ปราชญ์ ผู้พิทักษ์ชนชาวบ้าน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2483-2566

บทความพิเศษ

 

ปราชญ์

ผู้พิทักษ์ชนชาวบ้าน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

2483-2566

 

หมายเหตุมติชนสุดสัปดาห์ : การจากไปของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลมติชนจึงได้คัดข้อเขียนจากเรื่อง “นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์เจ๊กๆ” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์อยู่ในหนังสือ พิเคราะห์ “นิธิ” ปราชญ์เจ๊กๆ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในวาระที่อาจารย์นิธิมีอายุครบรอบ 60 ปี แล้วศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ นำมาจัดพิมพ์ เมื่อมกราคม 2544 มานำเสนออีกครั้ง

 

ที่บ้านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมื่อสักสามสิบกว่าปีมาแล้ว ขรรค์ชัย บุนปาน กับผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับหนังสือ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ฉบับพิเศษ หรือฉบับใดฉบับหนึ่งก็ไม่รู้ที่ผมลืมไปแล้ว

บรรดาผู้ไปร่วมประชุมหลายสิบคนนั้น มีอยู่คนหนึ่งแต่งชุดขาวๆ คือนุ่งกางเกงขาว เสื้อแขนยาวขาวไม่ผูกเน็กไท ดูสะอาดสะอ้านน่าเคารพนับถือยิ่งนัก แต่ผมหมั่นไส้มาก เพราะท่าทางหยิ่ง จองหอง และพูดจาประสา “ปันยาชน ปนยาชัน” อย่างยิ่งจนฟังไม่รู้เรื่อง

“ใครวะ ไอ้หน้าตี๋ชุดขาวนั่นน่ะ” ผมกระซิบถามขรรค์ชัย

“ไม่รู้โว้ย แต่เขาชื่อ นิธิ เอียวครีวงค์” ขรรค์ชัยบอก “จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ น่ะ เขาว่ากำลังเรียนปริญญาโท มึงถามทำไม”

“เต๊ะชิบหาย” ผมบอกขรรค์ชัยอยู่ท้ายห้องประชุม เพราะเรายังเด็กๆ ยังเรียนอยู่ชั้นต้นๆ ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผมยังสอบตกตามสบายๆ

 

เสร็จงานประชุมวันนั้น ผมจดจำความเต๊ะของคนชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ ไว้ในใจคนเดียว แล้วอีกสักสองสามปีต่อมาผมก็ได้อ่านบทความเรื่องอาณาจักรทวารวดีของเขาที่พิมพ์ในหนังสือ “สามทหาร” ที่อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นบรรณาธิการ อ่านแล้วก็ยังงั้นๆ ไม่ได้ชอบ ไม่ได้ชื่นชม แต่หมั่นไส้ เพราะผมอ่านไม่รู้เรื่อง พื้นความรู้ของผมเองไม่มากพอที่จะอ่านบทความทางวิชาการอย่างนั้น

อีกไม่กี่ปีต่อมา ได้ข่าวว่าคนชื่อนิธิไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขรรค์ชัยกับผมไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสมอ แต่ไม่เคยพบคนชื่อนิธิ เพราะไปขลุกอยู่กับ “ท่านจันทร์” หรือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ที่ทรงไปสอนภาษาอังกฤษและโคลงกลอนอยู่ที่นั่น ต่อมา ก็รู้ข่าวว่าคนชื่อนิธิได้ทุนไปเรียนต่ออเมริกา

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน แล้วติดต่อนักวิชาการ “นักเรียนนอก” หลายคนมาเขียนบทความ แต่ไม่มีคนชื่อนิธิ เพราะหมั่นไส้ที่ขี้เต๊ะท่าทางยโสโอหัง ดูท่าเขาจะว่าเราเป็นคนโง่ เลยไม่อยากติดต่อ กลัวเขาจะดูถูก

เพราะผมไม่ใช่ “นักเรียนนอก” อย่างเขา

นกระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมตกงาน เพราะหนังสือพิมพ์ถูกปิด อาการหมั่นไส้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีกำเริบ ต้องออกหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อพฤศจิกายน 2522 ทำให้ต้องคอยติดตามงานวิชาการของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีมาพิมพ์ แล้วจู่ๆ ก็ได้ยินชื่อเสียงทางวิชาการของคนชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ขึ้นมายังงั้นแหละ

ความหมั่นไส้ที่เคยมีมาแต่เดิมหายไปเฉยๆ โดยไม่รู้สาเหตุ มีแต่ความกระหายใคร่อยากคุยด้วย ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกัน

ต่อมาได้อ่านบทความทางวิชาการของคนที่ผมเรียกขานเองว่า “อาจารย์นิธิ” อย่างน้อย 2 เรื่องคือ โลกของนางนพมาศ กับสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี จำไม่ได้แล้วว่าอ่านเรื่องไหนก่อน เกิดอาการต้องเนื้อเจริญใจเอามากๆ เพราะเป็นงานยอดเยี่ยม ต้องติดต่อขอมาพิมพ์ในหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม”

“ขอเรื่องสุนทรภู่ลงในศิลปวัฒนธรรมได้ไหมอาจารย์” ผมขออนุญาตอาจารย์นิธิในวันหนึ่ง

“ได้ซี่” อาจารย์นิธิตอบสั้นๆ ในวันนั้น

“ขออนุญาตปรับปรุงด้วยนะ” ผมบอก

“ได้ซี่” อาจารย์นิธิบอกด้วย

“ไม่ได้แก้ไขอะไรหรอก ขอจัดย่อหน้าใหม่แล้วก็ใส่หัวข้อย่อยให้เท่านั้น คนอ่านจะได้อ่านสะดวก อาจารย์เขียนหนังสืออ่านยาก ประโยคเป็นฝรั่ง ย่อหน้าที่นึงยาวตั้งเป็นวา อ่านลำบาก ขี้เกียจอ่าน ถ้าจัดย่อหน้าแล้วใส่หัวข้อย่อยเพิ่มเข้าไปนิดหน่อย จะอ่านง่าย สบายมาก” ผมชี้แจง

“ได้ซี่” อาจารย์นิธิพูดได้แค่นี้

 

ตอนนั้นผมรู้สึกอึ้ง เพราะไม่ใช่นิธิคนเดิมที่ผมเคยรู้สึกเอาเองว่าหยิ่งยโสโอหังบังอาจ หมั่นไส้ แต่กลายเป็น “อาจารย์นิธิ” ที่สุภาพเรียบร้อย เงียบขรึม ไม่ค่อยหัวเราะ ถึงหัวเราะก็เพียงหึหึในลำคอ แต่ดูน่ารักและมีเมตตา

ไม่นานเดือนหลังจากนั้น หนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ขึ้นปกเรื่องสุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี ของอาจารย์นิธิ หนังสือขายดีมาก

วันหนึ่งอาจารย์นิธิลงจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ผมนัดกินเหล้า แต่อาจารย์นิธิกินเบียร์ แล้วคุยกันว่า “เขียนงานทางวิชาการมาตั้งนาน ไอ้ห่าไม่มีคนอ่านเลย ไม่มีใครทักถาม แต่พอเรื่องสุนทรภู่ลงในศิลปวัฒนธรรม มีแต่คนทักถามว่าอ่านแล้ว เขาว่าอ่านง่าย อ่านสะดวก ผมว่าจริงแฮะ ไอ้วิธีย่อหน้า ถ้าเรื่องยาวๆ ก็ให้มีหัวข้อย่อย ดีว่ะ จะเขียนให้อีก” อาจารย์นิธิบอกกับผมแล้วก็จิบเบียร์เย็นๆ

“ผมจำมาจากอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วประสมกับวิธีเขียนหนังสือพิมพ์รายวันน่ะ”

“งานวิชาการน่าจะต้องปรับปรุงได้แล้ว ไม่งั้นคนอ่านไม่รู้เรื่อง”

อาจารย์นิธิย้ำ “ผมกำลังเขียนเรื่องพระเจ้าตาก สนใจจะพิมพ์ไหมล่ะ”

“เอาหมด” ผมตะโกนเบาๆ “เขียนอะไรก็เอาหมด พิมพ์หมด เจ๊งเป็นเจ๊ง”

 

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถ้าอาจารย์นิธิลงมากรุงเทพฯ ผมต้องขอนัดกินข้าวกินเหล้า แม้อาจารย์นิธิจะคอเบียร์ แต่ก็คุยกันได้รสเมาเหมือนๆ กัน ไม่ใช่คุยธรรมดาๆ เพราะผมกลายเป็นนักเรียนใหม่ที่ตั้งคำถามในวงเหล้าให้ “ครู” ที่ชื่ออาจารย์นิธิอธิบาย หลายรสหลายเรื่องที่ขบไม่แตก พอถาม “ครู” เท่านั้นผมก็ได้คำอธิบายไปคิดไปค้น

ไม่นานนัก อาจารย์นิธิก็ส่งต้นฉบับเรื่องพระเจ้าตากให้ผมทางไปรษณีย์ เป็นกล่องกระดาษบรรจุต้นฉบับพิมพ์ดีดกล่องโต ผมถ่ายสำเนามาปรับปรุงย่อหน้าแล้วให้หัวข้อย่อยตามปกติ แล้วส่งเข้าโรงพิมพ์จนกระทั่งหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” พิมพ์เสร็จ วางตลาดเรียบร้อย วงการประวัติศาสตร์ตื่นเต้นต่องานวิชาการของอาจารย์นิธิอย่างยิ่ง ก่อนหน้าหนังสือจะวางตลาด อาจารย์นิธิบอกกับผมว่า

“เฮ้ย สุจิตต์ น่าจะจัดเสนอรายงานเรื่องนี้เพื่อโปรโมตหนังสือดีไหม”

“ดีซี่” ผมตอบ และรู้ดีว่าอาจารย์นิธิเป็นห่วง เกรงหนังสือจะขายไม่ได้ กลัวผมจะเจ๊ง “เอาที่ไหนดีล่ะ ธรรมศาสตร์ ศิลปากร หรือตามโรงแรม”

“เฮ้ย ไม่ดี เอาที่บ้านคุณนั่นแหละ บ้านคุณเป็นสำนักงานศิลปวัฒนธรรมนี่หว่า แล้วก็อยู่ติดกำแพงเมืองพระเจ้าตากด้วย เหมาะดี”

“ชิบหายเลยอาจารย์…” ผมผงะ “ขืนทำอย่างนั้นผมชิบหายแน่”

“ทำไม” อาจารย์นิธิถามอย่างงงๆ

“อย่าเอ็ดไป ซอยบ้านช่างหล่อบ้านผมนี่นะเป็นพวกลูกเสือชาวบ้านเกือบหมดซอย”

เป็นอันล้มเลิกโครงการเสนอรายงานเรื่องพระเจ้าตาก แต่ถึงกระนั้นก็มีปัญหาเกิดขึ้นจนได้ โชคดีที่ขรรค์ชัยแก้ปัญหาให้

 

ขรรค์ชัยติดอกติดใจข้อเขียนของอาจารย์นิธิมาก เลยให้ผมนัดพบกินเหล้ากันในวันหนึ่ง อาจารย์นิธิกินเบียร์เหมือนเดิม มีอารมณ์ขันมากขึ้น หัวเราะดังขึ้น สูบบุหรี่ถี่ขึ้น พูดสัปดนบ้างเป็นบางคราว

“ปีนี้พี่นิธิอายุเท่าไรแล้วครับ” ขรรค์ชัยถามนอบน้อม เรียกอาจารย์นิธิว่า “พี่” อย่างชัดถ้อยชัดคำ

“อ่อนกว่าคุณนิดหน่อย” อาจารย์นิธิใช้อารมณ์ขันตอบ พร้อมเสียงหัวเราะลั่นบ้าน หัวเราะกันทุกคน ผมก็หัวเราะ “จะมาถามทำไมตอนนี้”

“ไม่ใช่” ขรรค์ชัยพูดขึ้นตามสไตล์ด้วยคำปฏิเสธก่อนเสมอ “ผมจะเชิญมาเขียนประจำที่มติชน แต่ใครอายุน้อยๆ ผมไม่ให้เขียน” ว่าแล้วก็หัวเราะกันอีก

“เฮ้ย เฮ้ยเดี๋ยว เดี๋ยว” อาจารย์นิธิเริ่มต้นตามสไตล์เหมือนกัน “เอาซี่เอาซี่ งั้นผมอายุมากกว่าคุณก็แล้วกัน”

“เริ่มพรุ่งนี้เลย ส่งต้นฉบับได้ เอาอาทิตย์ละครั้ง ค่าเรื่องผมจัดการให้เอง” ขรรค์ชัยอธิบาย

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อาจารย์นิธิก็เขียนคอลัมน์ประจำที่มติชนรายวัน หลังจากนั้น เสถียร จันทิมาธร ก็ขอให้เขียนประจำที่มติชนสุดสัปดาห์ เป็นข้อเขียนทรงคุณค่าที่นักอ่านทุกเพศทุกวัยติดตาม คนทำครัวที่ “เรือนอินทร์คอร์ท” ก็อ่าน

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียนวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีจนปริญญาเอก แล้วได้รับการยกย่องเป็น “ศาสตราจารย์” ด้วยผลงานทางวิชาการอันล้นเหลือโดยไม่ต้องผ่านผู้ช่วย และรอง และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการอย่างกว้างขวางว่ารอบรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี มานุษยวิทยา ฯลฯ รวมสาขาสังคมศาสตร์ทั้งมวลทีเดียว

นอกจากงานด้านประวัติศาสตร์แล้ว ผมชอบอ่านงานด้านวรรณคดีไทยที่อาจารย์นิธิเขียน โดยเฉพาะหนังสือ “ปากไก่และใบเรือ” ที่คุณพี่ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ แห่งอมรินทร์การพิมพ์ เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่าย ถือเป็นตำราประวัติวรรณคดีไทยที่มีคุณค่ามาก

อาจารย์นิธิใช้วิชาประวัติศาสตร์กับวรรณคดีมาประสานกันแล้วอธิบายพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างตื่นเต้น ถือเป็น “ครู” ทางวรรณคดีได้อีกทางหนึ่ง

ด้วยเหตุที่มีพื้นมาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬฯ ทำให้อาจารย์นิธิแม่นยำและเชี่ยวชาญวรรณคดีไทยอย่างยิ่ง ส่งผลให้ภาษาเขียนละเมียดละไมละมุนละม่อม แต่มีไฟกองย่อมๆ ซ่อนไว้อย่างไม่มิดชิดนัก จึงมีเปลวแลบออกมาตลอด

 

อาจารย์นิธิไม่ใช่ “อาจารย์แสวงหาศิษย์” แต่มีผู้สมัครเป็นศิษย์ทุกรุ่นทุกเพศและทุกวัย ปกติแล้วจะไม่ชอบปรากฏตัว ถ้าปรากฏตัวก็หมายถึง “งาน” เพื่อชุมชนคนเล็กๆ ที่ถูกรังแก

ผลงานของอาจารย์ในระยะหลังๆ จึงเต็มไปด้วยพลังของการต่อสู้เพื่อชุมชนคนเล็กๆ วิชาการของอาจารย์นิไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองคนชั้นบน แต่เพื่อคนชั้นล่างของสังคม

“อั๊วว่านิธิเขาหลุดพ้นจากความเป็นศาสตราจารย์ทางวิชาการแล้วว่ะ” อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บอกผมวันหนึ่ง “ลื้ออ่านบทความในมติชนของนิธิซี่ อั๊วว่าเขามีพลังมากนะ”

อาจารย์ศรีศักรเป็นรุ่นพี่อาจารย์นิธิที่คณะอักษรศาสตร์ แต่อาจารย์นิธิเคารพนับถืออาจารย์ศรีศักรเป็น “ครู” อาจารย์ศรีศักรนับถืออาจารย์นิธิเป็น “ปราชญ์” เมื่อหลายปีมาแล้วผมเคยเสนอแนวคิดทางวัฒนธรรมของอาจารย์สองท่านนี้ แล้วพาดปกหนังสือศิลปวัฒนธรรมว่า “สิงห์เหนือ” คืออาจารย์นิธิ ปะทะ “เสือใต้” คืออาจารย์ศรีศักร ทั้งสองท่านต่างให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ

“อาจารย์นิธิน่ะรึ สูงสุดคืนสู่สามัญแล้ว” ผมแสดงความเห็นกับศรีศักร

“อ่านตัวหนังสือของอาจารย์นิธิดูซี่ มีพลัง ตื่นเต้น สนุกสนาน อารมณ์ขันแพรวพราว แต่เวลาด่าแล้วเช็ดเลย ระหว่างบรรทัดมีแต่ความหมายชับซ้อน อ่านผ่านก็ว่าชม แต่ค้นระหว่างบรรทัด อ้าว ด่านี่

อ่านนามสกุลอาจารย์นิธิว่า “เอียวศรีวงศ์” ก็รู้ได้ทันทีว่า “ลูกเจ๊ก” แหงๆ เรื่องนี้อาจารย์นิธิไม่ได้ปิดบังหรืออับอายใดๆ แถมยังเขียนบอกไว้ในคำนำหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ด้วยซ้ำไปว่า “ในฐานะที่มีสำนึกของเจ๊กเช่นนี้ ข้าพเจ้าอดรู้สึกศรัทธาและชื่นชมต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ งานศึกษาชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยความศรัทธาและชื่นชมที่มีอยู่ในส่วนลึกของสำนึกดังกล่าว”

เช่นเดียวกัน ผมก็รู้สึกศรัทธาและชื่นชมต่ออาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาตั้งแต่ก่อนได้รับรางวัลฟูกุโอกะแล้ว รางวัลไม่มีความหมายนักหรอก แต่ความเป็น “นักปราชญ์เจ๊กๆ” นี่ซี่สำคัญนัก

ในฐานะที่ผมเป็นลูก “เจ๊กปนลาว” ย่อมศรัทธาและชื่นชมอยู่ในส่วนลึกๆ ของสำนึกดังกล่าวเป็นธรรมดาๆ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดำรงหลัก

ปราชญ์เจ๊กเจ๊กผู้พิทักษ์ชนชาวบ้าน

เหนือตำแหน่งแห่งศาสตราจารย์

เหนือวิชาการเหนือลำนำเหนือคำยอ