การเมืองจีนระอุ เมื่อ ‘สี จิ้นผิง’ ถูก ‘ลองดี’

ในห้วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ “ยากอธิบาย” ขึ้นในแวดวงการเมืองระดับสูงของจีน เรื่องราวไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมายนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จนพอที่จะมองข้ามไปในทันทีทันควันได้เช่นเดียวกัน

กรณีแรกก็คือการที่จู่ๆ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศเกิดหายหน้าหายตาไปอย่างลึกๆ ลับๆ ไม่ออกปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปรากฏตัวต่อสื่อหรือในที่สาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น

หนึ่งสัปดาห์ก็แล้ว สองสัปดาห์ก็แล้ว ในที่สุดก็กลายเป็นเดือน ลงเอยด้วยการประกาศ “ปลด” พ้นตำแหน่ง แล้วดึงตัว หวัง อี้ นักการทูตมือเก๋าระดับอดีตรัฐมนตรีที่ถูกเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันเป็นตำแหน่งสูงสุดทางด้านการต่างประเทศของจีนมาดำรงตำแหน่งแทน

ไม่มีคำอธิบายให้เหตุผลใดๆ ปรากฏตามมา

 

ถัดมาไม่ช้าไม่นาน ก็เกิดระเบิดตูมตามขึ้นในกองทัพในวันที่ 31 กรกฎาคม คราวนี้ นายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพ ยศพลเอก 2 นาย ถูกปลดพ้นตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งแทนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ไม่มีแม้คำอธิบายให้เหตุผล “อย่างเป็นทางการ” อีกแล้ว

แน่นอนเมื่อไม่มีการแจกแจงอย่างเป็นทางการถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ข่าวลือที่แพร่สะพัดต่างๆ นานา ให้เหตุผลทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ ว่าคือที่มาของการเปลี่ยนแปลงแบบฟ้าผ่าในครั้งนี้

สำหรับบุคคลทั่วไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านตาไปแล้วก็แล้วกันไป แต่สำหรับผู้ที่เฝ้าจับตาและติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนอย่างใกล้ชิดมาตลอด การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ โดยเฉพาะในกรณีหลัง เป็นสิ่งที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นกับกองทัพจีน

จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นการ “ทำความสะอาด” ในระดับสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบร่วม 10 ปีได้เลยทีเดียว

 

ปรากฏการณ์ “ยากอธิบาย” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นในแวดวงการเมืองระดับสูงสุดของจีน

ในทางหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความพยายามเพื่อ “ปฏิรูป” การเมืองและกองทัพของสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานี้ กำลังเผชิญ “อุปสรรค” และแรงกดดันมากกว่าที่หลายคนเคยคาดคิดกันก่อนหน้านี้

ในอีกทางหนึ่ง บุคคลระดับสูงทั้ง 3 รายที่ถูกปลดพ้นตำแหน่งครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ “ใกล้ชิด” และเป็นคนที่สี จิ้นผิง เลือก “จิ้ม” ให้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นมากับมือทั้งสิ้น

บุคคลเหล่านี้ให้บังเอิญมา “เกิดเหตุ” ขึ้นไล่เลี่ยกัน นั่นคือความผิดพลาด บกพร่องในการเลือก ในการตัดสินใจของสี จิ้นผิง ไม่ใช่หรือ?

ฝ่ายที่สนับสนุนสี จิ้นผิง อาจแย้งได้ว่า นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความจริงจังของผู้นำสูงสุดของจีน ในการดำเนินการตามแนวคิดในการปฏิรูป ด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและการผลักดันปรับปรุงให้พีแอลเอ กลายเป็นกองทัพที่ทันสมัย ทรงพลานุภาพในระดับโลกในยุคปัจจุบัน

ปัญหาก็คือ เหตุการณ์ทั้งหมดก็ดี ความอึมครึมที่ห่อหุ้มอยู่ เรื่อยไปจนถึงข่าวลือที่แพร่สะพัดว่า อาจมีกรณีอื่นๆ อีกมากที่จะเกิดขึ้นตามมา ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเป็นผู้นำของสี จิ้นผิง อย่างรุนแรงทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของกรณีหลัง

 

ครั้งล่าสุดที่เกิดการ “ปลด” นายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพของพีแอลเอ เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 เมื่อ พล.อ.สวี่ ไค่เห่า อดีตรองผู้บัญชาการกองทัพบกฝ่ายการเมือง กับ พล.อ.กั๊วะ ป๋อเซียง รองเสนาธิการทหารบก

ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น รับสินบนแลกกับการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง รายแรกเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างการไต่สวน รายหลังถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เมื่อปี 2016

ทั้งสองนายพลเมื่อครั้งยังมีอำนาจ ถูกเรียกขานกันว่าเป็น “ตัวแทน” ของเจียง เจ๋อหมิน อดีตผู้นำจีน ในพีแอลเอ ในทำนองเดียวกับที่ 2 นายพลที่ถูกปลดในครั้งนี้ ก็เป็นผู้ที่สี จิ้นผิง เลือกมาให้ดำรงตำแหน่งด้วยตนเอง

ดังนั้น การปลด พล.อ.หลี่ ยู่เฉา ผู้บัญชาการกองทัพขีปนาวุธจีน กับ พล.อ.สวี่ จงป๋อ รองผู้บัญชาการฝ่ายการเมืองกองทัพขีปนาวุธ ในครั้งนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสี จิ้นผิง

ที่สำคัญก็คือ นี่คือหน่วยงานของพีแอลเอที่สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญสูงสุดเป็นลำดับแรกและดูแล “ฟูมฟัก” มาโดยตลอด เมื่อปี 2015 สี จิ้นผิง “ยกระดับ” หน่วยงานนี้จากเดิมที่เป็น “กองพลทหารปืนใหญ่ที่ 2” ในสังกัดกองทัพบกของพีแอลเอ ขึ้นเป็น “กองทัพขีปนาวุธ” ที่แยกออกมาเป็นอิสระและมีฐานะเป็น “กองทัพ” ลำดับที่ 4 เทียบเท่ากับ กองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

ปี 2018 สีสร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้ง พล.อ.เว่ย เฟิงเหอ อดีตผู้บัญชาการกองทัพขีปนาวุธ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม กลายเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ดำรงตำแหน่งนี้โดยที่ไม่เคยมีภูมิหลังจากกองทัพบกมาก่อน

กองทัพขีปนาวุธ รับผิดชอบกำกับดูแลคลังแสงจรวดและขีปนาวุธภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีตั้งแต่ ครูส มิสไซล์ ที่เป็นจรวดโจมตีในรูปแบบ เรื่อยไปจนถึงขีปนาวุธในพิสัยต่างๆ หลายร้อยหลายพันลูก รวมไปถึงการรับผิดชอบและเตรียมความพร้อมของขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (intercontinental ballistic missiles – ICBM) ราว 300 ลำ กับหัวรบนิวเคลียร์อีกไม่น้อยกว่า 400 หัวรบ

การให้ความสำคัญกับกองทัพนี้เป็นพิเศษ ส่งผลให้งบประมาณในการดำเนินงานขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้กองทัพขีปนาวุธกลายเป็นศูนย์รวมของการ “ยกระดับพีแอลเอ” ให้ทันโลกทันสมัยไปในที่สุด

 

รายงานของเพนตากอนระบุว่า สี จิ้นผิง เคยกำหนดเป้าไว้ว่า จีนจำต้องมีหัวรบ (นิวเคลียร์) อยู่ในคลังแสงไม่น้อยกว่า 1,500 หัวรบภายในปี 2035 ถึงจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาพีแอลเอให้ “ทันสมัย”

ด้วยเหตุนี้เอง ทิโมธี ฮีต นักวิเคราะห์ของแรนด์ คอร์ป. องค์กรวิชาการอิสระสัญชาติอเมริกัน ถึงได้ระบุว่า กองทัพขีปนาวุธ เป็นหน่วยทหารสุดท้ายที่สี จิ้นผิง คาดหวังว่าจะมีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญและผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับพีแอลเอ ยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การปลดนายทหารระดับสูงในครั้งนี้ มีนัยสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการปลดผู้บัญชาการ และรองผู้บัญชาการฝ่ายการเมือง ของกองทัพหนึ่งๆ พ้นตำแหน่งในคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็น “ครั้งแรก” เท่าที่เคยมีมาแล้ว ผู้ที่ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน ยังพิเศษพิสดารอย่างยิ่งอีกด้วย

ตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการฝ่ายการเมือง” ของกองทัพนั้น เป็นรองจากผู้บัญชาการก็จริง แต่นี่คือตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้ “อุดมการณ์” และ “วินัยพรรค” ในหน่วยทหารนั้นๆ ทั้งยังมีสถานะเป็น “สมาชิกในคณะกรรมการกลางพรรค” โดยตำแหน่งอีกด้วย

ทำให้เมื่อมองจากในพรรค ตำแหน่งรองผู้บัญชาการฝ่ายการเมือง มีสถานะสูงกว่าผู้บัญชาการด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญก็คือ ในตำแหน่ง ผบ. กองทัพขีปนาวุธ สี จิ้นผิง เลือก พล.ร.อ.หวัง ฮ่าวปิน จากกองทัพเรือ ให้ “ข้ามฟาก” มาดำรงตำแหน่งแทน

ส่วนตำแหน่งรอง ผบ. ก็เลือก สวี่ ซือเฉิง นายทหารพลอากาศเอก จากกองทัพอากาศมาแทนที่ ชนิด “ข้ามห้วย” มาเช่นเดียวกัน

ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในกองทัพขีปนาวุธจีนไม่เพียงใหญ่โตไม่น้อยเท่านั้น ยังหยั่งรากลึกอย่างยิ่งอีกต่างหาก