รอเลือดบริสุทธิ์ | คำ ผกา

คำ ผกา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่านี่เป็นห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดห้วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และมีอะไรพลิกผันให้ลุ้นและผิดคาดกันรายชั่วโมง

ทั้งนี้ เราต้องบันทึกเอาไว้ด้วยว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ถือเป็นนวัตกรรมและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางการเมืองไทยหรือพูดตามคำศัพท์ของ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนการมัดตราสังสังคมให้เคลื่อนตัวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แม้จะมีการเลือกตั้งมาแล้วถึงสองครั้งคือ 2562 และ 2566

ประการแรก มันเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาก นั่นคือในทุกครั้งที่จะแก้รัฐธรรมนูญต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 84 คน ซึ่ง ส.ว.เหล่านี้ถูกแต่งตั้งมาโดยผู้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือ เจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก และหากใครอยากแก้รัฐธรรมนูญของเขาก็ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก “พวก” ของประยุทธ์หนึ่งในสามเสมอ

และต่อให้ได้ความเห็นชอบมาตามจำนวนที่กำหนดแล้ว ปรากฏว่า ยังมีการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญไว้อีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกจากกระบวนการสภาแล้วต้องทำประชามติด้วย

และนี่คือสาเหตุที่ตลอดเวลาของรัฐบาลที่แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น

สำเร็จไปแค่เรื่องเดียวคือเรื่องระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ

มองในแง่นี้ก็ดีขึ้นนิดหน่อย อย่างน้อยไม่มี ส.ส.ปัดเศษ และพรรคเล็กพรรคน้อยที่มี ส.ส. 1 คนแล้วไปแพ็กรวมกันสิบกว่าพรรคกลายเป็นก๊วนที่มี ส.ส.รวมกันสิบกว่าคนจนสร้างอำนาจต่อรองราคา “กล้วย” ได้

 

มรดกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พัวพันมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 จากด่านแรกที่เจอคือ ต้องใช้เสียงในสภาถึง 376 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ

ยากไปกว่านั้นเมื่อพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิมที่เป็นคู่แข่งกันอย่างเพื่อไทยและก้าวไกล มีจำนวน ส.ส.ที่ห่างกันแค่ 10 ที่นั่งพยายามจะพาประเทศไทยออกจากการติดหล่มมรดกรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วยการจับมือกันเป็นรัฐบาลผสม และส่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตของพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ

ด่านแรกที่เจอคือ แม้ในแปดพรรคจะมีเสียงมากถึง 312 เสียง แต่ก็ไม่สามารถหาเสียงมาเติมจนถึง 376 เสียงได้ พร้อมๆ กับการโดน “ตีรวน” ทั้งเรื่องหุ้นสื่อ ทั้งเรื่องข้อบังคับสภาข้อที่ 41 อันทำให้เราเห็นอีกครั้งว่า กลไกของมรดกคณะรัฐประหารยังคงทำงานอย่างแข็งขัน

ทำให้เกิดภาวะ “จำยอม” ต้องส่งความรับผิดชอบการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับสอง

 

สิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยต้องทำแบบไม่ต้องอ้อมค้อมหรือกระมิดกระเมี้ยนคือ หาพรรคมาร่วมรัฐบาลเพิ่ม เพื่อให้มีเสียงใกล้เคียงกับ 376 มากที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ฝั่งที่มี 188 เสียงรู้ว่าถ้าดึง 141 เสียงของเพื่อไทยออกจากก้าวไกล อำนาจการต่อรองย่อมเปลี่ยน เพราะจากการต่อรอง 312 กับ 188 จะกลายเป็น 188 กับ 141 ทันที

พูดง่ายๆ คือ จะมี 151 หรือจะมี 141 ก็น้อยกว่า 188 อยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่ทางฝั่ง 188 ยื่นเข้ามาคือ “พร้อมให้การสนับสนุนถ้าไม่มีพรรคก้าวไกล”

และนี่คือจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจที่สุด เพราะมันมีทางเลือกที่งดงาม ถูกต้องที่สุดคือเพื่อไทยกับก้าวไกลประกาศว่า เราจะไม่สยบยอมต่ออำนาจที่มิชอบ เราจะจับมือกันเป็นฝ่ายค้าน ประชาชนโห่ร้องยินดี แต่สิ่งที่ได้คือ รัฐบาลที่หน้าตาเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ตอนปี 2562 ไม่มีผิด และหลังจากนั้น “องคาพยพ” ก็จะยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง และกว้านซื้อ ส.ส.เข้าพรรคเพื่อให้กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และกลายเป็นเสียงข้างมากในที่สุด เหมือนที่เคยทำมาแล้วอย่างช่ำชอง

และดังที่ฉันเขียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคเพื่อไทยเลือกทางที่เสี่ยง นั่นคือ เลือกเดินออกจากพรรคก้าวไกล แสวงหาพรรคร่วมใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยเชื่อว่าการพลิกขั้วทำให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในปีกที่จะเป็นรัฐบาล จึงมีอำนาจต่อรองสูงสุด

และเชื่อว่าหากไม่มีก้าวไกล จะสามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้มากขึ้น

เมื่อมาเล่นเกมนี้ก็ไม่แน่ใจอีกเหมือนกันว่ามีอำนาจต่อรองจริงหรือไม่

เพราะดูเหมือนจะเป็นการต่อรองหันระหว่าง 188 + 250 vs 141 เสียงมากกว่า

มองในเกมตัวเลขก็ไม่สวยมาก มองในเกม “ต้นทุนทางภาพลักษณ์” ทางพรรคเพื่อไทยติดลบไปแล้ว

ดังที่เขียนไปแล้วเช่นกันว่า นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ปัญญาชนสาธารณะ นักวิชาการ สื่อมวลชน ที่ปกติก็เหม็นหน้าเพื่อไทยอยู่แล้วก็ได้โอกาสสาปส่งอย่างหนัก

มิไยที่นางแบกอย่างฉันจะบอกว่า ระหว่างมีรัฐบาลที่มีเพื่อไทยอยู่ในนั้นด้วยกับรัฐบาลที่หน้าตาเหมือนเหมือนรัฐบาลประยุทธ์เปี๊ยบ จะเอาอะไร?

ทุกคนก็บอกว่า ยอมเป็นฝ่ายค้านดีกว่าไปสมสู่กับพวกพรรคสืบทอดอำนาจ พรรคที่เคยสั่งฆ่าประชาชน พรรคนั่งร้านเผด็จการ พรรคที่มีผู้ก่อรัฐประหารอยู่ในนั้น

 

และในที่สุดก็กลายเป็นว่า ตอนนี้สังคมไทยโกรธและเกลียดพรรคเพื่อไทยเท่าๆ หรืออาจจะมากกว่าที่เกลียดเผด็จการ มากกว่าที่จะเกลียดมีชัย มากกว่าที่จะเกลียด ส.ว. เพราะข้อหาที่เพื่อไทยเจอคือ ผู้ทรยศ กลายเป็นพรรคคิดสั้น พรรคหน้าโง่จะโดนหลอกอีก

วนกลับไปที่หนังม้วนเดิม คือ เอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน ทักษิณเป็นคุณพ่อใจร้าย อุ๊งอิ๊งน่าสงสาร ถูกพ่อเห็นแก่ตัวเอามาเล่นในเกมการเมือง ปู้ยี่ปู้ยำ

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยก็ถูกตราหน้าว่าก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งนาย ไม่สำนึกในบุญคุณของประชาชน จนนำมาสู่อุปมาอุปไมยหลายอย่าง เช่น น้ำฝนกับน้ำคลอง อันหมายถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นน้ำฝนถ้าไม่รวมกับพรรคเลวๆ พวกนั้นก็จะกลายเป็นน้ำคลองไปด้วย

หรือแม้กระทั่งคำว่า “สำส่อน” จากอุปมา เพื่อไทยกับก้าวไกลแต่งงานกัน แต่พรรคเพื่อไทยสำส่อน ทิ้งก้าวไกลไปกับชู้ ไม่ใช่ชู้ธรรมดา แต่เป็นชู้ที่เคยข่มขืนเธอมาก่อน ฯลฯ

ในความเกลียดชังพรรคเพื่อไทยนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งจากโหวตเตอร์ของพรรคหรือคนเสื้อแดงเก่าซึ่งเข้าใจได้ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนมากของความเกลียดชังมาจากมรดก “ภาพจำ” หรือแม้แต่เป็นเรื่องเดียวกันกับความเกลียดชังพรรคไทยรักไทย และทักษิณในยุคพันธมิตรฯ เฟื่องฟู หรือระลอกสองในยุค กปปส.เฟื่องฟู

และที่มีน้ำหนักมากที่สุดก็คือชุดคำอธิบายจากปัญญาชนไทยปีกที่โปรประชาธิปไตยแต่เกลียดทักษิณว่า “อีกครั้งหนึ่งแล้วที่ทักษิณและเพื่อไทยไม่ทิ้งสันดานเดิมๆ ทรยศได้แม้แต่โหวตเตอร์ของตัวเอง หลงระเริงว่าแค่ทำเศรษฐกิจดีแล้วจะเล่นการเมืองแบบไม่เห็นหัวประชาชนอย่างไรก็ได้”

และด้วยแว่นอันเดียวกันก็ช่วยไม่ได้ที่ทำให้เกิดภาพคู่ตรงกันข้ามสะท้อนไปที่พรรคก้าวไกลว่า

“นี่คือพรรคที่ยอมหักไม่ยอมงอ พรรคที่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนต้องกลืนทั้งเลือดและน้ำตา พรรคที่ถูกทรยศครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกกลั่นแกล้งจากอำนาจเผด็จการแล้วยังถูกมิตรเอามีดแทงข้างหลัง นี่คือพรรคที่อยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง”

 

แทนที่เราจะมองเห็นว่า นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบมาแล้วให้เป็นแบบนี้

เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มันย่อมกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวสำหรับอำนาจ “เก่า” และหากปล่อยให้คน 24 ล้านคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันย่อมเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจเก่าอย่างน่ากลัวที่สุด

แต่ถามว่าจะให้เราไม่ทะเลาะกัน ก็เป็นไปไม่ได้ ทะเลาะกันแรกคือในสนามการเลือกตั้ง เพราะทุกพรรคคือคู่แข่งกัน ยิ่งพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลที่แชร์ตลาดเดียวกันก็ยิ่งต้องแย่งชิง “เสียง” มาจากกัน

ผลพวงจากการหาเสียงที่ต้องมีการโจมตีกัน หรือแม้แต่เหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี หรือแม้แต่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็น “จำเลยสังคม” ซึ่งฉันพูดด้วยอคติอย่างเต็มเปี่ยมว่าในหลายเวทีที่ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลได้งัดเอาวาทกรรม “สู้ไปกราบไป” “เกี้ยเซี้ย” หรือ “เพื่อไทยหักหลังคนเสื้อแดงเพราะไม่เซ็น icc” เหล่านี้ย่อมสร้างความบาดหมาง “กินใจ” กันในหลายระดับ และตัวฉันเองในฐานะตัวละครหนึ่งที่ “ไม่ทน” กับกลวิธีการสร้างคะแนนนิยมด้วยวิธีการสร้างความเป็น “อื่น” ใส่คู่แข่งด้วยข้อมูลจริงครึ่งหนึ่งเท็จครึ่งหนึ่งแบบนี้ ก็โต้ต้อบกลับไปอย่างรุนแรงเสมอ

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่พระอิฐพระปูน บนเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายในรอบ After party ก็มีการปราศรัยเอาคืนทุกลูก ทุกช็อต ทุกซีนอย่างดุเดือด

ดังนั้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่าความบาดหมาง เอือมระอาต่อกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลมีอยู่จริง

 

และความบาดหมางที่มีอยู่จริงนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ฝั่ง 188 เสียงแยก 151 ออกจาก 141 ได้อย่างหมดรูปไปกันทั้งคู่

ผลก็คือพลังฝ่ายประชาธิปไตยของมวลชนถูกสลายออกจากกันโดยสิ้นเชิง และพวกเขาก็หมดขวากหนาม สิ่งที่น่าสลดใจสำหรับฉันก็คือ

สื่อให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้พื้นที่ตัวละครที่ถูกเขียนบทมาเพื่อการนี้อย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หรือ จตุพร พรหมพันธุ์ โดยอ้างว่า สองคนนี้ทำนายอะไรก็ถูก ซึ่งหากใช้สติปัญญาสักนิด สื่อน่าจะฉุกคิดว่า ที่เขาพูดถูก เพราะเขาได้อ่านบทที่เขียนไว้ล่วงหน้าใช่หรือไม่?

สมการที่ฝั่งประชาธิปไตยจะเล่นได้ตอนนี้แทบไม่เหลือ เพราะเกมที่ควรเล่นคือ ให้เพื่อไทยนำ แล้วกวาดเอาพรรคขั้วเดิมมาร่วมรัฐบาลเดิมให้ได้มากที่สุด

และทำให้ฝั่งนั้น “แตก” ออกจากกัน ทำให้สองลุง เหลือแค่หนึ่งลุง อนุญาตให้ก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน

ดึงเกมแบ่งผลประโยชน์ในสนามการเลือกตั้งให้ยาว ค่อยๆ แก้กติกา

พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมชาติได้ซ่อมแซมชีวิตเศรษฐกิจที่พังทลายให้ลืมตาอ้าปากจะได้มาเป็นแรงร่วมในการต่อสู้ในวันข้างหน้าที่เหลืออยู่ต่อไป

แทนการห่วงอนาคตพรรคเพื่อไทยว่าจะสุญพันธุ์ เราควรห่วงอนาคตของประชาธิปไตยในระยะยาวมากกว่า

พรรคเพื่อไทยสุญพันธุ์ไป ก็จะมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทน ตราบเท่าที่ยังมีประชาธิปไตย ยังมีการเลือกตั้ง

ชัยชนะของประชาธิปไตยยาวๆ ข้างหน้าไม่ใช่เรื่องการแบ่งข้างแล้วแข่งกันว่าใครตะโกนล้อชื่อพ่อใครได้มากที่สุด และทำให้อีกฝ่ายร้องไห้ได้มากที่สุด

แต่คือการมองว่าจะหาใครมาเป็น “พวก” ให้ได้มากที่สุด และปรับแต่งผลประโยชน์ต่อกันเป็นยกๆ ไป โดยคำนึงถึงชีวิตทางเศรษฐกิจของคนที่จนที่สุด ด้อยโอกาสที่สุดของประเทศไปด้วย

แต่ถ้าคิดว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องน้ำดีกับน้ำเน่า น้ำฝนกับน้ำคลอง เราจะไม่มีวันถูก contaminate แปดเปื้อนจากความสกปรกโสมม จะสิบเดือน หรือสี่ปี หรือแปดปี เรารอได้

ก็ไม่เป็นไร เรามารอไปด้วยกัน