น้ำปนเปื้อนที่ฟุกุชิมะ สะเทือนร้านอาหารญี่ปุ่นในจีน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศญี่ปุ่น ทั้งชีวิตผู้คนและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดความร้อนสูง และทำให้น้ำที่อยู่ในโรงไฟฟ้าเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งทางโรงไฟฟ้ายังต้องคอยสูบน้ำเข้าไปตลอดเวลา เพื่อทำให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เย็นลง นอกจากนี้ ก็ยังมีน้ำจากใต้ดิน และน้ำฝนที่ไหลเข้าไปสมทบ ทำให้มีน้ำปนเปื้อนอยู่รอบๆ โรงไฟฟ้าจำนวนมาก ทางโรงไฟฟ้าจึงได้สร้างแท็งก์น้ำขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ไว้

กระทั่งบริษัทเทปโก้ ยกเลิกกิจการไฟฟ้าดังกล่าว จึงต้องหาทางกำจัดสารกัมมันตรังสีเหล่านี้

โดยเมื่อเดือนเมษายน 2021 ญี่ปุ่นได้ประกาศแผนการทยอยปล่อยน้ำเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ที่ผ่านการบำบัดเพิ่มเติมและเจือจาง จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

ซึ่งเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นระบุว่า จะค่อยๆ ปล่อยน้ำเสียดังกล่าวลงมหาสมุทรเป็นระยะเวลาหลายสิบปี จากอุโมงค์ใต้ทะเล ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์น้ำ

กระทั่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ ระบุว่า แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก ญี่ปุ่นจึงได้เริ่มพิจารณาหาเวลาในการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล

โดยมีรายงานว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวลงสู่ทะเลในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายนนี้

 

แต่แผนดังกล่าวก็ได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากชุมชนประมงท้องถิ่น และประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จีน รวมไปถึงประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่กังวลในเรื่องของความปลอดภัย

ด้วยความกังวลดังกล่าว ทำให้หลายประเทศระงับการนำเข้าสัตว์ทะเลจากประเทศญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว

รวมถึงประเทศจีน ที่ถือว่าเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น ที่ประกาศระงับการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น

ตอนนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศจีน กำลังเริ่มประสบชะตากรรมลำบาก อันเนื่องมาจากมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นดังกล่าว เพราะขาดแคลนวัตถุดิบหลักอย่างอาหารทะเล

หลายร้านเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 หลังจากจีนเพิ่งผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ต้องมาเจอกับปัญหาวัตถุดิบอาหารทะเลอีก

 

คาซูยูกิ ทานิโอกะ ชาวญี่ปุ่นวัย 49 ปี ที่มาจากเมืองคุมาโมโตะ ตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น โตยะ ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เขามีความกังวลว่า จะสามารถเปิดร้านได้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะการนำเข้าวัตถุดิบอาหารต่างๆ เป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายสำหรับร้านอาหาร

ขณะที่เคนจิ โคบายาชิ วัย 67 ปี เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นอีกแห่งในกรุงปักกิ่ง บอกว่า จีนแจ้งว่าน้ำมีการปนเปื้อน ส่วนญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำสะอาดบริสุทธิ์ ความแตกต่างระหว่างความคิดของทั้งสองฝั่ง ได้ส่งกระทบต่อความเข้าใจของผู้คน

ตอนนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นในจีน ได้เริ่มมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร และวัตถุดิบในการปรุง เพื่อความอยู่รอดของร้าน

ทานิโอกะบอกว่า ตอนนี้พวกเขาต้องมุ่งเน้นไปที่แหล่งอาหารทะเลในประเทศจีน หรือจากประเทศอื่นๆ หากความพยายามนี้สำเร็จ ธุรกิจของพวกเขาก็จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต

 

ตอนนี้ ทางการญี่ปุ่นเองก็พยายามขอให้ทางการจีน รวมไปถึงฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น หลีกเลี่ยงการแบนอาหารทะเลของญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ประสบผล

แม้ว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในจีน จะไม่พอใจกับมาตรการแบนดังกล่าว หากแต่ผู้บริโภคในจีนกลับมองว่า ความเข้มงวดดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย และสบายใจ

การปล่อยน้ำปนเปื้อนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ จึงสะเทือนไปไกลถึงร้านอาหารญี่ปุ่นในจีน