คณะทหารหนุ่ม (51) | ความขัดแย้งระหว่างพรรคชาติไทย-กิจสังคม ปม “เทเล็กซ์อัปยศ”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

เทเล็กซ์อัปยศ…

หลังขึ้นบริหารประเทศเมื่อมีนาคม พ.ศ.2523 มรสุมลูกแรกที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องประสบคือวิกฤตการณ์ราคาน้ำตาลทราย

เนื่องจากเกิดการขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในประเทศขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2523 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศจากกิโลกรัมละ 7.50-8.00 บาท เป็น 13.00 บาท ทำให้เกิดกระแสคัดค้านและโจมตีรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ วิกฤตที่ต่อเนื่องมาจากสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และยังดำรงอยู่ ก็คือความผันผวนเรื่องราคาน้ำมันซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคกิจสังคมกับพรรคชาติไทยซึ่งต่างชิงไหวชิงพริบกันมาโดยตลอดนับตั้งแต่การร่วมรัฐบาล

รัฐมนตรีเศรษฐกิจภายใต้การกำกับดูแลของนายบุญชู โรจนสเถียร พรรคกิจสังคม พยายามแก้ไขโดยเปิดเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันโดยตรง ซึ่งต่อมาได้ทำให้เกิดกรณีที่เรียกว่า “เทเล็กซ์อัปยศ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ขณะที่ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม พรรคชาติไทย เดินทางไปเจรจาเรื่องขอซื้อน้ำมันดิบราคาตายตัว 2 ปีจากซาอุดีอาระเบีย แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จากพรรคกิจสังคมกลับส่งเทเล็กซ์ไปขอระงับการเจรจา

เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคมซึ่งต่างโจมตีซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายได้ผลประโยชน์

ในที่สุดวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงแก้ปัญหาด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีให้พรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาล และรับ “สหพรรค” คือ สยามประชาธิปไตย เสรีธรรม และพรรครวมไทย เข้าร่วมรัฐบาลแทน

สถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวมนับแต่ปี พ.ศ.2523 ถึงต้นปี พ.ศ.2524 ของรัฐบาล “เปรม 1” จึงมิได้แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่อย่างใด โดยเฉพาะปัญหาของการแตกแยกอย่างหนักระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล

 

คณะทหารหนุ่มไม่พอใจ

คณะทหารหนุ่มมีความไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร หนึ่งในแกนนำคณะทหารหนุ่มได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในกรณีเทเล็กซ์ว่า

“อยากให้ทุกฝ่ายสามัคคีกันในการที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ทหารก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเราเห็นการหาผลประโยชน์เข้าตัวเองแบบหน้าด้านๆ แล้ว ทหารทนไม่ได้ ข้าราชการทั่วไปโกงยังเอาเขาเข้าคุกได้”

“นักการเมืองโกงเราก็ควรเอาเข้าคุกเหมือนกัน”

 

ต่ออายุ พล.อ.เปรม

ต้นปี พ.ศ.2523 ขณะที่การเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกำลังปั่นป่วนกรณีเทเล็กซ์อัปยศ ก็เกิดกรณีการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” บันทึกไว้ดังนี้…

“พล.อ.เปรม เป็นผู้ที่ยึดมั่นในกฎระเบียบที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัดเสมอมา แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์ผู้นำซึ่งอยู่เหนือทั้งฝ่ายบริหารและกองทัพก็จำต้องยอมเผชิญหน้ากับภาวะกระอักกระอ่วนใจซึ่งตัวท่านเองไม่ชอบพอนักเมื่อมีหลายฝ่ายได้หยิบยกเรื่องการต่ออายุผู้บัญชาการทหารบกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการเป็นผู้นำ”

“พล.อ.เปรมจะมีอายุครบ 60 ปีเต็มในเดือนสิงหาคม 2523 ซึ่งจะต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน 2523 หลังจากที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศชาติในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 5 เดือนเศษเท่านั้น”

“แม้การโยกย้ายนายทหารของประเทศเราหลายครั้งหลายหนผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับการเมืองและจะชี้ให้เห็นทิศทางอำนาจในการเมืองต่อไปได้อย่างค่อนข้างชัดเจนก็ตาม”

“แต่การโยกย้ายนายทหารปี 2523 นี้ก็มีสิ่งสำคัญยิ่งกว่าเกิดขึ้นคือเป็นปีที่หัวของกองทัพบกจะต้องเปลี่ยนแปลง คือการเกษียณอายุราชการของผู้บัญชาการทหารบกผู้มีนามว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคราวเดียวกัน”

“การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปีนี้นอกจากจะถูกพูดถึงเร็วกว่าปกติแล้ว ยังเริ่มต้นประเดิมด้วยใบปลิวออกมาโจมตีนายทหารที่จะได้รับการสืบทอดตำแหน่งต่อไปคือ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก และข่าวต่อมาคือการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ซึ่งได้รับการปฏิเสธจากบุคคลสำคัญหลายฝ่าย เช่น พ.อ.จำลอง ศรีเมือง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งยืนยันว่าไม่มีใครเสนอเรื่องต่ออายุมา”

“พร้อมกับยืนยันว่า ผู้บัญชาการทหารบกปฏิเสธการต่ออายุอย่างแน่นอน”

 

อาทิตย์ขยับ

การเข้ากรุงของ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก มีคำตอบที่ชัดเจนในกลางปี พ.ศ.2523 เมื่อเป็นผู้นำฝ่ายทหารผลักดันการต่ออายุครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ระยะแรกก็แสดงออกว่าไม่มีความเห็น โดยถือว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แต่ต่อมาก็มีท่าทีเปลี่ยนไปจากคำให้สัมภาษณ์

“การต่ออายุราชการผู้บัญชาการทหารบกในอดีตนั้น ประชาชนไม่เห็นด้วย แต่สำหรับการต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรม เป็นเรื่องใหม่ ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนอาจเห็นว่าควรมอบความไว้วางใจให้แก่ พล.อ.เปรมก็ได้”

สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของนายทวี ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่บอกว่า เขาจะส่งไปรษณียบัตร 500,000 ฉบับเพื่อสำรวจประชามติเรื่องการต่ออายุราชการผู้บัญชาการทหารบก

วันที่ 3 สิงหาคม 2523 นายทวี ไกรคุปต์ เปิดแถลงข่าวว่าได้ไปรษณียบัตรกลับมาแล้วกว่า 200,000 ฉบับ เห็นด้วยเป็นจำนวนถึง 193,056 เสียง ไม่เห็นด้วย 15,331 เสียง ส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยเป็นเสียงจากต่างจังหวัด

 

ไม่เห็นด้วย

ขณะที่ข่าวจากผู้ใกล้ชิด พล.อ.เปรม ยังคงยืนยันว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการผู้บัญชาการทหารบกแน่นอน

เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปตามระบบ จะไม่ให้มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบันทหาร แม้ว่าจะยังมีความผูกพันกับกองทัพ และ พล.อ.เปรม ก็ยังคงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่สามารถประสานกันได้อีก และจะลดบทบาทในฐานะผู้ควบคุมกองทัพบกอันเป็นตำแหน่งปฏิบัติการมาคุมเพียงด้านนโยบาย

และยังยืนยันว่าการแสดงออกของนายทวี ไกรคุปต์ เพื่อรับฟังมติมหาชนนั้นไม่เกี่ยวข้องกับท่านแต่อย่างใด ส่วน พล.อ.เปรมยังคงปฏิเสธไม่ตอบคำถามใดๆ เมื่อถูกสื่อมวลชนซักถามเรื่องนี้

เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนและเดอะเนชั่นร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจประชามติข้อเสนอต่ออายุ พล.อ.เปรม โดยทำการเก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2523 กลับปรากฏผลออกมาคือ

46.2% ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ถูกหลักการและทำลายขวัญของกองทัพ

32.9% เห็นด้วย เพราะเป็นคนซื่อสัตย์ โสดและยังแข็งแรง

ในหัวข้อที่ถามว่า นายกรัฐมนตรีกับผู้บัญชาการทหารบกควรเป็นคนเดียวกันหรือไม่ 61.1% ไม่เห็นด้วย