ฉันเยาว์ ฉันเขลา ทองปน บางระจัน ทึ่ง นิสิต นักศึกษา

บทความพิเศษ

 

ฉันเยาว์ ฉันเขลา

ทองปน บางระจัน ทึ่ง

นิสิต นักศึกษา

 

เมื่อเริ่มต้นเรียนวันแรก ทองปน บางระจัน ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรทั้งสิ้น

อาจจะเป็นเพราะว่าชาชินกับการเรียนเสียแล้ว

ก็มีบ้างในบางวิชาที่รู้สึกแปลกและใหม่ แต่ครั้นฟังไปเรียนไปจึงรู้ว่าล้วนเป็นเรื่องเก่าเก่าทั้งสิ้น

ก็เลยเลิกแปลก

แรกเข้ามหาวิทยาลัยยังมีความรู้สึกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยจะได้รับรสชาติที่เข้มข้น

น่าดูน่าชมทีเดียว

ครั้นเริ่มเรียนอย่างจริงจังก็ชักไม่แน่ใจว่าที่ตนกำลังเรียนอยู่นั้น เป็นการเรียนในมหาวิทยาลัย

หรือว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นสูง

 

จาก ประชุมสัมมนา

จาก มหาวิทยาลัย

ความรู้สึกของ ทองปน บางระจัน เป็นความรู้สึกอย่างเดียวกันกับที่มีการถกแถลงในที่ประชุมสัมมนานับแต่ปี 2509 เป็นต้นมา

กึกก้องผ่าน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ดังผ่าน “เจ็ดสถาบัน”

เซ็งแซ่อยู่ในบรรยากาศการสัมมนา ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) แม้กระทั่งในการสัมมนา ณ ยุวพุทธิกสมาคม วัดกันมาตุยาราม

จากปาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากปาก กมล สมวิเชียร

จากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

ปรากฏผ่านบทกวี สุจิตต์ วงษ์เทศ ผ่านบทกวี วิทยากร เชียงกูล

ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ”

 

อ่าน ปฏิกิริยา

ทองปน บางระจัน

ทองปน บางระจัน ปลดกระดุมเสื้อออก 2 เม็ด ปลดเข็มขัดออกจากกัน แล้วถอดเอาหัวเข็มขัดใส่ลงไปในกระเป๋าข้างขวา

พลางค่อยค่อยดึงชายเสื้อ

ออกมาจากการที่เอากางเกงทับไว้ เหลือเข้าในกางเกงไว้แต่เพียงส่วนหน้า

เสร็จการเตรียมการ ทองปน บางระจัน ก็ก้มตัวลงฟุบอย่างง่วงเหงาหาวนอน แต่ไม่ได้นอนหลับฟุบ

เพียงแต่เอามือยันคางไว้เท่านั้น

นัยน์ตาก็คอยสังเกตการกระทำของรุ่นพี่อย่างพินิจพิเคราะห์ ดูออกจะวุ่นวาย เพราะหลายคนทั้งหญิงทั้งชายเดินไปมากันขวักไขว่

เสียงเจรจาพาทีขู่ตะคอกเอากับน้องใหม่จนฟังไม่ได้ศัพท์

 

วาสนา สูงส่ง

เสพเสน่ห์ สโมสร

ในความรู้สึก ทองปน บางระจัน การแสดงความเป็นห่วงนั้นเพียงไต่ถามในส่วนรวมก็เห็นจะเพียงพอแก่ความต้องการ

ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรที่ต้องมาเสียเวลาตรวจตรา

และว่าที่จริงนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นในบางสิ่งบางอย่างก็ควรที่จะเลิกระเบียบการหยุมหยิมกันเสียบ้าง

ลงได้ตรวจกันถึงขนาดนี้ อีกหน่อยมิต้องตรวจเล็บมือเล็บตีนกันทีเดียวหรือ

รุ่นพี่โกรธมากที่เห็น ทองปน บางระจัน แต่งกายไม่เรียบร้อย จึงยกชายเสื้อเพื่อดูเข็มขัด

เมื่อไม่เห็นหัวเข็มขัด จึงโวยวาย ขอให้หัวหน้านักศึกษาลงโทษ

หัวหน้าคณะถามว่า “ทำไมแต่งตัวไม่ถูกระเบียบ” ทองปน บางระจัน ตอบว่า “ระเบียบต่างหากที่วางไว้ไม่ถูก”

เสียงถามว่า “ไม่ถูกยังไง” คำตอบ ทองปน บางระจัน คือ

 

เปล่ง คำประกาศ

กูเป็น นิสิตนักศึกษา

มีอย่างที่ไหน ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแล้วยังต้องมากำหนดสีเสื้อ สีกางเกง ขนาดของกางเกง ความกว้างของกางเกง

สารพัด จิปาถะ

มิหนำซ้ำ ยังกำหนดถุงน่องรองเท้า ระเบียบเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ยังคงเอามาใช้

กาลเวลามันเปลี่ยนไป แฟชั่นใหม่ใหม่เข้ามาแทน ความนิยมของสังคมบ้าง ความนิยมส่วนตัวบ้าง ทัศนคติการแต่งกายบ้าง

มันคงเส้นคงวาที่ไหนเล่า

แล้วก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมากำหนดกัน แต่งตัวตามระเบียบเชยเชยนั้นเรียนเก่งหรือเปล่า

หรือว่ามหาวิทยาลัยออกค่าเครื่องแต่งกายให้

และถ้าจะว่ากันไป ถามหน่อยเถอะ รุ่นพี่แต่งตัวถูกระเบียบอย่างไร และผมแต่งตัวผิดระเบียบอย่างไร

(เงียบกันหมดเลยว่ะ กูว่าแล้ว)

 

ห่วงหา อาทร

น้ำใจ “รุ่นพี่”

ในความรู้สึกลึกๆ ของ ทองปน บางระจัน ประหลาดใจตัวเองเหมือนกันว่าเหตุไฉนจึงได้กระทำกิจการอันเป็นทำนองหักหาญน้ำใจรุ่นพี่เขาถึงขนาดนั้น

คิดไปบางครั้งก็โมโหตัวเอง

แต่หลายครั้งก็สมน้ำหน้า ความปรารถนาดีของรุ่นพี่นั้นกูเข้าใจ เขาเป็นห่วงเป็นใยก็มี เขาตื่นเต้นดีใจอย่างบริสุทธิ์ใจก็มี

ที่เขายินดีในการสอบเข้าเรียนได้ก็มี

ที่เขามารอรับเราด้วยจิตใจจริงจริงก็มี แต่ไอ้ที่กระดิกกระดี้รี้ กระเหี้ยนกระหือรือนีซี เห็นแล้วก็สุดแสนที่จะทนทาน

ก็อย่างว่านั่นแล ไม่เช่นนั้นจะมีคติอยู่หรือว่า “ปลาร้าพันห่อด้วยใบคา ใบก็เหม็นคาวปลาคละคลุ้ง”

แล้วจะให้กูทำประการใดเล่า

 

ว่าด้วย บังคับ

ให้ทำ ความดี

บทสรุปโดยพื้นฐานของ ทองปน บางระจัน ก็คือ การบังคับให้กระทำความดีก็สมควรที่จะเป็นการบังคับที่ดี

แต่กูยังมองไม่เห็นว่า รุ่นพี่จะบังคับให้กูกระทำความดีทางด้านใด

ดูๆ เขาก็ไร้เหตุผล แต่กูเองก็เชื่อว่า ยังมีคนที่เต็มไปด้วยเหตุผลอยู่บ้าง เผอิญเขาให้อยากเอามือมาซุกหีบเท่านั้น

ความจริงใจแล้วก็ไม่อยากที่จะก่อปฏิกิริยาใดใดทั้งสิ้น

อยากอยู่เฉยเฉย อ่านหนังสือคนเดียวเงียบเงียบ ได้นั่งนึก นั่งคิด ได้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งเช้าทั้งบ่าย ได้ดูโทรทัศน์ ได้ฟังวิทยุไปตามสมควร ชอบกันก็คุยกัน ไม่ชอบกันก็ไม่ต้องเจรจากัน

เท่านั้น