มนัส สัตยารักษ์ : ตำรวจยังเป็นเป็ด

รถวิทยุกองปราบปรามชนรองสารวัตร สน.บางเขน เสียชีวิต กลางถนนพหลโยธิน (ช่วงบางเขน) ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ บางเขนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยจากการจราจร ส่วนรถวิทยุอารักขาบุคคลสำคัญ

ขณะนั้นดูเหมือนจะเป็นปี พ.ศ.2520 เป็นปีที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นสารวัตรแผนกรถวิทยุ กก.2 กองปราบปราม

ก่อนหน้านั้น 18 ปี (ปี พ.ศ.2502) ผมเป็นว่าที่ ร.ต.ต. ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองสารวัตร สน.บางเขน หลังจากรับพระราชทานกระบี่เป็นนายตำรวจ

วูบแรกเมื่อทราบข่าว ผมใจหายวาบด้วยความรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบอย่างหนีไม่พ้น ส่วนจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่รู้สึกถึง “ความเสียหาย” อย่างสูงก็คือชีวิตของนายตำรวจหนุ่มซึ่งไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

แน่นอน ในวูบหนึ่งนั้น ผมนึกถึงตัวเองเมื่อ 18 ปีก่อนด้วยเช่นกัน เพราะเป็นวาระแรกที่ผมมีเงินเดือนเป็นของตัวเองและต้องรับผิดชอบตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ขาดแคลนและเป็นปัญหามากที่สุดก็คือ “ที่ซุกหัวนอน”

และอดไม่ได้ที่จะนึกถึงนายตำรวจที่ถึงแก่ความตาย เขาคงเหมือนผม

ในระหว่างรอรับรายงานอย่างเป็นทางการจาก ผบ.รถ และพลขับรถวิทยุ (คันเกิดเหตุ) พ.ต.อ.จิระ เครือสุวรรณ (พล.ต.ท.) ผกก.2 ป. ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยก็เดินทางเข้ามาในที่ตั้งแผนกรถวิทยุ (ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว) ด้วยอาการค่อนข้างโกรธจัด

“ตำรวจบางเขนมันขึ้นไปกระทืบรถวิทยุของนายเละเลย… ของหลวงนะนี่ !”

เฮียจิระเป็น นรต.รุ่นพี่ของผม ถ้าเทียบกันด้วยการ “ตีเส้น” ก็เหมือนกับการเป็นรุ่นที่มีการ “แบ่งยุค” กันค่อนข้างชัดเจน รุ่นเฮียเรียน 3 ปี ในขณะที่รุ่น 10 เป็นต้นมาเรียน 4 ปี (เท่ากับปริญญาตรีในสาขาทั่วไป) แต่นายตำรวจรุ่นที่เรียน 3 ปี จบแล้วสามารถท่องไปในยุทธจักรได้อย่างนักเลงใหญ่ พูดและใช้ภาษาจีนได้ สูบฝิ่นได้ งานสืบสวนไม่มีพลาด มีตำนานเล่าว่า เฮียคนหนึ่งชกทหารเรือในโรงหนังเพียงแค่ได้ยินทหารนินทา อ.ตร.เผ่า

แต่รุ่นเรียน 4 ปี อย่างผมนี่แทบจะช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าทางราชการไม่จัดหาให้

นรต.รุ่นเฮีย เป็นรุ่นเก่าที่มีรากฐานทาง “วัฒนธรรม” ที่แตกต่างจากรุ่น 4 ปีมีปริญญา พวกท่านเหมือนมีความสามารถพิเศษ ช่วยเหลือตัวเองได้โดยกรมตำรวจไม่ต้องเดือดร้อนงบประมาณ

ผมจำได้ว่ารุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยสอนงานสอบสวนน้องๆ เป็นทำนองว่า

“สอบสวน ได้ นั่นมันเรื่องธรรมดา สำคัญต้องสอบสวน เป็น จึงจะเอาตัวรอด”

วิถีชีวิตและทัศนคติของคนต่างรุ่นก็ต่างกัน… ตอนที่ผมถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยครั้งเขียนหนังสือ “อ.ตร.: อันตราย” นั้น รุ่นพี่ระนาบเดียวกับเฮียจิระต่างมองเห็นผมเป็น “คนป่วย” หรือ “คนไม่ค่อยสบาย”

ผมมักจะได้รับคำถามอย่างขำๆ จากรุ่นพี่โบราณทำนองว่า “หายดีหรือยังวะ?”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเฮียจิระผมได้รับความเมตตาและความไว้ใจจากท่าน ถึงขนาดว่าวันที่ท่านตัดสินใจจะลุกจากเก้าอี้ ผกก.2 ป. ท่านยังขับรถไปกระซิบบอกให้ผมรู้ก่อนคนอื่น เพื่อว่า “นายอยากให้ใครมาเป็นผู้กำกับแทนเฮีย ก็ไปกระซิบบอกเอาก็แล้วกัน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่รถวิทยุกองปราบปรามถูกกระทืบเสียหาย เฮียจิระถือว่าเป็นเรื่องเหยียบย่ำศักดิ์ครีกัน

“นายเป็นสารวัตรรถวิทยุ นายต้องเอาเรื่องตำรวจบางเขน”

สน.บางเขน เป็นโรงพักแรกในชีวิตตำรวจของผม (เมื่อ 18 ปีก่อน) มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตัวอาคารและบริเวณไปมากมาย ที่ชัดเจนคือ เรือนไม้ซึ่งเคยเป็น “ที่ซุกหัวนอน” ของผมและเพื่อนหายไป โดยที่ความวังเวงยังคงสิงสถิตอยู่ในบรรยากาศ

ทำให้หวนนึกถึง ร.ต.ท.สมภพ สัมภวะผล รุ่นพี่ก่อนผม 1 ปี (ทั้ง ร.ร.สวนกุหลาบฯ และ ร.ร.นายร้อยตำรวจ) เฮียสมภพถูกย้ายไปเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ภูธรทางจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเริ่มเป็นพื้นที่สีชมพูเข้ม แล้วเฮียก็ถูกซุ่มโจมตี (ambush) เสียชีวิตคาเรือสายตรวจกลางแม่น้ำสายหนึ่ง

ผมเดินเข้าไปในที่ทำงานเก่าอย่างหม่นหมอง…

รถวิทยุกองปราบปรามสีฟ้าขาวซึ่งเคยงามสง่า จอดคลุกฝุ่นอยู่ท่ามกลางกองรถยนต์ของกลางรายอื่นๆ หลังคาและประตูบุบบู้บี้มีร่องรอยด่างดำโดยรอบคัน

“เมื่อวันก่อนท่านผู้กำกับจิระมาอาละวาดตรงนี้ไปหนหนึ่งแล้ว ตอนนั้นรถยังไม่ช้ำเท่าไหร่” เสียงตำรวจ สน.บางเขน ซึ่งเคยเป็นลูกน้องของผมรายงานมาจากเบื้องหลัง

“นายตำรวจที่ตายรู้จักไหม?” ผมถาม

“คงไม่รู้จักหรอก เป็นเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัย น่าเสียดาย… แกคงซีเรียสกับคำสั่งห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลฉวยโอกาสต่อท้ายขบวน วีไอพี”

ผมเอารถกลับไปซ่อมที่อู่ของเราเองที่โชคชัย 4 และตัดสินใจขัดคำสั่งผู้กำกับการ ไม่ใส่ใจในเรื่อง “ศักดิ์ศรี” ที่ถูกเหยียบย่ำแต่อย่างใด

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงว่า ที่ประชุมมีมติถ่ายโอนภารกิจของ สตช. ตามที่คณะอนุกรรมการ ได้เสนอต่อที่ประชุม

การถ่ายโอนภารกิจจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม

1. ภารกิจที่สมควรถ่ายโอนภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี ได้แก่ภารกิจด้านการจราจร ที่โอนให้แก่ กทม. เทศบาลนครต่างๆ และเมืองพัทยา ฯลฯ

2. ภารกิจที่สมควรถ่ายโอนภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี คือภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ขนส่ง และรถยนต์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจทางหลวง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

3. ภารกิจที่สมควรให้มีการถ่ายโอนอย่างมีขั้นตอนได้แก่ ภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ โอนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

4. ภารกิจที่สมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกับตำรวจ ฯลฯ

5. ภารกิจตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อยู่ในระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพร.)

ทั้งนี้ ทุกภารกิจถ่ายโอนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและเสนอมายังคณะกรรมการ ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เสร็จสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 เมษายน 2561

เอาเรื่อง “ถ่ายโอน” (โดยเฉพาะในข้อ 1. และ 2.) มาต่อท้าย “เรื่องในอดีต” เพื่อบอกให้รู้ว่าภารกิจของตำรวจไทยนั้นต่างจากตำรวจประเทศอื่น ตำรวจจราจรก็ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะตั้งด่าน ตรวจใบขับขี่ และจับกุมผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ตำรวจท้องที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก็ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามคนประท้วงรัฐบาลเท่านั้น

ดังนั้น กรุณากำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนสมบูรณ์เสียด้วย ทั้งนี้ ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เช่นกัน