Jurassic Park แห่งแดนอีสาน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ฉายา Jurassic Park แห่งแดนอีสาน ไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากพิจารณาสถิติการขุดค้นโครงกระดูกไดโนเสาร์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ดังนี้

1. Ratchasimasaurus Suranareae ปีที่ค้นพบ 2524 นครราชสีมา

2. Siamosaurus Suteethorni ปีที่ค้นพบ 2529 ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี, สกลนคร, อุดรธานี, นครราชสีมา

3. Phuwiangosaurus Sirindhornae ปีที่ค้นพบ 2530 ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, นครราชสีมา, สกลนคร

4. Vayuraptor Nongbualamphuensis ปีที่ค้นพบ 2531 หนองบัวลำภู

5. Siamotyrannus Isanensis ปีที่ค้นพบ 2536 ขอนแก่น

6. Phuwianvenator Yaemniyomi ปีที่ค้นพบ 2536 ขอนแก่น

7. Kinnareemimus Khonkaenensis ปีที่ค้นพบ 2536 ขอนแก่น

8. Isanosaurus Attavipachi ปีที่ค้นพบ 2541 ชัยภูมิ

9. Siamodon Nimngami ปีที่ค้นพบ 2550 นครราชสีมา

10. Sirindhorna Khoratensis ปีที่ค้นพบ 2550 นครราชสีมา

11. Siamraptor Suwati ปีที่ค้นพบ 2550 นครราชสีมา

12. Psittacosaurus Sattayaraki ปีที่ค้นพบ 2561 ชัยภูมิ, ขอนแก่น

13. Minimocursor Phunoiensis ปีที่ค้นพบ 2561 กาฬสินธุ์

Minimocursor Phunoiensis (มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส) จึงเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของไทย

เป็นไดโนเสาร์ “ออร์นิธิสเชียน” (Ornithischians) หรือไดโนเสาร์กินพืชแบบสะโพกนก เป็น “ออร์นิธิสเชียน” ที่เก่าแก่ที่สุดในไทย และอาเซียนเลยทีเดียว

โดยซากที่พบนั้นประกอบด้วย กระดูกลำตัว ขา และหาง ซึ่งบ่งชี้ว่า มันมีขนาดเล็กราว 60 เซนติเมตร ขณะที่ซากของไดโนเสาร์สายพันธุ์เดียวกันแต่คนละตัว ชี้ว่าเมื่อโตเต็มวัยมันจะมีขนาดยาวถึง 2 เมตรเลยทีเดียว

สถานที่ค้นพบคือ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ขนาด 1,200 ตร.ม. มีการขุดค้นมาตั้งแต่ปี 2561

การค้นพบในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร และศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในฝรั่งเศส รวมถึงกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ Minimocursor Phunoiensis (มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส) ไดโนเสาร์ในยุค Jurassic ตอนปลาย หรือราว 150 ล้านปีก่อน

ถือเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกในหมวดหินภูกระดึงซึ่งถือว่ามีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเจอกระดูกมากกว่า 60% ที่เรียงต่อกัน

 

ที่มาของฉายา “นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย” มาจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ “มินิมัส” เป็นภาษาละตินแปลว่า “ขนาดเล็ก” ส่วน “เคอร์เซอร์” หมายถึง “นักวิ่ง” และ “ภูน้อย” ก็คือแหล่งที่พบ

Minimocursor Phunoiensis (มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส) เป็นไดโนเสาร์ตัวจิ๋ว ที่สามารถวิ่งหนีไดโนเสาร์กินเนื้อที่ดุร้ายได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว หน้าตาของมันน่ารัก มีขนฟูทั่วตัว ส่วนศีรษะเป็นสีชมพู นัยน์ตากลมโต ปากเป็นจะงอยสั้นคล้ายนก

ดร.ศิตะ มานิตกุล ผู้ค้นพบซาก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” กล่าวว่า การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ เริ่มจากซากชิ้นส่วนขนาดเล็กจิ๋ว ก่อนจะใช้กระบวนการเทียบเคียงกับไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นๆ เพื่อจำกัดวงให้แคบลง

“จนกระทั่งค้นพบซากฟอสซิลที่มีขนาดสมบูรณ์อย่างมาก จนประเมินได้ถึงลักษณะ และประเภทของไดโนเสาร์ ถึงจุดที่สามารถสร้างภาพแอนิเมชั่นเพื่ออธิบายรูปลักษณ์ของมันออกมาได้อย่างละเอียด” ดร.ศิตะ มานิตกุล ระบุ

“ต่อจากนี้ ทางทีมงานจะนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการวิจัยให้มากขึ้น เพื่อศึกษาถึงการเจริญเติบโต พฤติกรรม และสีที่แท้จริงของไดโนเสาร์ ที่เรารู้แล้วว่า หากโตเต็มวัย จะมีความยาวมากถึง 2 เมตร” ดร.ศิตะ มานิตกุล กล่าว และว่า

“ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ Minimocursor Phunoiensis (มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส) จะถูกบรรจุอยู่เป็นกระบวนการวิจัยในขั้นต่อไป” ดร.ศิตะ มานิตกุล ทิ้งท้าย

 

ก่อนจากกัน ขอตอกย้ำความเป็น Jurassic Park แห่งแดนอีสาน ด้วยการแนะนำแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 4 แห่งดังนี้

1. ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย

ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่างเต็มรูปแบบ และยังมีการนำเสนอที่น่าสนใจทำให้ผู้เข้าชมได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน โดยมีการแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ทั้งหมด 8 Zone ได้แก่

Zone ที่ 1 จักรวาลและโลก, Zone ที่ 2 เมื่อชีวิตแรกปรากฏ, Zone ที่ 3 พาลีโอโซอิก, Zone ที่ 4 มีโซโซอิก และไดโนเสาร์ไทย, Zone ที่ 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์ไทย, Zone ที่ 6 คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์, Zone ที่ 7 ซีโนโซอิก และ Zone ที่ 8 เรื่องของมนุษย์

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธร เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ sdm.dmr.go.th, เฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์สิรินธร-Dinosaur museum หรือโทรศัพท์ 0-4387-1014, 0-4387-1613, 0-4387-1615-16

2. ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น เกิดขึ้นจากการที่คุณสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2519

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริการ ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก ห้องอาหาร ห้องบรรยาย ส่วนวิชาการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ห้องสมุด และส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ห้องจัดแสดงชั้นล่าง และชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการการกำเนิดโลก หิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ dmr.go.th หรือโทรศัพท์ 0-4343-8204-6

3. อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง

อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น มีลักษณะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อยู่บนพื้นที่กว้ากว่า 25 ไร่ ซึ่งได้จัดแสดงหุ่นไดโนเสาร์จำลองหลากหลายสายพันธุ์โดยรอบกว่าร้อยตัว ท่ามกลางสวนสีเขียวสวยๆ ที่มีทั้งโขดหิน น้ำตก บ่อน้ำ สวนหย่อม

พร้อมทั้งยังมีเทือกเขาภูเวียงเป็นฉากอยู่เบื้องหลัง ไดโนเสาร์บางตัวยังมีความพิเศษอยู่ตรงที่ถ้าเราหยอดเหรียญลงไปก็จะสามารถขยับได้ด้วย การเข้าเที่ยวชมอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงนั้น สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม

4. แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ท่าอุเทน จ.นครพนม

แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ท่าอุเทน ตั้งอยู่ที่ ต.พนอม อ.ท่าอุเทน เป็นพื้นที่จัดแสดงรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบในพื้นที่ห้วยด่านชุม อ.ท่าอุเทน ซึ่งปรากฏอยู่บนพื้นหินทรายสีน้ำตาลแดง หมวดหินโคกกรวด ในยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ 100 ล้านปี

โดยรอยเท้าที่ขุดค้นพบนั้นเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ นกกระจอกเทศ อีกัวโนดอน และจระเข้ขนาดเล็ก มีอายุกว่า 100 ล้านปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เทอร์โรพอดและออร์นิโธพอด ซึ่งแหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ท่าอุเทนก็ได้จัดทำเป็นเส้นทางเดินให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมอย่างใกล้ชิด และยังมีรูปปั้นไดโนเสาร์อยู่รอบๆ ด้วย

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม