ปฎิรูป ‘จ่า’ ทหารบก | สุรชาติ บำรุงสุข

นายทหารประทวนของไทยมักจะมีความรู้สึกว่า พวกตนเป็นเสมือน “ลูกเมียน้อย” ในกองทัพ คือ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากกองทัพเหมือนกับนายทหารสัญญาบัตร ทั้งที่ ถ้าใครคุ้นเคยกับระบบของกองทัพในแบบที่เป็นมาตรฐานสากลแล้ว ทหารที่มีชั้นยศเป็น “จ่าสิบเอก” หรือเป็น “Sergeant Major First Class” นั้น ถือเป็นกระดูกสันหลังส่วนหนึ่งที่สำคัญของกองทัพสมัยใหม่ โดยเฉพาะ กองทัพสหรัฐอเมริกา หรือกองทัพยุโรป จะเห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนของกำลังพลในระดับนี้ เช่น บทบาทของจ่ากองร้อย หรือ จ่ากองพัน เป็นต้น

ดังนั้น วันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้บริหารกองทัพบกตัดสินใจมอบหมายให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จัด “หลักสูตรจ่ากอง” ของหน่วยในระดับต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ และความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลก และในระดับของประเทศ เพราะโดยปกติแล้ว นายทหารประทวนระดับจ่า ซึ่งถือเป็น “กุญแจดอกสำคัญ” ทั้งในระดับกองร้อยหรือกองพันนั้น แทบไม่เคยมีการจัดหลักสูตรในการให้ความรู้แก่พวกเขาแต่อย่างใด ทหารระดับนี้จึงเป็นเหมือนถูกปล่อยไปแบบ “เรียนผิด-เรียนถูก” ด้วยประสบการณ์ของการทำงานในแต่ละวัน หรือถ้าพวกเขาเป็นคนที่ต้องแก้ปัญหางานสนาม หรือปัญหาอื่นๆ ของหน่วย ก็เป็นการแก้ด้วยการใช้ประสบการณ์ส่วนตัว อาจจะไม่ใช่การใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วยเท่าใดนัก

ตัวอย่างของนายทหารประทวนในระดับนี้เช่น “จ่ากองร้อย” นั้น ต้องถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของหน่วยทหาร นอกเหนือจากนายทหารสัญญาบัตรที่เป็น “ผบ. ร้อย” แล้ว จ่ากองร้อยคือ ข้อต่อสำคัญระหว่างผู้บังคับหน่วยกับกำลังพลในส่วนที่เป็นทั้งนายทหารประทวนและทหารเกณฑ์ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เป็นกำลังหลักของการทำงานในสนาม ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม

นอกจากนี้ จ่ากองร้อยเป็นบุคคลที่จะต้องอยู่กับหน่วยแบบยาวนาน หรือในบางกรณีอาจจะต้องถือว่า จ่ากองร้อยเป็นคนที่จะต้องอยู่กับหน่วยในแบบถาวร เมื่อเปรียบเทียบกับนายทหารสัญญาบัตรที่ต้องปรับย้ายตามวาระในแต่ละปี หรือจ่ากองพันก็อาจจะอยู่ในสถานะไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นในระบบทหาร จ่ากองร้อยและจ่ากองพันจึงเป็นบุคคลที่รู้จักหน่วยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะรู้จัก “วัฒนธรรมองค์กร” ของหน่วย ซึ่งมีทั้งด้านบวกและลบ เช่นองค์กรอื่นๆ และยังเป็นบุคคลที่รู้จักกับบุคลากรในหน่วยมากที่สุด อันเป็นผลจากเงื่อนไขของหน้าที่การงาน และด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งในระดับของชีวิตส่วนตัว และระดับของชั้นยศ หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า จ่าที่อยู่ในตำแหน่งนี้ จะต้องควบคุมเป็นผู้ที่กำลังพลในระดับที่ไม่ใช่สัญญาบัตรทั้งหมด ทั้งในแง่ของการปกครอง และการปฎิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นที่รับรู้ในความสำคัญของนายทหารประทวนเช่นนี้ แต่การคิดที่สร้างศักยภาพของทหารระดับดังกล่าวนั้น แทบไม่เคยถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเท่าใดนัก ดังที่กล่าวแล้วว่า พวกเขาถูกปล่อยไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ หรือ เป็นการเรียนถูก-เรียนผิดไปกับเงื่อนไขของเวลาและโอกาสในชีวิตของ “พี่จ่า” แต่ละคน

แต่วันนี้ ถ้าพิจารณาประเด็นที่กล่าวในข้างต้นในมิติของการปฏิรูปกองทัพแล้ว การ “ติดอาวุธทางปัญญา” ให้กับนายทหารประทวนในระดับจ่ากองของหน่วยต่างๆ นั้น เป็นหนึ่งในหัวข้อการปฏิรูปทหารที่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง

อีกทั้ง การดำเนินการในเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่สามารถโยงกับการที่กองทัพบกจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังพลในระดับประทวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหัวข้อเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อาจจะต้องคิดทั้งระบบ โดยเฉพาะการดำเนินการใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1) การเพิ่มพูนความรู้ในวิชาชีพทหาร 2) การยกระดับสวัสดิการ 3) การพัฒนาคุณภาพชีวิต 4) การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ทางทหาร 5) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในชีวิต

หากยกตัวอย่างของการสงครามในปัจจุบันที่มีการใช้ยุทโธปกรณ์ใหม่ เช่น สงครามโดรนในยูเครน จึงมีนัยว่านายทหารประทวนระดับนี้อาจจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาวุธสมัยใหม่เช่นโดรน เป็นต้น หรือการให้ความรู้และสร้างทักษะแก่นายทหารประทวนทางด้านคอมพิวเตอร์ ควรเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาความเป็นทหารอาชีพของกำลังพลในระดับดังกล่าว (มิได้มีนัยถึงการเพิ่มความสามารถในการทำ “ไอโอ” ของทหาร)

ฉะนั้น การเริ่มต้นของโครงการฝึกอบรมนายทหารประทวนระดับจ่ากอง จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของการปฎิรูปกองทัพบกในเรื่องของการพัฒนากำลังพลในระดับดังกล่าว แม้เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นภาพสะท้อนถึงการที่กองทัพบกได้หันมาใส่ใจกับกำลังพลชั้นประทวนในกองทัพมากขึ้น มิใช่ภาพของกองทัพบกในสังคมจะมีแต่เรื่องของการที่กำลังพลในระดับนี้ ถูกเอารัดเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจจาก “กลุ่มเสนาพาณิชย์” ในกองทัพ จนนำไปสู่ความรุนแรงที่เป็นโศกนาฏกรรม ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว!