รอสัญญาณ 16 ส.ค.-โหวตนายกฯ พท. | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

วันที่ 16 สิงหาคม เป็นอีกวันสำคัญที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ นักการเมืองทุกพรรค เฝ้ารอคอย รอฟังมติของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อคำร้องกรณีห้ามโหวตชื่อนายกฯ ซ้ำสองหน ว่าเป็นมติของรัฐสภาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าว จะมีผลต่อการกำหนดวันโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งยืดเยื้ออย่างยิ่ง

หลังจากที่เดิมที ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันพิจารณา 3 สิงหาคม แล้วประธานสภาวันนอร์ นัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 สิงหาคม เพื่อรอโหวตนายกฯ แต่พอศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนพิจารณาไปเป็น 16 สิงหาคม ทำให้การโหวตนายกฯ ต้องเลื่อนออกไปด้วย

ดังนั้น 16 สิงหาคมนี้ จะชี้ว่า สามารถโหวตนายกฯ ได้เมื่อไหร่

ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติตีตก ไม่รับคำร้อง เป็นอันนัดโหวตนายกฯ ใหม่ได้เลย

แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา ก็อาจจะต้องเลื่อนการโหวตนายกฯ ไปยาว อาจจะ 1 เดือน แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ศาลจะมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ ด้วยหรือไม่ เนื่องจากผู้ร้องได้ยื่นขอเอาไว้

มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลมีท่าทีไม่เห็นด้วย กับการที่นักวิชาการไปยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ปมปัญหาการโหวตชื่อนายกฯ ซ้ำสอง โดยพรรคก้าวไกลต้องการนำปมประเด็นนี้ เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทบทวนใหม่

พร้อมกับเน้นย้ำว่า ปัญหาของสภา ต้องพิจารณากันภายในสภา ไม่ควรไปพึ่งพิงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มามีอำนาจเหนือกว่ารัฐสภา เป็นการไปเอาอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาเหนือกว่าคำวินิจฉัยของสภา

ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐสภาทบทวนมติของตัวเอง อย่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาแทรกแซงนี่เอง

อาจจะมีผลในทางกลับกัน

นั่นคือในด้านศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่า จำเป็นต้องมีอำนาจในการพิจารณาคำวินิจฉัยของรัฐสภา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีองค์กรใดสามารถถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐสภาได้

ประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาและสภาผู้แทนนี่แหละ

ทำให้น่าคิดว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 สิงหาคม จะไม่รับพิจารณาคำร้องว่ามติรัฐสภาเรื่องโหวตนายกฯ ซ้ำสอง หรือจะรับพิจารณาวินิจฉัยมติของรัฐสภาดังกล่าว

 

ระหว่างที่รอวันที่ 16 สิงหาคมนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับสิทธิ์ในการแต่งตั้งนายกฯ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เร่งเดินหน้าเพื่อดึงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.เข้ามาสนับสนุนในการโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาล รวมไปถึงการเร่งแสวงหาเสียงจาก ส.ว.มาโหวตแคนดิเดตนายกฯ ให้ด้วย

เป้าหมายแรกคือ ต้องเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ โดยต้องโหวตผ่านให้ได้ ต้องให้เสียงเกิน 375 ให้ได้

เมื่อเพื่อไทยตัดสินใจ ปล่อยมือพรรคก้าวไกล โดยเพื่อไทยจัดรัฐบาล ส่วนก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

นั่นเพราะเพื่อไทยมองว่า พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคต้องห้ามในสายตาของเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ทั้งจากกรณีมาตรา 112 และอื่นๆ อันอาจจะทำให้เพื่อไทยเอง ตกอยู่ในสถานะอันตรายไปด้วย

จึงตัดสินใจ แยกทางกับก้าวไกล เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องดึงพรรคจากขั้วรัฐบาลเดิมมาร่วม

แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ทำให้เพื่อไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและอย่างร้อนแรงจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าอุตส่าห์เลือกก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 เพื่อให้การเมืองไทยยกระดับ เกิดการเปลี่ยนแปลง กลับกลายเป็นว่า ก้าวไกลถูกสกัดขัดวางทุกวิถีทาง ทั้งจากพรรคการเมืองขั้วเดิม จาก ส.ว. แน่นอนว่าเป็นอำนาจในเครือข่ายขุนศึกขุนนาง

จากนั้นประชาชนยิ่งโกรธแค้นต่อไปอีก เมื่อเพื่อไทยไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องให้จับมือกับก้าวไกลให้แน่น ผนึก 8 พรรคร่วมหัวจมท้ายกัน เป็นฝ่ายค้านก็เป็นด้วยกัน ยื้อเอาไว้ อีกเพียงแค่ 10 เดือน อำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ จะหมดสิ้นไป

แต่เพื่อไทยเลือกจะแยกทางกับก้าวไกล แล้วตั้งรัฐบาลเอง จึงทำให้โดนเสียงวิจารณ์ร้อนแรง

ทั้งนี้ ในมุมมองของเพื่อไทย เห็นว่าเป็นเกมที่อันตรายเกินไป เพื่อไทยอาจจะโดนองค์กรอิสระจัดการ เหมือนกับที่โดนมาแล้วอย่างหนักตลอดหลายปี อีกทั้งหากยอมให้ฝ่ายลุงชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จากนั้น ส.ส.ในเพื่อไทยและอีกหลายพรรค ที่ไม่พอใจกับการต้องไปเป็นฝ่ายค้าน จะแปลงร่างเป็นงูเห่าไปสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยจนกลายเป็นเสียงข้างมากได้

เพราะ ส.ส.ของเพื่อไทยและหลายๆ พรรค มีที่มาแตกต่างกับ ส.ส.ของก้าวไกลอย่างมาก คำว่าเป็นรัฐบาลมีผลอย่างมากต่อวิถีของ ส.ส.แบบเดิม เพราะต้องใช้งบประมาณ ใช้กลไกรัฐ ในการดูแลชาวบ้านเพื่อรักษาฐานเสียง

เชื่อว่าเพื่อไทยคงหวังโอกาสเป็นรัฐบาล แล้วงัดฝีมือด้านเศรษฐกิจออกมาใช้ โดยคาดหวังว่าจะช่วยปลุกคะแนนนิยมให้ฟื้นคืนมา ทดแทนที่สูญเสียไปในขณะนี้

แต่ลงเอยจะเป็นเช่นไรก็น่าคิด เพราะหมายถึงผลการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยจะยังเป็นพรรคใหญ่ หรือตกต่ำเป็นพรรคเล็ก

 

เมื่อก้าวไกล 151 เสียง กลายเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายเพื่อไทยจำต้องหาเสียง ส.ส.จากพรรคอื่นเข้ามาทดแทน โดยพรรคแรกคือภูมิใจไทย เอา 71 เสียงมาบวกกับเพื่อไทย 141 เสียง กลายเป็นพรรค 212 เสียงตั้งตันจัดรัฐบาลใหม่ ตามด้วยพรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า และพรรคเล็กอื่นๆ

ขณะที่พรรคซึ่งจับมืออยู่กับเพื่อไทยมาก่อน และยังอยู่ในสูตรรัฐบาลใหม่ต่อไป คือ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า สามารถรวบรวมเสียงได้จนเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นั่นคือ เกิน 250 เสียงขึ้นไป โดยคาดว่าจะอยู่ประมาณ 270 เสียง

ภายใต้สูตรที่ไม่มีพรรค 2 ลุง แต่จะมีมาร่วมสนับสนุนเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล!!

ทั้งนี้ คาดว่าจะมี ส.ส.จากประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ซึ่งแม้ว่าจะเกิดความอลหม่านในการเลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จนล่มและเลื่อนหลายหน เพื่อหวังทำให้ประชาธิปัตย์ขาดหัวหน้าพรรค จะไม่สามารถเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทยได้

แต่นายเฉลิมชัยหรือเสี่ยต่อ ได้ชิงเปิด “กลุ่มเพื่อนต่อ” โชว์ ส.ส. 21 เสียง ต่อหน้าสาธารณะไปแล้ว เหมือนประกาศความพร้อมร่วมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรครวมไทยรักษาชาติ ซึ่งย้ายจากพลังประชารัฐมาเข้าพรรคนี้ ในฐานะคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวางมือทางการเมือง โดยบอกชัดว่า ที่มาร่วมพรรคนี้เพื่อร่วมเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์วางมือ ก็คงต้องทบทวนตัวเอง

ที่สำคัญนายสุชาติ ได้พูดถึงการใช้เอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการโหวตนายกฯ เพื่อให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าได้

จึงเป็นที่จับตาว่า ส.ส.ในกลุ่มของนายสุชาติประมาณ 8 เสียงถึง 12 เสียง จะเป็นไปตามสูตรมาเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลหรือไม่

พร้อมๆ กับมีกระแสข่าวว่า จะมีกลุ่มแบบเดียวกันนี้จากพลังประชารัฐอีกด้วย

การตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย น่าจะรวบรวมเสียงถึง 270 เศษๆ ได้ แต่ด่านสำคัญคือการโหวตนายเศรษฐาเป็นนายกฯ จะต้องมีเสียงจาก ส.ว.หรือจาก ส.ส. มาหนุนให้เกิน 375 เสียงให้ได้

ต้องเฝ้ารอดูว่าสุดท้ายเพื่อไทยจะตั้งนายกฯ และรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ ท่ามกลางกลเกมของขั้วอำนาจเก่า ที่ยังต้องการบีบเพื่อไทยให้รับพรรคบางพรรคเข้าร่วม ประสานกับการเปิดศึกถล่มมุ่งไปที่นายเศรษฐา เพื่อบีบให้ยินยอมเงื่อนไขของกลุ่มอำนาจเก่า

สำคัญสุดคือกระแสจากประชาชนที่เดือดระอุ เมื่อเพื่อไทยสลัดทิ้งก้าวไกล

สุดท้ายเพื่อไทยจะเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลได้หรือไม่ และเป็นแล้วจะบริหารประเทศจนฟื้นคะแนนนิยมได้หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก!!