อุษาวิถี (40) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (40)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

แต่ลำพังสถาบันทางการเมืองเพียงสถาบันเดียวยังไม่อาจจัดระบบความสัมพันธ์ได้ทั้งหมด หากยังต้องมีสถาบันทางสังคมอื่นๆ อีกหลากหลายเข้ามาช่วยจัดการด้วย

สถาบันทางสังคมเหล่านี้ก็คือ รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีการกำหนดพฤติกรรมทางกายและใจเอาไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน และทำงานเกื้อกูลกันเอง ไม่อาจแบ่งหน้าที่ของตนออกได้ชัดเจน

และหากหนึ่งในสถาบันที่หลากหลายเหล่านี้เสื่อมลงไป ก็จะกระทบต่อสถาบันอื่นที่เหลือตามไปด้วย

การอธิบายถึงสถาบันทางวัฒนธรรมในฐานะเงื่อนปัจจัยหนึ่งของอุษาวิถีนับจากนี้ไป จะอิงกับนิยามวัฒนธรรมหรือสถาบันทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นพื้นฐาน

 

ในทัศนะของศาสนาพราหมณ์และลัทธิขงจื่อแล้ว วัฒนธรรมที่ก่อรูปขึ้นมาเป็นสถาบันจนเป็นที่รู้กันก็คือ ขนบจารีต อินเดียเรียกขนบจารีตว่า รีต (reet) จีนเรียกว่า หลี่ (li)

ซึ่งก็คือ เยี่ยงอย่าง แบบแผน ประเพณี หรือระเบียบแบบแผนของพฤติกรรมความเชื่อ

รีตทั้งของอินเดียและจีนเป็นสิ่งที่บุคคลจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้ รีตของอินเดียและจีนจึงเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดอบรมสั่งสอนให้แก่สมาชิกของสังคม สอนกันตั้งแต่สมาชิกยังเด็กๆ

และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รีตก็จะฝังเข้าไปเป็นสำนึกหนึ่งของหน้าที่ในที่สุด

เพื่อนชาวไทยเชื้อสายอินเดียคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ตนเคยถามคุณแม่ว่า ทำไมที่บ้านเราถึงต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ด้วย คุณแม่ตอบว่า ก็เพราะมันเป็นรีต

ดังที่ได้กล่าวมาโดยตลอดแล้วว่า รีตถือเป็นภาพสะท้อนทางด้านจริยธรรม ใครที่ไม่ทำตามรีตจึงอาจถูกมองว่าเป็นผู้ที่ด้อยในเรื่องจริยธรรม เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นในที่นี้จะยกตัวอย่างพื้นๆ ที่อาจเห็นได้เป็นปกติในสังคมตะวันออก

เช่น นักเรียนของสังคมตะวันออกจะมีรีตในการให้ความเคารพต่อครูของตนด้วยวิธีการต่างๆ และหนึ่งในวิธีเหล่านี้ก็คือ การนั่งฟังอย่างสำรวมและตั้งใจ

ฉะนั้น นักเรียนตะวันออกจะไม่ยกแข้งยกขามาวางบนโต๊ะเรียน เพราะถือเป็นกิริยาที่ไม่งามและไร้มารยาท และไม่ให้ความเคารพต่อครู

เมื่อนักเรียนขาดความเคารพต่อครูเช่นนั้นก็เท่ากับว่า นักเรียนคนนั้นไร้จริยธรรมไปด้วย

ผิดกับสังคมตะวันตกที่การยกแข้งยกขาวางบนโต๊ะถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิดรีต เมื่อไม่ผิดก็เท่ากับว่ากิริยามารยาทของนักเรียนตะวันตกไม่ผิดหรือไม่เกี่ยวกับจริยธรรม เป็นต้น

 

รีตที่แตกต่างกันโดยบรรทัดฐานทางจริยธรรมเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวอย่างพื้นๆ ดังที่ยกมาเท่านั้น หากยังมีรูปแบบของรีตอีกมากมายทั้งที่เล็กกว่าและใหญ่กว่าตัวอย่างดังกล่าว

ที่สำคัญ มีนัยสำคัญอยู่ตรงที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมตะวันออกยังคงให้ความสำคัญกับรีตของตนอย่างมั่นคงเหนียวแน่น และแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกมากระทบบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังคงถือได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

การที่รีตในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรมดังกล่าวมีความมั่นคงอยู่ได้เช่นนี้ ย่อมมิใช่เรื่องที่ไร้ความหมาย และมิใช่เรื่องที่โง่เขลาสำหรับใครก็ตามที่ยกย่องรีตตะวันตก จนดำฤษณาแห่งความเป็นทาสบดบังปัญญาด้วยการดูถูกเหยียดหยามรีตตะวันออก

หากแต่เป็นเพราะรีตดังกล่าวมีศักยภาพในการยึดโยงสัมพันธภาพของสังคมเอาไว้อย่างได้ผลต่างหาก สัมพันธภาพที่ว่านี้เกิดขึ้นจากตัวของรีตเอง ในฐานะที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง

กล่าวคือ ในแง่มนุษย์กับธรรมชาติ (หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ) นั้น ในอดีตหากมนุษย์ไม่ติดต่อสื่อสารกับธรรมชาติโดยตรงก็จะติดต่อผ่านตัวแทน ซึ่งก็คือ นักบวชสมณะชีพราหมณ์หรือกษัตริย์และปราชญ์ผู้มีความรู้อื่นๆ ในฐานะตัวกลางในการติดต่อ

 

รีตที่ใช้ในการติดต่อที่สำคัญก็คือ พิธีกรรม

ในส่วนที่เป็นสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น รีตที่ใช้ก็คือ ระเบียบแบบแผนต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาโดยตลอดแล้วนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ รีตในฐานะที่เป็นสื่อกลางจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมาดังที่ได้ยกเป็นนิยามไปแล้ว

ฉะนั้น ในด้านหนึ่งรีตจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบความสัมพันธ์เกิดขึ้น และหากรีตถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง ระบบความสัมพันธ์ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรคือระบบความสัมพันธ์ที่รีตตามศาสนาพราหมณ์และลัทธิขงจื่อได้ตราให้เห็นเล่า

 

แท้ที่จริงแล้วรีตทั้งของอินเดียและจีนนั้น หาใช่เป็นเพียงแบบแผนที่สะท้อนจริยธรรมที่มนุษย์พึงมีกับธรรมชาติ และพึงมีกับมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น หากที่ลึกลงไปก็คือ การเป็นแบบแผนความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “สายสัมพันธ์” (connection)

ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่า บนนิยามที่เหมือนๆ กันของรีตทั้งของอินเดียและจีนนั้น รีตของอินเดีย หรือและ หลี่ ของจีนก็คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์และรักษาสายสัมพันธ์นั้นเอาไว้ โดยอินเดียเรียกสายสัมพันธ์นี้ว่า สัมพันธ์ (sambandh) และจีนเรียกว่า กวานซี่ (guan-xi)

ทั้งอินเดียและจีนใช้คำว่า สัมพันธ์ และ กวานซี่ ของตนอย่างลึกซึ้งเหมือนๆ กัน

โดยในเบื้องต้นซึ่งเป็นความหมายในด้านกว้างนั้น ทั้งคำว่า สัมพันธ์ และ กวานซี่ จะหมายถึง ความสัมพันธ์ปกติธรรมดาระหว่างสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่ง หรือคนที่รู้จักกันตามปกติ แต่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกัน

เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การมีเพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมงานที่รู้จักกันเพียงเพราะได้เห็นหน้าค่าตาหรือเพราะทำงานในที่เดียวกัน

ความหมายด้านกว้างนี้จึงไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งก็ได้