จีนไม่โตเหมือนเดิม : มองมุมอาจารย์เซินลี่ผิง (จบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

McKinsey & Company 1 ใน 3 บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำแถวหน้าของโลกซึ่งมีพนักงานราว 3 หมื่นคนใน 130 เมืองทั่วโลก ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานวิจัยผู้บริโภคจีนสำหรับปีนี้ออกมาเมื่อปลายปีก่อน เสนอข้อค้นพบที่บ่งชี้การชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงของตลาดผู้บริโภคจีนว่า :

หลังผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักพาเคลิ้มมาหลายปี แรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคเมื่อเร็วๆ นี้ได้กร่อนเซาะอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคจีนลงไป การเทขายหุ้นธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เสื่อมถอย และการจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางซึ่งออกแบบมาเพื่อชะลอการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ทีทรรศน์ของผู้บริโภคหม่นมัวไป

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีน 2010-ตุลาคม 2022 & ยอดสุทธิเงินฝากออมทรัพย์จีนที่เพิ่มขึ้นปีต่อปี 2015-กันยายน 2022 2023 McKinsey China Consumer Report : A Time of Resilience, December 2022

ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนอันเป็นตัวเลขที่ผู้คนเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดและคำนวณโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้ตกลงไปต่ำกว่า 90 ในเดือนเมษายนปีนี้ซึ่งนับว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ (ดูกราฟซ้ายด้านบน)

ในทางประวัติศาสตร์ ผู้บริโภคจีนเป็นผู้ออมทรัพย์ในอัตราสูงอยู่แล้ว ปรากฏว่าในปี 2022 พวกเขาทุ่มเทเกทับเจตจำนงที่จะเก็บเงินของตัวไว้ในธนาคารยิ่งกว่าจะใช้จ่ายมัน ตามการสำรวจผู้บริโภคจีนทั่วประเทศล่าสุดของบริษัทแม็กคินซีย์ ครัวเรือนจีนในเขตเมือง 58% บ่งชี้ว่าพวกเขาปรารถนาจะ “เก็บเงินไว้ใช้ในยาม ยาก” อันนับเป็นระดับสูงสุดนับแต่ปี 2014 มาและสูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนของเแม็กคินซีย์ในปี 2019 ถึง 9%

ความโน้มเอียงของผู้บริโภคจีนที่จะออมเงินของตนแทนที่จะใช้มันเห็นได้ประจักษ์ชัดในการเติบโตอย่างรวดเร็วของเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งโป่งพองขึ้นไปถึง 14 ล้านล้านเหรินหมินปี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 (ดูกราฟขวาด้านบน)

และแม้ว่าสถานการณ์การบริโภคของจีนจะกระเตื้องกลับมาบ้างในไตรมาสแรกของปีนี้  ทั้งในแง่ตัวเลขยอดค้าปลีก การท่องเที่ยวและราคากับปริมาณธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์

แต่กระนั้นแม็กคินซีย์ก็เตือนว่าควรมองโลกแง่ดีอย่างระมัดระวัง เป็นการรอบคอบกว่าที่ผู้บริหารธุรกิจทั้งหลายจะระลึกนึกถึงบทเรียนอันยากเข็ญที่เพิ่งเรียนรู้มาสดๆ ร้อนๆ เมื่อปีก่อน คงความคล่องตัวไว้และวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ไว้บนพื้นฐานฉากทัศน์นานาที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต

ข้อมูล บทวิเคราะห์และคำเตือนข้างต้นสอดรับกับทรรศนะของศาสตราจารย์เซินลี่ผิงที่กล่าวเตือนที่ประชุมผู้ประกอบการจีนไว้ ณ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเมษายนศกนี้ในหัวข้อเรื่อง :-

ความต้องการที่ต่ำของผู้บริโภค

“สาเหตุประการที่สามที่ทำให้เศรษฐกิจจีนหดตัวคือผลลัพธ์แผลเป็นอันเกิดจากโควิดระบาด

‘ผลลัพธ์แผลเป็น’ เป็นแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันนำเสนอ (ดูตัวอย่างที่ The scarring effects of major economic downturns : The role of fiscal policy and government investment, European Investment Bank, Working Papers 2022/14, November 2022) มันหมายความว่าโรคระบาดทั่วจะก่อให้เกิดผลยืนนาน มันจะคงอยู่และส่งผลกระทบต่อความคิดจิตใจผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอย ทรัพยากรมนุษย์เอย ตลาดจ้างงานเอย และบรรษัททั้งหลายแหล่เอย อยู่ยาวนานทีเดียว เหมือนแผลเป็นยังไงยังงั้นนั่นแหละ

ผมสังเกตเห็นว่าพวกพลเมืองเน็ตพากันแชร์ความคิดอ่านของพวกเขาเกี่ยวกับชีวิตว่ามันเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคของพวกเขาไปอย่างไรนับแต่เกิดโควิดระบาด ทำให้พวกเขาหันมาคิดทบทวนความหมายของชีวิตกันใหม่

เช่น คนหนึ่งเริ่มฉุกคิดว่ามันคุ้มไหมที่จะทำงานหน้าดำคร่ำเครียดจากสิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่มโดยไม่มีเวลาแม้แต่พักกินข้าวเที่ยงหรือข้าวเย็น เพียงเพื่อรายได้ไม่กี่หมื่นหยวน?

อีกคนพูดว่าจะหันมาใส่ใจชีวิตตัวเองให้มากขึ้น

บ้างก็พูดว่าพวกเขาจะไม่ซื้อของเว้นแต่จำเป็นจริงๆ จะไม่ซื้อของแพงถ้าหากมีที่ถูกกว่า และไม่ซื้อของใหม่ถ้าหากอันที่มีอยู่ยังใช้ได้ บางคนก่อนนี้จะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นรุ่นใหม่ทุกปี แต่เดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนปีเว้นปีแทน

ความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงระหว่างช่วง 30 ปีที่สูญหายไปในญี่ปุ่นหลังฟองสบู่แตกก็คือความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาของผู้คน เพื่อลดภาระหนี้ พวกเขาเต็มใจจะบริโภคให้น้อยลง กล่าวได้ว่าทั่วทั้งสังคมได้ย่างเข้าสู่สภาพความต้องการต่ำ

ฉะนั้น ผมคิดว่าจีนเราก็กำลังจะเผชิญหน้ากับช่วงเศรษฐกิจหดตัวที่ไม่ใช่ระยะสั้นเหมือนกัน”

และในสภาพที่คู่ค้าหลักของไทยไม่โตเหมือนเดิมแล้วเช่นนี้ เราก็ต้องเตรียมรับมือให้ดีเช่นกัน (“ไทยเตรียมรับมือ จีนไม่โตเหมือนเดิม” (22 มิถุนายน 2023,)