวีความรุนแรงก็จะมีมาตรการเร่งด่วนออกมารับหน้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำพอประทังให้ปัญหาเบาบาง คล้ายยาลดไข้ แต่ไม่รักษาให้หายขาด

ต้องยอมรับว่าการแก้ปมปัญหาที่ซับซ้อนถึง “ระบบโครงสร้าง” นี้ ลำพังเพียงกำลังของรัฐบาลฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมถึงเกษตรกร และขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ เช่น ราคาของตลาดโลก ผลผลิต (ซัพพลาย) และความต้องการตลาด (ดีมานด์) อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ราคาและปริมาณผลผลิตที่แม่นยำ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อดูแลปากท้องของเกษตรกรให้ยั่งยืน

ที่ผ่านมา ทั้งปาล์มน้ำมันและยางพารา ล้วนมี “แผนยุทธศาสตร์” กำกับฉบับแล้วฉบับเล่า แต่ก็เหมือนยาลดไข้ ไม่หายขาด แถมเป็นแผลหนองเรื้อรัง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล “ประยุทธ์ 5” ในกรอบเวลา 1 ปีตามโรดแม็ปเลือกตั้งในปีหน้า!!