พรรคเพื่อไทย บนเส้นทางที่ซ้ำรอย กับพรรคประชาธิปัตย์?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

พรรคเพื่อไทย
บนเส้นทางที่ซ้ำรอย
กับพรรคประชาธิปัตย์?

 

การออกแบบการเลือกตั้งภายใต้ระบบบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัครเขต อีกใบเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เริ่มจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 ว่างเว้นเพียงครั้งเดียวที่เปลี่ยนกลับไปใช้บัตรใบเดียวแต่ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองประเภท ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562

การได้รับชัยชนะในบัตรบัญชีรายชื่อนั้นอยู่บนพื้นฐานของคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองเป็นหลัก ว่าพรรคนั้นมีผู้นำพรรคที่เป็นที่นิยมของประชาชนเพียงไร มีนโยบายที่โดดเด่นจูงใจให้คนมาลงคะแนนมากน้อยเพียงไร หรือพรรคนั้นมีกระแสนิยมในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงไร

ในขณะที่การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเขตนั้นกลับมีหลายปัจจัยประกอบกันและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเรื่องคะแนนความนิยมส่วนบุคคล อำนาจบารมีในพื้นที่ การใช้เงินจูงใจผู้เลือกตั้ง ไปจนถึงกระแสความนิยมของพรรคที่บางครั้งอาจเป็นแค่ลมใต้ปีกที่สนับสนุน แต่ในบางเขตอาจเป็นลมพายุที่พัดกระหน่ำนำไปสู่ชัยชนะที่คาดไม่ถึงทั้งๆ ที่ตัวผู้สมัครอาจเป็นรองหลายเท่าตัว

 

อดีตของพรรคประชาธิปัตย์

การเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ยืนยาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 เป็นเวลานับถึงปัจจุบัน 77 ปี เป็นพรรคที่เคยมีฐานะเป็นทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน มีนักการเมืองในแต่ละรุ่นที่เป็นตำนานทางการเมือง นับแต่ นายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายสมัคร สุนทรเวช นายชวน หลีกภัย นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายวีระ มุสิกพงศ์ มาจนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ความรุ่งเรืองของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถึงขนาดมีวลีที่ติดปากในยุคหนึ่งว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ได้เป็น ส.ส.” แสดงถึงกระแสนิยมของพรรคดังกล่าวที่มีในภาคใต้ และ พื้นที่กรุงเทพมหานคร

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน โดยได้คะแนนจากบัตรบัญชีรายชื่อ 925,349 คะแนน ได้ ส.ส.เขต จำนวน 22 คน โดย 19 คน เป็น ส.ส.ในภาคใต้ อีก 3 คน กระจายในจังหวัดอุบลราชธานี สกลนคร และแม่ฮ่องสอน ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว โดยส่วนใหญ่จะได้คะแนนเสียงในประมาณลำดับที่ 4 หรือ 5 รองจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ

ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น เช่น พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ นายวัชระ เพชรทอง นายธนา ชีรวินิจ ล้วนได้คะแนนเสียงไม่ถึงหมื่นคะแนน แสดงถึงกระแสพรรคที่เป็นลบ จากการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการเป็นรัฐบาลที่ถึงแม้จะมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ และใช้เงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนนั้นไม่ได้ช่วยในการเพิ่มคะแนนเสียงแต่อย่างใด

ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ได้ จึงมาจากความสามารถในการหาคะแนนส่วนบุคคลด้วยวิธีการของตนเองมากกว่าการมาจากกระแสนิยมของพรรค

 

อดีตของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยนั้น เดิมคือพรรคไทยรักไทย ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2541 ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 ได้ ส.ส.ถึง 248 คน เหนือพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่ได้ ส.ส.เพียง 128 คน และเคยประสบความสำเร็จสูงสุดในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2549 ที่ได้ ส.ส.ถึง 377 คน ได้รับคะแนนเสียงถึง 18,993,073 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวและเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถูกยุบใน ปี พ.ศ.2550 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพลังประชาชน ก็ยังชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2550 ได้ ส.ส.จำนวน 233 คน และเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเพื่อไทย ก็ยังชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด จนการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2566 กลายเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับสองด้วยจำนวน ส.ส. 141 คน ได้คะแนนเสียง 10,962,522 คะแนน

น้อยกว่าพรรคก้าวไกลที่มาเป็นอันดับหนึ่งด้วย ส.ส. 151 คน ที่ได้คะแนน 14,438,851 คะแนน

 

กายวิภาคของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

อนาคตของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะสามารถฟื้นคืนความเป็นพรรคอันดับหนึ่งหรือเป็นการผ่านจุดที่เคยสูงสุดมาแล้วและอาจเดินตามรอยพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยผ่านจุดที่เคยสูงสุดในอดีตมาแล้วและกำลังกลายเป็นพรรคที่มีกระแสนิยมลดลง

การผ่าให้เห็นกายวิภาค (Anatomy) หรือสิ่งที่อยู่ภายในพรรค อาจทำให้เกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริงของพรรค

1) พรรคเพื่อไทยเคยเป็นพรรคแนวเสรีนิยม ในยุคที่พรรคอื่นมีความเป็นอนุรักษนิยม การเสนอนโยบายที่แปลกใหม่ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคแรกๆ และนำประสบการณ์ในทางธุรกิจมาใช้ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นยังยึดมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินแบบระบบราชการ จึงทำให้พรรคไทยรักไทยในช่วงปี 2541-2550 เป็นพรรคการเมืองที่มีความแปลกใหม่ เป็นความหวังของประชาชนและได้คะแนนนิยมอย่างท่วมท้น

2) กระแสนิยมที่ขึ้นสูงของพรรคไทยรักไทย กับความปรารถนาอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้พรรคไทยรักไทยอ้าแขนรับนักการเมืองรุ่นเก่าที่เห็นประโยชน์จากกระแสพรรคมาอยู่ร่วมกันในพรรค ทำให้พรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันเป็นพรรคใหญ่ที่ประกอบด้วยส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยในส่วนกลางที่เป็นแกนนำ และมีส่วนของนักการเมืองอนุรักษนิยมประเภทบ้านใหญ่ที่เล่นการเมืองแบบเก่า อยู่ร่วมกันในพรรคเดียวกัน

3) ตราบใดที่ไม่มีพรรคการเมืองใหม่ ที่เสนอแนวนโยบายที่ดีกว่า แปลกใหม่กว่า หรือเป็นความหวังของประชาชนได้มากกว่า พรรคเพื่อไทยจะยังคงครอบครองที่นั่งในสภาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากนโยบายที่ทันสมัย ผสมผสานกับความเป็นบ้านใหญ่หรือผู้มีบารมีทางเมืองในระดับท้องถิ่นที่มารวมกัน

4) เมื่อใดก็ตามที่มีพรรคการเมืองพรรคใหม่ที่เสนอนโยบายที่ตรงใจประชาชนมากกว่า แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนกว่า เช่น พรรคก้าวไกล กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยจะถูกแย่งชิงไปโดยพรรคใหม่ ในขณะที่อิทธิพลของบ้านใหญ่ในการเลือกตั้งในระดับเขตนั้นนับวันยิ่งลดลง เนื่องจากโครงสร้างของประชากรที่มีคนรุ่นใหม่มากขึ้น คนชั้นกลางที่เป็นอิสระในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น และความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาบ้านใหญ่นับวันแต่จะลดน้อยลง

5) การได้เป็นรัฐบาลในหลายรอบ ทำให้พรรคเพื่อไทย ทั้งเข้าใจการทำงานระบบราชการ ทั้งสามารถควบคุม ทั้งปรับตัวเองตามเข้ากับรัฐราชการ หรือแม้กระทั่งยอมโอนอ่อนให้แก่อำนาจรัฐราชการเพื่อให้ตนสามารถอยู่รอด การปรับตัวดังกล่าวแม้จะมีข้อดีในการประคองการอยู่ในอำนาจ แต่ก็เป็นข้อเสียในด้านมุมมองของประชาชนว่า เป็นพรรคที่ยอมจำนนต่อชนชั้นนำในประเทศหรือทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำเสียเอง

จุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองและการตัดสินใจในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นปัญหาหนักที่พรรคเพื่อไทยเผชิญหน้าในปัจจุบัน จึงมีความหมายมากต่ออนาคตของพรรค

จะโอนอ่อนต่อกลุ่มอำนาจเดิมแล้วร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แล้วใช้โอกาสสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ หรือจะหวนไปจับมือกับพรรคก้าวไกลเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องคิด

คิดผิดได้ครั้งเดียวเท่านั้น