นิธิประดับไว้ในใจชน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นหนึ่งในปัญญาชนสาธารณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคม

ความยิ่งใหญ่ของอาจารย์มีมากจนทันทีที่อาจารย์จากไป คนที่อาลัยกับอาจารย์มีมากจนตามอ่านคารวาลัยได้ไม่หมด

ยิ่งกว่านั้นคือแต่ละคนมาจากวิชาชีพ, อายุ, คุณวุฒิ และชนชั้นที่ต่างกันมหาศาล

ไม่ต้องพูดถึงคนที่ไม่ได้เปลี่ยนความคิดเป็นตัวหนังสือเพื่อแสดงความคารวะออกมา

ผมไม่มีความสามารถเขียนถึงอาจารย์นิธิได้ดีเท่าที่อาจารย์คู่ควรในวันที่จากไป

เหตุผลง่ายๆ คือจะบอกว่าอาจารย์นิธิเป็นใครก็ยากจนเหลือเชื่อ จะสรุปความเป็นอาจารย์นิธิจากงานเขียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจารย์ในช่วงพีกที่สุดนั้นเขียนบทความถึงสัปดาห์ละ 3-4 ชิ้น จนจะบอกว่า “นิธิ” เป็นใครจากงานเขียน “นิธิ” ก็ยากเหลือเกิน

โดยวิชาชีพแล้วอาจารย์เป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย

แต่จะบอกว่าอาจารย์ยิ่งใหญ่เพราะเป็นข้าราชการก็ไม่ใช่อีก หรือเมื่อคำนึงว่าคนรุ่นเดียวกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ มักจะมีการสร้างศิษยานุศิษย์จนเกิดเป็นสำนักนั้นสำนักนี้

อาจารย์นิธิก็ไม่ได้มีภาพของการสร้าง “สำนักนิธิ” จนไม่เคยได้ยินว่ามีคำว่า “เจ้าสำนักนิธิ” เลย

คนจำนวนมากบอกว่าอาจารย์นิธิเป็นปราชญ์ที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน

แต่คำว่าปราชญ์ในสังคมไทยหมายถึง “ผู้รอบรู้” ซึ่งจะอยู่ในหรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ นักวิชาการจำนวนมากจึงไม่ใช่ปราชญ์ และปราชญ์จำนวนมากก็ไม่ได้กินเงินเดือนจากการทำงานวิชาการ

แต่คำว่า “ปราชญ์” ก็เล็กเกินกว่าจะครอบคลุมความเป็นอาจารย์นิธิเหมือนกัน

“ปราชญ์” ในสังคมไทยคือผู้มีปัญญา แต่ปัญญาของคนที่ถูกถือว่าเป็นปราชญ์คือคุณสมบัติส่วนบุคคลที่ได้จากการเรียน, การอ่าน, การฝึกฝน ฯลฯ จนเป็นผู้รอบรู้เรื่องจารีต (Conventional Wisdom) อย่างสมุนไพรพื้นบ้าน, ศาสนา หรือปราชญ์ชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ

ขณะอาจารย์นิธิมีวิธีหาความรู้และพรมแดนความรู้กว้างขวางกว่าคำว่าปราชญ์เหลือเกิน

 

ผมคิดว่าคำที่สะท้อนความเป็นอาจารย์นิธิได้ดีคือคำว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” (Public Intellectual) นั่นคืออาจารย์นิธิเป็นคนที่นำเสนอความคิด, ต่อยอดความคิด และแจกแจงความซับซ้อนของปรากฏการณ์ต่างๆ ต่อ “สาธารณะ” และ “เพื่อสาธารณะ” จนพร้อมจะตั้งคำถามและหยิบฉวยสิ่งละอันพันละน้อยมาต่อยอดเป็นประเด็นใหญ่ๆ ทุกกรณี

“ปัญญาชน” ต่างจาก “อาจารย์” หรือ “นักวิชาการ” เพราะความเป็น “อาจารย์” เป็นเรื่องของอาชีพซึ่งคนที่เป็นอาจารย์จะอยู่ในหรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ ขอแค่ให้สังคมเห็นว่ามีความรู้จนอาจยอมจ่ายเพื่อได้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น ดูดวง, ทำอาหาร, สอนดนตรี, บรรยายธรรม ฯลฯ หรือแม้แต่แสดงความนับถือคนที่มีความรู้บางด้านกว่าตัวเอง

“ปัญญาชน” ไม่ใช่อาชีพ แต่เป็น “คุณสมบัติ” ของคนที่คิดเรื่องต่างๆ จนตั้งคำถามสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อรูปความคิด (Conceptualization) หรือ “ดาษความคิด” ซึ่งเป็นคำที่อาจารย์นิธิเคยใช้ในงานที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักจนไม่ติดตลาด ปัญญาชนจึงอาจไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เข้าข่ายเป็นปัญญาชนไปทุกคน

ในโลกที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นสื่อหลักก่อนถูกกวาดล้างด้วยสื่อออนไลน์ อาจารย์นิธิเคยเขียนงานสัปดาห์ละ 3 ชิ้น หรือปีละราว 1,000 ชิ้น จนเกิดงานที่มีเนื้อหาครอบคลุมประวัติศาสตร์, การเมือง, วัฒนธรรม, ศาสนา, เศรษฐศาสตร์, เจ้า, ปัญหาชีวิต, ภาพยนตร์, เพลง ฯลฯ ซึ่งเท่ากับอาจารย์ Conceptualization แทบทุกเรื่องในสังคม

คนกลุ่มที่มีงานเขียนมากพอกับอาจารย์นิธิคือคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์รายวัน และการที่อาจารย์เขียนบทความให้เครือมติชนติดต่อกันมากว่า 30 ปี อาจารย์ทำงานเป็นคอลัมนิสต์ด้วยแน่ๆ แต่ก็ไม่มีใครคิดถึงอาจารย์เหมือนคิดถึงคอลัมนิสต์คนอื่นๆ

เพราะงานอาจารย์มีลักษณะ “ก่อรูปความคิด” หรือ Conceptualization มากกว่าการพูดถึงปรากฏการณ์

 

ถ้าถามว่างานเขียนของอาจารย์นิธิต่างจากสื่อหรือพิธีกรที่ออกสื่อทุกวันอย่างไร ผมคิดว่าความต่างที่สำคัญคืออาจารย์นิธิตั้งคำถามที่สื่อตั้งคำถามไม่ได้, พูดเรื่องที่สังคมไม่กล้าพูด, เผชิญหน้ากับความคิดที่ล้าหลังจนเป็นลัทธิ, ไม่เป็นนายแบกของรัฐและนายทุน รวมทั้งเป็นตัวแทนนำเสนอเรื่องของคนและประเด็นที่สังคมไทยต้องการกวาดไว้ใต้พรม

สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนสังคมทั้งในระดับปัจเจกและเป็นขบวนการ งานเขียนอาจารย์นิธิครอบคลุมคนกลุ่มนี้ตั้งแต่สมัชชาคนจน, “เจริญ วัดอักษร” กับการปกป้องทรัพยากรที่บ่อนอก, คนเสื้อแดงปี 2553, ม็อบราษฎรปี 2563, กลุ่มทะลุแก๊ส, มลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้, ผู้ลี้ภัยข้อหาล้มเจ้าหลังปี 2557 ฯลฯ อย่างที่พูดได้ไม่จบในวันเดียว

โดยปกติคนที่พูดเรื่องพวกนี้มักตกอยู่ในกับดักของการคิดว่าตัวเองเป็น “ตัวแทน” จน “พูดแทน” แต่วิธีวิทยาของอาจารย์นิธิจัดวางประเด็นเหล่านี้ในความสัมพันธ์ที่กว้างขวางทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรม

ผลก็คือความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้มากกว่าเชียร์หรือไม่เชียร์ ถึงตอนจบอาจารย์จะไปชูสามนิ้วยืนหยุดขังทั้งที่อายุกว่า 80 ก็ตาม

น่าสนใจด้วยว่าทั้งที่พูดเรื่อง “คนจน” หรือ “คนชายขอบ” กระทั่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยืนตากฝนประท้วงมากที่สุด อาจารย์ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็น “ตัวแทน” คนจน หรือแม้กระทั่งตอบรับแบบเออๆ ออๆ เวลาถูกยกย่องว่าอยู่ข้างคนจน ซ้ำยังย้ำอยู่เสมอว่าสถานภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยคือคนที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

แม้ในเวลาที่อาจารย์เขียนงานด้านประวัติศาสตร์ตามภูมิหลังการศึกษาและวิชาชีพตัวเอง งานสำคัญอย่างการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ และประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ก็เต็มไปด้วยวิธีคิดที่จัดวางเรื่องนี้ในบริบทของเรื่องจนได้ข้อค้นพบและข้อเสนอที่ไม่มีมาก่อน

ในงานสำคัญของอาจารย์นิธิทั้ง 3 ชิ้น พระเจ้าตากสินไม่ได้พระสติวิปลาส พระองค์ถูกรัฐประหารเพราะมีเชื้อสายเจ๊ก ไม่มีรากเหง้าตระกูลขุนนาง และไม่สนใจฟื้นอำนาจข้าราชสำนักยุคกรุงเก่า, พงศาวดารอยุธยาถูก “ชำระ” หรือปรับปรุงเพื่อจรรโลงอำนาจยุคต้นรัตนโกสินทร์ และวัฒนธรรมพ่อค้ายุคต้นรัตนโกสินทร์เติบโตครอบคลุมถึงชนชั้นนำ

ควรระบุว่าอาจารย์นิธิเขียนงานกลุ่มนี้ช่วง พ.ศ.2523 ซึ่งกระแสหลักของสังคมไทยและวงวิชาการไม่มีใครพูดแบบนี้เหมือนกับที่พอมีเสียงซุบซิบบ้างในปัจจุบัน ขณะที่กระแสหลักของวงวิชาการแนวทางเลือกก็เชื่อว่าสังคมไทยเป็น “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” จนคนกลุ่มนี้เป็นต้นตอของปัญหาทุกอย่างโดยชนชั้นกลางหรือชนชั้นนายทุนไม่มีบทบาทอะไรเลย

น่าสนใจว่า “หลักฐาน” ที่อาจารย์นิธิใช้ในการเขียนงานทางประวัติศาสตร์คือ “วรรณคดี” และถ้ายอมรับว่า “วรรณคดี” คือหนึ่งในอาณาจักรทางวิชาการที่ประชาชนแตะต้องไม่ได้ สิ่งที่อาจารย์นิธิทำคืออ่านวรรณคดีโบราณอย่างแม่นยำด้วยมิติทางประวัติศาสตร์จน “รื้อโครงสร้าง” แล้วสร้าง “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” แนวใหม่ที่สมเหตุสมผลกว่าเดิม

 

สื่อบางคนพูดว่าอาจารย์นิธิเป็น “ฝ่ายซ้าย” เพราะพูดถึงประชาชน แต่ที่จริงความเป็นซ้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด แต่ต้องดูว่าพูดอย่างไร อาจารย์นิธิคือปัญญาชนเสรีนิยมที่รู้เรื่องวรรณคดีและไม่ดังเลยในวันที่กระแส “ฝ่ายซ้าย” พุ่งสูงสุดและ “ฝ่ายขวา” คลั่งที่สุดในทศวรรษ 2520 แต่เพิ่งจะถูกพูดถึงที่สุดหลังทศวรรษ 2530 เท่านั้นเอง

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น ต้องพูดด้วยว่าความเป็นเสรีนิยมของอาจารย์นิธิหมายถึงเรื่องการเมือง เพราะในทางเศรษฐกิจนั้น อาจารย์นิธิให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่างมาก และความยอมรับที่นักเศรษฐศาสตร์มีต่ออาจารย์นิธิประเด็นนี้ก็สูงจน TDRI เคยเชิญอาจารย์ไปปาฐกถานำเรื่องนี้เลยทีเดียว

ถ้าจะสรุปว่าความยิ่งใหญ่ของอาจารย์นิธิคืออะไร ผมคิดว่าอาจารย์ยิ่งใหญ่ในฐานะ “ปัญญาชนสาธารณะ” ที่ถือว่าตัวเองมีพันธกิจในการสร้างความรู้และสังคมที่มนุษย์มีเสรีภาพขึ้น เป้าหมายนี้หมายถึงการอยู่ในสังคมแบบ “คนนอก” ของสถาบันหลักต่างๆ แต่เผชิญหน้ากับระบบที่เป็นอยู่ไม่หยุด ซ้ำยังผลักดันประเด็นต่างๆ สู่สาธารณะอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าอาจารย์นิธิจะจากไปกี่ปี คุณูปการที่อาจารย์มีต่อสังคมในแง่ปัญญาชนและประชาชนก็มีเยอะไปหมด

อาจารย์เป็นคนพูดเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซึ่งวันนี้พลังของมันแสดงออกจนพรรคที่ชนะอันดับ 1 ถูกไล่ไปเป็นฝ่ายค้าน

และแม้กระทั่งตอกย้ำว่าความซื่อตรงและมีกระดูกสันหลังคือเครื่องแบ่งแยกระหว่างปัญญาชนที่น่านับถือกับคนเฮงซวย