ทำไมนักวิ่งมีอาการ ‘ฟิน’ | พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

มีหลายคนบอกว่าการวิ่งสามารถสร้างความสุข เบิกบานใจให้กับเราได้ เป็นอาการฟินแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “high” คล้ายกับเวลาที่คนเสพสารบางชนิดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้เกิดความสุขและยับยั้งอาการเจ็บปวด

ซึ่งก็มีนักวิจัยค้นพบว่าความรู้สึกฟินจากการวิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงๆ แต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในการวิ่งทุกครั้งและทุกคนเสมอไป

เมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยทำการศึกษาว่าสมองของเราตอบสนองต่อการวิ่งอย่างไรบ้าง แล้วก็พบว่าความรู้สึกฟินจากการวิ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด

โดย ดร.เดวิด ไรช์เลน (Dr. David Raichlen) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) บอกว่า ในสมัยก่อนบรรพบุรุษของเราออกวิ่งล่าสัตว์มาเป็นอาหารและทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อการดำรงชีวิต

ความต้องการอยู่รอดเป็นแรงจูงใจให้บรรพบุรุษวิ่ง และสารแห่งความสุขในสมองหลั่งออกมาเพื่อให้สามารถวิ่งด้วยความเร็วและได้ระยะทางไกลเท่าที่ใจต้องการ

แม้ปัจจุบันมนุษย์ไม่จำเป็นต้องออกวิ่งล่าสัตว์มาเป็นอาหารแบบในยุคโบราณแล้ว

แต่กระบวนการทางสมองดังกล่าวก็ยังอยู่ในตัวเรา ซึ่งหากเราเรียนรู้วิธีจุดประกายให้เกิดปฏิกิริยาทางสมองนี้ขึ้นมาได้ ก็จะช่วยให้เรารู้สึกฟินอยู่เสมอเวลาที่วิ่งออกกำลังกาย ทำให้การวิ่งเป็นเรื่องที่น่าหลงใหล

 

สารแห่งความสุขและบรรเทาอาการปวดที่สมองหลั่งออกมาตามธรรมชาติ ก็คือ ฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ที่หลายคนรู้จักกันดี ให้ฤทธิ์เหมือนกับมอร์ฟีนในทางการแพทย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิ่งทุกยุคทุกสมัยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขามีอาการฟินในขณะวิ่ง แต่ก็ไม่เคยมีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรเป็นต้นเหตุของความรู้สึกฟิน

กระทั่งในปี 2008 ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันได้ทำการสแกนสมองของนักวิ่งที่ร่วมทดสอบในการวิ่งที่ความเร็วสม่ำเสมอ 9-11 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเวลา 2 ชั่วโมง และพบต้นตอของอาการฟิน

โดยเมื่อร่างกายเริ่มรู้สึกไม่สะดวกสบายในขณะวิ่ง สมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal) และระบบลิมบิก (limbic) ซึ่งทำหน้าที่รับรู้อารมณ์และพฤติกรรมของผู้ทดลอง จะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาเพื่อตอบสนองกับความรู้สึกเจ็บปวดไม่สบาย และสร้างอารมณ์ปลาบปลื้มให้นักวิ่ง

 

ดร.แมตธิว ฮิลล์ (Dr. Matthew Hill) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันสมองฮอตช์คิส แห่งมหาวิทยาลัยแคลการี (University of Calgary’s Hotchkiss Brain Institute) ประเทศแคนาดา บอกว่าสารเอ็นดอร์ฟินก็คือยาแก้ปวดที่สมองหลั่งออกมาโดยอัตโนมัติเพื่อสนองต่อความรู้สึกไม่สะดวกสบาย ช่วยให้ร่างกายรู้สึกฟินและยับยั้งความรู้สึกเมื่อยล้าของขาและอาการเจ็บปวดบวมพองที่เท้าในช่วงเวลาที่วิ่งออกกำลังกาย

ดังนั้น ถ้าต้องการให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาในขณะวิ่ง เราก็ต้องออกจาก comfort zone ผลักดันร่างกายให้มากขึ้น แต่ไม่หนักจนเลือดตาแทบกระเด็น หาจุดที่ทำให้ร่างกายรู้สึกถึงความท้าทาย เช่น การวิ่งเทมโป (Tempo run) ซึ่งคือการวิ่งในระดับความเร็วคงที่ตลอดเวลา โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ 85% ซึ่งถือเป็นการวิ่งแบบค่อนข้างเร็ว แต่ไม่เร็วมากถึงขั้นทรมานร่างกาย

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มวิ่งเทมโปใหม่ๆ ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ฝึกวิ่งอย่างน้อย 20 นาทีในขั้นเริ่มต้น และพยายามเพิ่มเวลาขึ้นทีละนิดจนตัวเองสามารถวิ่งในความเร็วคงที่ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

 

ดร.ซินดร้า แคมฟอฟฟ์ (Dr. Cindra Kamphoff) ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยากีฬาและสมรรถภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สเตต (Center for Sport and Performance Psychology at Minnesota State University) บอกว่านักวิ่งส่วนใหญ่ที่เคยทำงานร่วมกับเธอ ต่างก็สัมผัสได้ถึงสารเอ็นดอร์ฟินเมื่อพวกเขาผลักดันร่างกายไปได้ในระดับหนึ่ง แต่อาการฟินจะหายไปถ้าหากฝืนร่างกายถึงขีดสุด หรือถ้าวิ่งแบบสบายๆ เกินไป

ดังนั้น การวิ่งเหยาะๆ แค่ไม่กี่นาทีก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกอึดอัดและกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาได้

และเช่นเดียวกัน ถ้าวิ่งด้วยความเร็วและระยะทางที่โหดเกินไป สารเอ็นดอร์ฟินก็ไม่อาจกลบความเจ็บปวดที่เกินต้านทาน

มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) บอกว่าการมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาได้ดีเหมือนกัน

โดยในการทดสอบกับนักพายเรือแบบเดี่ยวกับแบบกลุ่ม พบว่าคนที่นั่งพายเรือเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ มีการหลั่งของสารเอ็นดอร์ฟินสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับคนที่นั่งพายเรือคนเดียว

หรือถ้าต้องออกกำลังกายคนเดียวลำพัง การสวมหูฟังและเปิดเพลงโปรด ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน

แม้ในงานวิจัยหลายชิ้นจะบอกว่าเวลาเกิดความรู้สึกไม่สบายกาย สารเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมาให้เกิดความสุข แต่ความจริงแล้วร่างกายเราก็มีการหลั่งสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid) ซึ่งร่างกายมนุษย์และสัตว์สามารถสังเคราะห์สารนี้ขึ้นเองตามธรรมชาติ

และเป็นสารเดียวกับที่ค้นพบในกัญชา เพื่อมายับยั้งความเจ็บปวดและควบคุมให้ร่างกายทำงานปกติ

 

สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายของมนุษย์มี 2 ตัว ได้แก่ อะนันดาไมด์ (Anandamide) Ananda ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความสุขสำราญ มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ลดความเจ็บปวด และทำให้รู้สึกสงบ

ส่วนอีกสารหนึ่งคือ 2-AG มีหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและปรับความดันเลือด

อะนันดาไมด์ในร่างกายมนุษย์มีการทำงานเหมือนกับ THC (เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล – Tetrahydrocannabinol) ที่พบในต้นแคนนาบิส (Cannabis พืชจำพวกกัญชา) เป็นสารที่ทำให้รู้สึกเมาและฟิน (high) จากการสูบกัญชาที่ผ่านความร้อน โดยคนที่สูบกัญชาจะเกิดความผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม มีประสาทสัมผัสรับรสอาหารดีขึ้น และกระตุ้นการอยากอาหาร

เชื่อกันว่าสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์จะทำงานตอบสนองได้ดีในภาวะความเครียดมากกว่าในภาวะอาการเจ็บปวด

แต่การแยกความต่างระหว่างความเครียดกับความเจ็บปวดขณะวิ่งนั้นทำได้ยาก

ดังนั้น ร่างกายจึงหลั่งทั้งสารเอ็นดอร์ฟินและเอ็นโดแคนนาบินอยด์มาสร้างอาการฟินในระหว่างการออกกำลังกายที่ท้าทาย

 

ดร.ไรช์เลนบอกว่า การวิ่งที่อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด 70-85% ตามอายุของแต่ละคนคือระดับเหมาะสมเพื่อที่จะไปกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ส่งผลให้ร่างกายสร้างสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ออกมายับยั้งและสร้างอาการฟินในขณะวิ่ง

ทั้งนี้ ดร.เซซิเลีย ฮิลเลิร์ด (Dr. Cecilia Hillard) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ของวิทยาลัยการแพทย์แห่งรัฐวิสคอนซิน (Neuroscience Research Center at the Medical College of Wisconsin) พบว่าคนเราจำเป็นต้องนอนอย่างน้อยคืนละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายสร้างสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์มาเพิ่มอาการฟินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเธอยังค้นพบว่าระดับการสร้างสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในช่วงเช้านั้นดีกว่าในช่วงใกล้เวลานอนถึง 3 เท่า

ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันเรื่องช่วงเวลาวิ่ง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การวิ่งในตอนเช้าจะสร้างอาการฟินได้ดีกว่าวิ่งในตอนบ่ายหรือค่ำซึ่งร่างกายเริ่มอ่อนล้ามาทั้งวัน

ใครที่อยากทราบว่าอาการฟินระหว่างวิ่งเป็นอย่างไร และวิ่งช่วงเวลาไหน ฟินมากกว่ากัน ก็ต้องออกไปวิ่งพิสูจน์ด้วยตัวเองครับ