ศิลปินผู้ตัดต่อประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอำนาจของสามัญชนผ่านเรื่องเล่า

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในปลายปี 2023 นี้ที่ จ.เชียงราย

นอกจากจะมีศิลปินร่วมสมัยระดับโลกมากหน้าหลายตาเดินทางมาร่วมแสดงผลงานในบ้านเราแล้ว ยังมีศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่น่าจับตาอีกหลายคนถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ด้วย

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินภาพถ่ายรุ่นใหม่ ผู้จบปริญญาตรีด้านการออกแบบงานสร้างภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และปริญญาโทด้านทัศนศิลป์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง

กมลลักษณ์ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 20 ศิลปินภาพถ่ายที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2020 จากนิตยสารภาพถ่าย foam Photography Museum อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์

ศิลปิน กมลลักษณ์ สุขชัย, ภาพจาก www.thailandbiennale.org

เธอมีผลงานโดดเด่นจากการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายแบบคอลลาจ ที่มักหยิบตำนานพื้นบ้านมาถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเรื่องเล่าพื้นถิ่นที่ส่งผลต่อความเป็นหญิงในสังคมวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม

ดังเช่นในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเธออย่าง บัวแดง (Red Lotus) ณ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ ที่ใช้ภาพถ่ายประกอบสร้างเป็นเรื่องเล่าคล้ายๆ กับนิยายภาพ ที่เล่าเรื่องราวของนิทานกึ่งตำนานพื้นบ้านที่ตีแผ่ทัศนคติเชิงลบต่อสตรีเพศในสังคมไทย

นิทรรศการ Red Lotus
นิทรรศการ Red Lotus

ผนวกแรงบันดาลใจของฉากและเครื่องแต่งกายจากละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ กับสีและพื้นผิวจากภาพประกอบนิยายน้ำเน่าในนิตยสารราคาถูก

ส่งผลให้ผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของเธอเต็มไปด้วยความดิบสดและเปี่ยมเสน่ห์ของความเหนือจริงอย่างน่าพิศวง ด้วยการใช้เทคนิคคอลลาจตัดแปะภาพถ่ายกับภาพจากนิตยสารเก่าๆ สร้างเป็นฉากของภาพถ่ายขึ้นมา

นิทรรศการ Red Lotus
นิทรรศการ Red Lotus

โดยปกติการทำงานคอลลาจในภาพถ่ายมักจะทำให้แนบเนียนจนดูไม่ออก

แต่งานของกมลลักษณ์กลับดูเหมือนจงใจทำให้หยาบ ราวกับจะต้องการให้ผู้ชมดูออกว่าเป็นการตัดปะภาพ เธอจงใจทำงานออกมาให้ดูรู้ว่าเป็นของปลอม เพราะต้องการให้งานดูมีความย้อนแย้งบางอย่าง คือให้ดูเหมือนเป็นของจริง แต่ก็ดูออกว่าปลอมด้วย

ด้วยความที่เธอชอบสิ่งสมมุติ เพราะโลกที่เธอ (และพวกเรา) อาศัยอยู่ก็เกิดจากการประกอบสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องสมมุติสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะอยู่ในนั้น

ไม่ต่างอะไรจากฉากละครที่ถึงแม้จะถูกสมมุติให้ดูเหมือนจริงแค่ไหนก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปลอมอยู่ดี

ด้วยความที่กมลลักษณ์เรียนปริญญาตรีในสาขาออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ และมีความชอบในด้านการเขียนบทสำหรับออกแบบฉาก งานสร้าง และแคแร็กเตอร์ของตัวละครในหนัง เหมือนสร้างโลกใบหนึ่งขึ้นมา แต่เธอไม่ชอบออกกองถ่าย หากชอบที่จะทำงานในกระบวนการเตรียมก่อนถ่ายทำมากกว่า ประจวบกับช่วงเวลาใกล้จบ เธอได้กล้องถ่ายรูปมาตัวหนึ่ง เป็นกล้องฟิล์มแบบเดียวกับที่พ่อของเธอเคยใช้ พอทดลองถ่ายดูก็รู้สึกว่าเป็นสื่อและเทคนิคในการทำงานที่เหมาะกับเธอ

พอเรียนจบปริญญาตรีเธอจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านทัศนศิลป์ และเปลี่ยนจากการทำงานภาพเคลื่อนไหว มาทำงานภาพถ่ายแทน

นิทรรศการ Red Lotus
นิทรรศการ Red Lotus

ผลงานชุด บัวแดง พูดถึงสถานภาพของความเป็นผู้หญิงในสังคมไทย ที่ต้องอยู่ในกรอบประเพณี มีความรักนวลสงวนตัว ไม่แสดงออกเรื่องเพศ สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ในครอบครัว ส่งต่อมาสู่สังคม

ในผลงานชุดนี้ เธอสร้างสถานการณ์เกี่ยวกับปมขัดแย้งทางเพศขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามกับสถานภาพของผู้หญิงในสังคม ทั้งในแง่ของปมขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างเพศ ปมขัดแย้งในเชิงศาสนา ไปจนถึงปมความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติกับจารีตประเพณีในสังคมมนุษย์

หรือในนิทรรศการภาพถ่าย Blue Fantasy : ประวัติศาสตร์เพ้อฝัน ณ HOP PHOTO GALLERY ที่กมลลักษณ์ท้าทายอำนาจของชนชั้นนำ ด้วยการใช้เรื่องเล่าที่เคยเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ มาแทรกแซงและดัดแปลงเพื่อสร้างประวัติศาสตร์สามัญของตนเองขึ้นมาใหม่ ในฐานะ “ศิลปินผู้ตัดต่อประวัติศาสตร์”

กมลลักษณ์สร้างเรื่องราวในแบบฉบับของเธอเอง โดยแทนที่ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พงศาวดาร ด้วยใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว การตัดปะประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่ในแบบฉบับของเธอจึงเป็นการผสมผสานภูมิหลังของครอบครัว จินตนาการของชาวบ้านในท้องถิ่น วรรณกรรม ความฝันของสมาชิกในบ้าน ตลอดจนเรื่องราวเก่าแก่ของสิ่งของดั้งเดิมภายในบ้าน

โดยเธอได้เน้นย้ำและยกย่องถึงคุณค่าของครอบครัว เพื่อให้ความหมายแก่สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามไป

กมลลักษณ์พัฒนาผลงานชุดนี้ขึ้นในระหว่างการเป็นศิลปินในพำนัก (Residency) ที่บ้านเกิดของเธอในจังหวัดราชบุรี โดยให้สมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา

เพื่อเป็นการก้าวข้ามกรอบอำนาจแห่งเรื่องเล่าที่ผู้อยู่ใต้อำนาจอย่างเราถูกทำให้เชื่อ ด้วยความจริงชุดใหม่ที่ถูกตีความผ่านจินตนาการ การสร้างภาพ ความเพ้อฝัน และประวัติศาสตร์ส่วนตัว เพื่อให้สามัญชนสามารถเป็นเจ้าของเรื่องเล่าของตัวเองได้ในท้ายที่สุด

นิทรรศการ Red Lotus
นิทรรศการ Red Lotus

ชื่อนิทรรศการอย่าง Blue Fantasy มีความหมายถึงเลือดสีน้ำเงินที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูง ซึ่งกมลลักษณ์แทนด้วยเรื่องราวจากพงศาวดารของกษัตริย์เขมร และเอาประวัติส่วนตัวของครอบครัวเธอแทรกลงไป เพื่อเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของเรื่องราวเดิมลง

นิทรรศการ Red Lotus
นิทรรศการ Red Lotus

ด้วยความที่เธอมองว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นเหมือนแฟนตาซีของความปรารถนา กมลลักษณ์ต้องการเล่นล้อกับแนวคิดในการคัดเลือก คัดสรร เติมแต่ง และสร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัวขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วงชิงพื้นที่บางอย่างในเชิงสัญญะ เพราะโดยปกติ ผู้มีอำนาจมักใช้เรื่องเล่าอย่างตำนานหรือพงศาวดารเป็นเครื่องมือในการกุมอำนาจ เธอก็สร้างอำนาจของสามัญชนขึ้นมาใหม่ผ่านเรื่องเล่าของเธอนั่นเอง

นิทรรศการ Blue Fantasy
นิทรรศการ Blue Fantasy
นิทรรศการ Blue Fantasy

ส่วนผลงานของกมลลักษณ์ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2023 ถึง 30 เมษายน 2024 ที่จะถึงนี้ จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรนั้น มิตรรักแฟนศิลปะทั้งหลายก็คงต้องรอติดตามกันด้วยใจระทึกพลัน! •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์