วิกฤต ‘วัฒนธรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์’?

คนมองหนัง

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์เดอะการ์เดียนได้เผยแพร่บทความที่เขียนโดย “มานูเอลลา ลาซิช” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย

เมื่อลาซิชได้พยายามฉายปัญหาว่าด้วย “วิกฤตของวัฒนธรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์” ที่กำลังเกิดขึ้นใน “สังคมตะวันตก” (ซึ่งเอาเข้าจริง ก็มีสภาพการณ์ไม่ต่างจากสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในเมืองไทยสักเท่าใดนัก)

บทความดังกล่าวได้เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัยทั้งในฝั่งอเมริกาและยุโรป ที่การ “ฉายหนังรอบสื่อมวลชน” ยุคปัจจุบัน พยายามมุ่งเน้นผลลัพธ์ไปยังการกระพือปฏิกิริยา “ด้านบวก” ที่มีต่อหนังเรื่องนั้นๆ ในโซเชียลมีเดีย

เห็นได้จากการที่สตูดิโอต่างๆ เปิดโอกาสให้ “ผู้ที่เข้ามาชมภาพยนตร์รอบสื่อ” สามารถทวีตหรือแชร์ “ความรู้สึกชื่นชม” ต่อตัวหนังได้ทันทีหลังออกจากโรง

ขณะที่ “บทวิจารณ์ภาพยนตร์แบบดั้งเดิม” ที่ตีพิมพ์ตามสื่อต่างๆ และมักกล่าวถึงทั้ง “แง่บวก” และ “แง่ลบ” ของหนัง กลับยังถูกตั้งกำแพงว่า ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากวันฉายหนังรอบสื่อผ่านพ้นไปแล้วสองวัน

หากมองไปที่เหตุผลด้านการตลาด นี่ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เพราะปฏิกิริยา “แง่บวก” ในโลกโซเชียลสามารถช่วยจูงใจให้ผู้คนพากันตีตั๋วเข้าไปดูหนังตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ อันถือเป็นช่วงเวลา “ชี้เป็นชี้ตาย” ท่ามกลางภาวะ “ขาลง” ของอุตสาหกรรม (โรง) ภาพยนตร์ทั่วโลก

 

แล้วใครกันที่จะมารับหน้าที่ “เชียร์” หนังตามสังคมออนไลน์?

แน่นอนว่า คำตอบย่อมต้องเป็นเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทวีบทบาทและอิทธิพลในการกำหนดรสนิยมของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ได้รับเชิญให้เข้าไปชม “การฉายหนังรอบสื่อ” จึงมักได้แก่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ขณะที่ “นักวิจารณ์ในความหมายเดิม” กลับถูกกีดกันออกจาก “รอบสื่อ” มากขึ้นตามลำดับ

ลาซิชมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของวงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมในภาพใหญ่ด้วย เพราะสิ่งที่จะขาดหายไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือ ทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ของคนในสังคมปัจจุบัน

หลายปี (ทศวรรษ) ก่อน คนจำนวนไม่น้อยมักแปะป้ายว่า “นักวิจารณ์” เป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย หรือเป็นผู้ที่ไม่เคยชื่นชอบ-พอใจอะไรเลย

แต่อีกด้านหนึ่ง “นักวิจารณ์” ก็คือคนรักภาพยนตร์ ผู้ปรารถนาจะให้หนังทุกเรื่องมีคุณภาพดีที่สุด ถึงพร้อมด้วยคุณค่าเชิงศิลปะ และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนดูได้ มากกว่าจะเป็นเพียง “สินค้าพาณิชย์” ซึ่งทำหน้าที่จูงใจยั่วยวนผู้บริโภคให้อยากซื้อ “สินค้าอื่นๆ” ต่อไปไม่รู้จบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นแบ่งระหว่าง “นักวิจารณ์” กับ “เจ้าหน้าที่พีอาร์ประชาสัมพันธ์” ในโลกยุคร่วมสมัยเริ่มพร่าเลือนยิ่งขึ้น “นักวิจารณ์ภาพยนตร์” ก็อาจกลายเป็นแค่คนที่รัก-ชอบหนังไปเสียทุกเรื่องโดยอัตโนมัติ และสูญเสียศักยภาพในการคิดวิพากษ์ไปอย่างน่าเสียดาย

ผู้ชมในงานฉายภาพยนตร์ “Barbie” รอบปฐมทัศน์ ที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา /ภาพถ่ายโดย Iris Schneider/ZUMA Press Wire/Shutterstock

ลาซิชแจกแจงต่อว่า ไม่เพียงแต่ระบบบริการสตรีมมิ่ง (ร่วมด้วยปริมาณอันเกลื่อนกล่นมหาศาลของคลิปภาพเคลื่อนไหวชนิดต่างๆ) จะส่งผลกระทบต่อคุณค่า (ที่ลดลง) ของตัวภาพยนตร์ หาก “วัฒนธรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์” ก็ได้รับผลกระทบจากอินเตอร์เน็ตเช่นกัน

แม้การที่ผู้คนจำนวนมากสามารถ “เขียนถึงหนัง” กันได้ในโลกออนไลน์อาจนำไปสู่ “สภาวะประชาธิปไตยทางการแสดงความเห็น”

ทว่า ผลลัพธ์ที่เกิดตามมากลับกลายเป็น “ค่าต้นฉบับ” ที่ถูกกดต่ำลง เช่นเดียวกับความรู้ความเชี่ยวชาญของบรรดา “นักเขียนเรื่องหนัง” ที่อ่อนคุณภาพ เห็นได้จากการขาดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ทักษะการเขียน-อ่านที่ย่ำแย่ รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์ความซับซ้อนของหนังที่ผิวเผิน

เมื่องานเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ไร้คุณภาพมากขึ้น “ค่าเรื่อง” ที่ผู้เขียนได้รับก็ย่อมถูกกดต่ำลงไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบสิ้น

วิกฤตวิชาชีพของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในโลกตะวันตกเสื่อมทรุดไปถึงจุดที่ว่า มีนักวิจารณ์บางราย “ประชดประชัน” ด้วยการแปะคลิปหนังบางส่วน (อย่างผิดกฎหมาย) แนบไปกับการทวีตลิงก์บทวิจารณ์ของตนเองในทวิตเตอร์

ด้วยเหตุผลว่า ไหนๆ ก็ไม่มีใครสนอ่านบทวิจารณ์หนังกันอยู่แล้ว สู้ให้พวกเขาดูหนังบางส่วนไปเลยดีกว่า เผื่อเขาจะอยากตีตั๋วเข้าไปชมหนังทั้งเรื่องในโรง

เมื่อถามต่อว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว “นักวิจารณ์ภาพยนตร์” จะยังเขียนบทวิจารณ์กันอยู่ทำไม? คำตอบที่บางคนพูดออกมา คือ “ก็เพื่อค่าเรื่อง 50 ดอลลาร์ไงล่ะ”

เมื่อ “การเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์” กลายเป็นงานที่ไร้ค่า ไร้จุดหมาย โน้มน้าวใจคน (ไม่) อ่านไม่ได้ คำถามถัดมา คือตำแหน่งแห่งที่ของการวิจารณ์จะอยู่ตรงจุดไหนของวัฒนธรรมโลกยุคปัจจุบัน?

 

ลาซิชยอมรับว่านี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่ “บทวิจารณ์ภาพยนตร์” จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือช่วยแจ้งเกิดให้แก่หนังบางเรื่อง-คนทำหนังบางรายได้อีกแล้ว

แม้บทวิจารณ์ดีๆ ที่ผสานประสบการณ์ส่วนตัว, ความรู้ด้านภาพยนตร์, การคิดเชิงวิพากษ์ และความศรัทธากระตือรือร้นของผู้เขียน อันนำไปสู่การท้าทายมุมมองของผู้อ่านและสะท้อนให้เห็นถึงสภาวการณ์ของสังคมร่วมสมัย จะยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม

กระนั้น ปรากฏการณ์ล่าสุด ที่หนังเรื่อง “Barbie” และ “Oppenheimer” สามารถทำเงินได้มหาศาลพร้อมๆ กัน และสามารถดึงดูดคนดูจำนวนมากให้กลับเข้าโรงภาพยนตร์ได้อีกครั้ง ก็ช่วยจุดประกายความหวังเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่วัฒนธรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์

เพราะไม่เพียงหนังทั้งสองเรื่องจะได้รับความนิยมจากมหาชนเท่านั้น แต่ทั้งคู่ต่างเป็นภาพยนตร์ที่มีประเด็นให้ขบคิด-ตีความ-เขียนถึงได้มากมาย แถมยังหลุดพ้นออกจากกรอบของการเป็น “หนังแฟรนไชส์หรือหนังภาคต่อ” ในจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ (ที่หลายคนประเมินว่าเป็นพิมพ์นิยมอันซ้ำซากจำเจ ขณะที่บางคนถึงกับบริภาษว่างานเหล่านั้นไม่ใช่ “ภาพยนตร์”) อีกด้วย •

 

สรุปความจาก https://www.theguardian.com/film/2023/aug/01/what-are-film-critics-for-today

 

| คนมองหนัง