การต่อต้านข่าวลือ ‘ล้มเจ้า’ : กองโฆษณาการกับการปราบกบฏบวรเดช | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ในสายตาของโหรฝ่ายกบฏบวรเดชนั้น การปฏิวัติ 2475 คือ “ขุนนางแย่งชิงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระมหากษัตริย์ซึ่งพระองค์ทรงจัดเอาไว้แล้วตามลำดับ”

(แฉล้ม เลี่ยมเพชรรัตน์, 2489, 66)

 

ครั้งกบฏบวรเดช
รัฐบาลใช้วิทยุกระจายเสียงต่อต้านข่าวลือ

เมื่อครั้งปราบกบฏบวรเดชนั้น รัฐบาลมอบหมายให้ ปรีดี พนมยงค์ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.วรรณไวทยากร ทำหน้าที่ตอบโต้ข่าวลือจากใบปลิวต่างๆ ของฝ่ายกบฏ ด้วยการโปรยใบปลิวแถลงการณ์ฝ่ายรัฐบาล และแถลงข่าวผ่านวิทยุกระจายเสียงออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง (หจช.สร.0201.1.1/2)

ดังที่นายทหารฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งเล่าถึงประสิทธิภาพของการทำสงครามข่าวสารของรัฐบาลว่า รัฐบาลพิมพ์แถลงการณ์แจกประชาชน ต่อมาใช้วิทยุกระจายเสียงในลักษณะบำรุงขวัญประชาชน ถือเป็นการให้ข่าวสารทำให้ประชาชนเข้าใจ ครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้วิทยุในการทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (ประภาส จารุเสถียร, 2534, 150)

วิทยุของกองโฆษณาการในฐานะสื่อการต่อต้านข่าวลือครั้งปราบกบฏบวรเดช 2476

ข้อกล่าวหาว่า คณะราษฎร “ล้มเจ้า”
จากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

เนื้อหาสาระหลักที่ฝ่ายกบฏปล่อยข่าวโจมตีรัฐบาลมีลักษณะการบังคับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเป็นคอมมิวนิสต์ การปกครองแบบไม่มีกษัตริย์ ดังปรากฏหลักฐานที่หลงเหลือดังนี้

“รัฐบาลเห็นแก่ตัวเองและพรรคพวกดำเนินการทางเศรษฐกิจไปในทางคอมมิวนิสต์ บีบคับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิให้มีความสำราญพระราชหฤทัยตลอดเวลา ทั้งนี้ เพราะเขา [คณะราษฎร] มุ่งหมายจะตั้งตนเองเปนใหญ่ดำเนิรการปกครองแบบไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองเพื่อความสำเร็จในทางคอมมิวนิสต์” (หจช. สร 0201.1.1/1)

นอกจากนั้น ฝ่ายกบฏยังใช้เครื่องบินแจกใบปลิวโจมตีรัฐบาลว่า รัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์ มีเจตนาทำร้ายเจ้านาย และต้องการดำเนินการปกครองแบบรีปับลิก

ต่อมา รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาจากฝ่ายกบฏนั้น (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามได้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหาร, พลเรือนและราษฎรทั่วไป รวมเล่ม 1 ถึง 6, 2476, 3)

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของประกาศฝ่ายกบฏ ที่รวบรวมได้คือ “เราต้องการให้รัฐบาลใหม่ยอมแพ้ เพื่อคืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์เท่านั้น” (หลวงโหมรอนราญ, 2520, 53) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีได้บันทึกว่า “…ด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์…” (พระยาสุรพันธเสนี, 2515, 18-19)

ชาวอุดรธานีชุมนุมกันที่สถานีรถไฟอุดรฯ เมื่อ 2484

แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชร์รัตน์ (2444-2517) เป็นโหรคนสำคัญของฝ่ายกบฏบวรเดช ภูมิหลังของเขานั้นคือชาวนครราชสีมา สืบเชื้อสายจากขุนเทพพยากรณ์ ปลัดกรมโหร ในสมัย ร.4-5 มีอาชีพเป็นทนายความ เขาถูกจับครั้งกบฏบวรเดชและถูกศาลพิเศษ 2476 ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ต่อมา เขาหนีออกจากเกาะตรุเตาพร้อมพวก 5 คนจ้างเรือหนีไปยังเกาะลังกาวี ยึดอาชีพโหรในสิงคโปร์ จวบจนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดจึงกลับมาไทย และมีบทบาทในแวดวงโหรไทย

ในสายตาของแฉล้มนั้น การปฏิวัติ 2475 คือ “ขุนนางแย่งชิงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระมหากษัตริย์ซึ่งพระองค์ทรงจัดเอาไว้แล้วตามลำดับ” (แฉล้ม, 2489, 66) เขาเคลื่อนไหวปลุกระดมในช่วงก่อกบฏด้วยการป่าวประกาศให้ประชาชนฟังว่า “รัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์ และคิดล้มล้างราชบัลลังก์” (ภูธร ภูมะธน, 2521, 137)

แฉล้มสนับสนุนการกบฏด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ เช่น เค้าโครงการปกครองเมือง ตำราโคลงลาว ตำราผัวเมีย ตำราดาวนิพพาน ส่วนหนังสือบำรุงการศึกษานั้นพิมพ์จำนวน 100,000 เล่ม

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่พบหลักฐานว่า หนังสือที่เขาจัดพิมพ์ขึ้นแจกจ่ายหัวเมืองทั้งหมดนั้น มีเนื้อหาภายในเช่นไร แต่เป็นไปได้ที่หนังสือน่าจะมีเนื้อหาสอดแทรก คำพยากรณ์ที่ปลุกระดมประชาชนตามหัวเมือง หนังสือจึงถูกแจกในระหว่างฝ่ายกบฏเคลื่อนทัพ

แฉล้มบันทึกว่า ในระหว่างที่พวกเขาดำเนินการแจกจ่ายเอกสารที่อีสานอยู่นั้น ปรากฏว่า ฝ่ายกบฏที่ยกทัพไปกรุงเทพฯ พ่ายแพ้เสียแล้ว จึงต้องทำลายหนังสือที่เหลือ จำนวน 16,000 เล่มทิ้งเสีย (แฉล้ม, 2511, 121-122)

สำหรับการปล่อยข่าวลือต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของพรรคคณะชาติอันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอนุรักษนิยมนั้น รัฐบาลพบใบปลิวฝ่ายกบฏในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2476 ที่แจกจ่ายเพื่อสร้างความสับสนและทำลายขวัญกำลังใจต่อประชาชน รัฐบาลจึงได้มีแถลงการณ์ตอบโต้ว่า

“ด้วยปรากฏว่ามีคำแถลงการณ์ฉบับหนึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาแจกจ่ายไปเปนใจ ความบอกนามผู้ถูกควบคุม รัฐบาลขอแจ้งว่า รัฐบาลไม่เคยแถลงการณ์ต่อมหาชนโดยพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาเลย นอกจากพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุง ไทยใหม่ ประชาชาติ และพิมพ์ด้วยเครื่องโรเนียวเท่านั้น…”

“ฉะนั้น คำแถลงการณ์ของรัฐบาลตั้งแต่ฉะบับที่ 11 เปนต้นไป จะได้พิมพ์ออกทางโรงพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ ไม่ใช่ตัวพิมพ์ดีด…ในท้ายของแถลงการณ์จะมีตราหรือเครื่องหมายของโรงพิมพ์…ต่อนี้ไปการแจกใบปลิวของรัฐบาลนั้น ผู้แจกจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารควบคุมไปด้วย ผู้ใดแจกใบปลิวโดยไม่มีทหารหรือตำรวจควบคุม ผู้นั้นจะต้องถูกจับกุมทันที ” (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ, 2476, 7)

อุดม บุญประกอบ อัยการขอนแก่นฝ่ายรัฐบาล และแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ โหรฝ่ายกบฏ
เครดิตภาพ : นริส จรัสจรรยาวงศ์

เบื้องหลังการปล่อยข่าวลือนั้นพบว่า มีการตกลงแผนการระหว่าง พระยาศรีสิทธิสงคราม กับ พระยาศราภัยพิพัฒ หลุย คีรีวัตร และสอ เสถบุตร สมาชิกคณะชาติ พวกเขาได้ร่วมกันผลิตใบปลิว โดยสอทำหน้าที่แปลข้อเรียกร้องกบฏเป็นอังกฤษ และพระยาศราภัยฯ ลงมือหมุนเครื่องโรเนียวในเรือแมคอินทอช ซึ่งเป็นเรือชักลากซุงของบริษัทศรีราชาซึ่งมีพระคลังข้างที่ถือหุ้นใหญ่ที่จอดลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา (ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, 2508, 365)

ดังที่พระยาศราภัยฯ บันทึกเองในภายหลังว่า “ความจริงเราได้รับกลิ่นอายของการแข็งอำนาจพวกทหารหัวเมืองอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเขาลงมือกันวันไหน จึงได้ทำใบปลิวกันที่บริษัทวิงเซงหลง ซึ่งเป็นโรงเลื่อยที่บริษัทศรีราชาเช่าไว้เก็บไม้ ใบปลิวที่ข้าพเจ้าพิมพ์ด้วยโรเนียวนั้นมีถ้อยคำที่รุนแรงมาก โจมตีรัฐบาลคณะราษฎร ในเรื่องไม่รักษาวาจาสัตย์ตามหลัก 6 ประการ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง วิธีการสมาชิกประเภทที่สองได้ถูกแปลงสารว่า พระมหากษัตริย์เปนผู้ทรงตั้ง ไม่ใช่ผู้เลือก ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงมีหน้าที่แต่ลงพระปรมาภิธัยตามที่คณะราษฎรเลือกมาเท่านั้น” (พระยาศราภัยฯ, 2491, 49-50)

นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏใช้เครื่องบินเบรเก้โปรยใบปลิวตามหัวเมืองต่างๆ มีข้อความว่า เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ ฝ่ายกบฏได้เปรียบเหนือรัฐบาล รวมทั้งการป่าวประกาศตามที่ชุมชน สถานีรถไฟ ตลาด ต่อมารัฐบาลรับรายงานว่า มีการปลุกระดมของกองพันทหารช่างอยุธยาซึ่งประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏพร้อมแสวงหาการสนับสนุนจากชาวอยุธยาให้ช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ได้อำนาจเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหากประชาชนและทหารอยุธยาไม่ช่วยเหลือ รัฐบาลจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ อีกด้วย (รวบรวมคำแถลงการณ์และประกาศต่างๆ, 17)

นอกจากนี้ บุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิรายงานว่า ข้าราชการที่ชัยภูมิสนับสนุนฝ่ายกบฏ ช่วยกันผลิตและเผยแพร่ใบปลิวโจมตีรัฐบาลอีกด้วย (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

ชาวอุดรธานีมาชุมนุมกันที่สถานีรถไฟอุดรฯ 2484

บทบาทของกองโฆษณาการต่อต้านข่าวลือมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของฝ่ายกบฏอย่างมาก ดังทหารฝ่ายกบฏคนหนึ่งบันทึกว่า รัฐบาล “ใช้วิทยุกระจายเสียงตะล่อมกล่อมขวัญให้พากันแน่ใจว่ารัฐบาลอยู่ในฐานะที่มั่นคง ฝ่ายทหารหัวเมืองที่เป็นกบฏสิกำลังง่อนแง่น ทั้งปลอบให้ทหารผู้น้อยที่เป็นกบฏกลับใจ รัฐบาลจะไม่ทำโทษ แล้วขู่ว่า ถ้าดื้อดึงจะพลอยรับโทษหนัก พวกทหารผู้น้อยที่ฟังวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลเริ่มลังเล” (ร.ท.จงกล, 323)

กล่าวโดยสรุป ข่าวลือคณะราษฎร “ล้มเจ้า” จากฝ่ายกบฏบวรเดชนั้น เน้นการโจมตีระบอบใหม่ว่าเป็นการปกครองแบบกดขี่ หรือเป็นการปกครองแบบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์อีกต่อไป เป็นการล้มล้างการปกครองที่มีมาอย่างยาวนานลง เป็นการสร้างความเข้าใจผิดในหมู่มหาชนอันเป็นภารกิจที่หน่วยงานโฆษณาการของรัฐบาลจำต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมอย่างทันการณ์

ชีวิตชาวศรีสะเกษ ช่วง 2478 (เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton)