เวลคัม หรือ เวรกรรม ที่ ‘ทักษิณ-เศรษฐา’ ต้องฟันฝ่า

วลีตลกๆ ที่คนยกมาเปรียบเทียบว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นฝ่ายค้าน” ก็คงไม่เกินจริงไปนักกับการเมืองไทยช่วงนี้

เป็นอันว่ากระบวนการปิดสวิตช์พรรคก้าวไกลดำเนินมาใกล้จะประสบความสำเร็จ ฝ่ายอำนาจเก่าและปีกขวาในการเมืองไทยเตรียมฉลองชัยชนะในการกำจัดฝ่ายเสรีนิยมในฐานะศัตรูทางการเมืองได้อีกระยะหนึ่ง

เพราะตั้งแต่หลังชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศ 14.4 ล้านเสียง กลไกรัฐของมรดกระบอบ คสช.ก็ต่างระดมจัดการพรรคก้าวไกลมาเป็นระยะ เด็ดหัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ จนพ้นจากสภาสำเร็จ ซ้ำรอย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อปี 2562

รอบนี้กลไกการเมืองของรัฐพันลึกเปิดปฏิบัติการประหารชีวิตทางการเมืองนายพิธาอย่าโหดเหี้ยม ไม่แคร์สายตาประชาชนที่ได้แสดงเจตนารมณ์มติมหาชนแล้วเมื่อ 14 พฤษภาคม ไม่แคร์สายตาทั่วโลกซึ่งจับจ้องการเมืองไทยด้วยความฉงนสงสัยว่ากล้าทำได้โฉ่งฉางขนาดนี้

 

และแล้วก็เดินทางมาถึงการฉีกทิ้งเอ็มโอยู 2 ฉบับ พรรคเพื่อไทยหย่าขาดก้าวไกล ขอเลือกเส้นทางจับมือขั้วอำนาจเก่าและอดีตพรรคนั่งร้านระบอบ คสช.ตั้งรัฐบาล ทิ้ง 14.4 ล้านคนไว้กลางทาง ฝันสลาย เป็นได้แค่ฝ่ายค้าน

พรรคเพื่อไทย ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน กลายเป็นผู้ถือธงนำว่าที่รัฐบาลใหม่เข้าทำเนียบ โดยมีสมาชิก ครม.หน้าคุ้นๆ อดีตพรรครัฐบาลเดิมตามมาเป็นขบวน

แน่นอนกว่าเศรษฐา ทวีสิน จะเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และหากเข้าไปนั่งได้แล้วสำเร็จ ก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคทางการเมืองอีกมาก

จากนี้ คาดหมายว่าเศรษฐาจะต้องเจอกับคำพูดเก่าๆ ที่เศรษฐาเองและแกนนำพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้วนกลับมาหลอกหลอนถามหาสัจจะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนการสู้กับระบบ 3 ป. และมรดกทางการเมืองของ คสช.

จุดยืนทางนโยบายต่างๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยขึ้นเวทีดีเบตและยืนยันหนักแน่นในหลายเวทีว่ามีปัญหาเชิงกฎหมายจริง และจำเป็นต้องนำเข้าไปพูดคุยในสภา

แต่วันนี้กลับดูแข็งกร้าว คำพูดและเหตุผลที่ใช้ราวกับท่องจำมาจากสภาบน เลือกที่จะปฏิเสธไม่แตะ ม.112 แม้มีคลิปมัด

ยังต้องเจอเกมป่วน จากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ออกมาส่งสัญญาณให้ว่าที่นายกฯ คนตัวสูงๆ ระวังตัว บอกใบ้ว่า พบการทำนิติกรรมอำพราง เรื่องการขายที่ดินที่หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งจะโยงไปถึงการเอาผิดตามมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์ของนักการเมือง

งานนี้ไม่ว่าใครฟังชูวิทย์ไป ก็อดคิดถึงหน้า เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ ไม่รู้เป็นการเดินเกมเพื่อสกัดนายกฯ จากเพื่อไทย เตะบอลนายกฯ คนใหม่ให้ไปเป็นของรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือเปล่าไม่รู้?

 

ทันทีที่ข่าวเพื่อไทยประกาศแยกทางพรรคก้าวไกล ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคเดิม ก็เกิดการชุมนุมประท้วงหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือด มีการเผาหุ่นจำลอง ตะโกนด่าทอ แกนนำพรรคและจุดยืนของพรรคอย่างรุนแรง นี่นับเป็นปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นโดยทันที

ถัดจากนี้ ว่าที่รัฐบาลเพื่อไทย ที่นำโดยเศรษฐาจะต้องเจอกับการปะทะต่อสู้ทางความคิดความเห็นจากกรณีการตั้งรัฐบาลพลิกขั้วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฉากการจับมือกับนักการเมืองกลุ่มก้อนอำนาจเดิมที่เคยเป็นนั่งร้านให้รัฐบาลทหารจำแลง

ในสนามรบสภา ว่าที่รัฐบาลเพื่อไทยและว่าที่นายกฯ เศรษฐาก็จะต้องเจอกับการทำงานตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองพรรคก้าวไกล ซึ่งรอบนี้มีถึง 151 คน

จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ก้าวไกล จ.ฉะเชิงเทรา ถึงกับประกาศออกมาทันที “จะตอบแทนด้วยการทำงานตรวจสอบแบบ 300% ไม่พึ่ง ลิโพ”

นอกจากนี้จะยังต้องเจอภาคประชาสังคม ประชาชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและความคิดต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อีกจำนวนมาก ที่ว่าที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องรับมือ

 

การทำงานกับขั้วอำนาจเก่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้รัฐบาลพลิกขั้วที่นำโดยเพื่อไทย จับมือกับอดีตพรรครัฐบาลเดิมขั้วอนุรักษ์ซึ่งเคยอยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มา 4 ปี ก็จะต้องถูกต่อรองทางนโยบายอย่างหนักจนเพื่อไทยอาจจะขยับตัวได้ยาก ไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติได้

ยังไม่ต้องพูดถึงการแบ่งโควต้ากระทรวง โควต้ารัฐมนตรีที่เพื่อไทยต้องเจอ สุ่มเสี่ยงที่ความฝันในการจะเข้าไปมีอำนาจเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ปากท้องและการเมืองของเพื่อไทย อาจไม่ถึงฝั่งฝัน กอบกู้เศรษฐกิจได้ยาก

ข่าวการต่อรองเก้าอี้ของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย ลือสะพัดมาทั้งสัปดาห์ ไม่เว้นแม้แต่พรรคสองลุง มีการปรับโครงสร้างพรรคยกใหญ่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เดินหน้าแก้ปัญหาสลับขั้วดีล ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

ยิ่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนายิ่งเขี้ยวลากดิน ไม่เว้นแม้แต่ประชาธิปัตย์ที่มีข่าวบินไปฮ่องกงกับเขาด้วย

โฉมหน้าว่าที่ ครม.ใหม่จึงแทบไม่ต่างจากเดิมมากนักในเชิงโครงสร้างรัฐบาล เปลี่ยนแค่หัวโขนผู้นำ ให้ดูมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ยังไม่นับปัญหาการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกองเชียร์ของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หนทางจะกอบกู้ศรัทธาคืนในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ง่าย

 

ท่ามกลางวิกฤตจัดตั้งรัฐบาลไทยชุดใหม่ที่ทั่วโลกจับตา ช่วงเวลาเดียวกันยังมีข่าวการกลับประเทศไทยครั้งแรกนับตั้งแต่ลี้ภัยการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้

งานนี้ก็ถูกเสี่ยอ่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เจ้าเก่า พร้อมกับ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. ดักคอ ฟันธง นายทักษิณ ปิดดีล ไม่กลับประเทศไทย เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ดีลไม่ประสบความสำเร็จ

แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ในฐานะเป็นคนออกมายืนยันว่านายทักษิณจะกลับประเทศไทยวันที่ 10 สิงหาคม ออกมาตอบโต้ในทันทีว่า “เพ้อเจ้อ” ยืนยัน 10 สิงหาคม สนามบินดอนเมือง เวลา 10.30 น.

การกลับบ้านของทักษิณ แม้จะพยายามทำให้ไม่เกี่ยวข้อง แม้เจ้าตัวจะออกมาพูดผ่านทางโซเชียลมีเดียของตัวเองหลายครั้ง แต่ก็หนีไม่พ้นการถูกโยงกับประเด็นทางการเมืองปัจจุบัน หนีไม่พ้นการถูกกล่าวหาว่ามีการสร้างเงื่อนไขปูทางความชอบธรรมทางการเมืองให้เดินมาถึงจุดนี้

เพราะจังหวะเวลา การเลือกตั้ง การเจรจา ปัญหาการตั้งรัฐบาล การขยับของกลุ่มอำนาจเก่า ข่าวการดีลลับต่างๆ ปรากฏต่อเนื่องเรื่อยมา มันช่างบังเอิญสอดรับกันไปเสียหมด

ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร มูฟเมนต์ทั้งหมดล้วนถูกโยงเข้ากับท่าทีจุดยืนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยโดยตรง ต่อเนื่องเรื่อยมา นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนถึงปัจจุบัน ที่ทักษิณกลับบ้านและเพื่อไทยหันตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว

คอการเมืองขณะนี้จึงต่างจับตาว่า ช่องทางที่จะทำให้นายทักษิณไม่ต้องเข้าเรือนจำหรือเข้าน้อยที่สุด จะออกมาในรูปใด ไม่นานคงรู้

 

ถึงวันนี้ฝ่ายอำนาจเก่า พลังจารีตนิยมอนุรักษนิยม ทำสำเร็จในการแยกพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยออกจากกัน เพราะหากปล่อยให้สองพรรคนี้จับมือกันอยู่จะเป็นพลังที่เข้มแข็ง ท้าทายปีกขวาไทยอย่างหนักดังเช่นผลการเลือกตั้งปรากฏ

ต้องยอมรับว่า ผลจากการเลือกเดินไปในทิศทางตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ก่อร่างสร้างตัวต่อสู้ระบอบทหารร่วมกันมา วันนี้เพื่อไทยมีภาพลักษณ์ติดลบแล้วตั้งแต่ยังไม่เข้าไปเป็นรัฐบาล เพราะเป็นผู้นำตั้งรัฐบาล ที่ฝืนเจตนารมณ์การเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566

อย่าลืมว่าก่อนเลือกตั้งทุกคนแทบจะเห็นตรงกันหมดว่าเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 แต่ผลที่ออกมากลับกลายเป็นแพ้เลือกตั้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษให้กับพรรคที่เพิ่งตั้งใหม่ไม่นาน

หลังเลือกตั้งเมื่อเพื่อไทยตัดสินใจหันหลังให้มติมหาชน จับมือกับอดีตพรรคการเมืองนั่งร้านรัฐบาลทหารจำแลง ที่เคยเป็นศัตรูกันมา เดินหน้าสวนกระแสความต้องการของคนส่วนใหญ่ทั้งที่ความชอบธรรมทางการเมืองลดลงก็ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองที่สูงยิ่ง

ตอนนี้ในทางการเมืองแม้โอกาสที่จะได้ต้อนรับหรือเวลคัม “ว่าที่รัฐบาลเพื่อไทย” เวลคัม “ทักษิณ ชินวัตร” กลับบ้าน เวลคัม “เศรษฐา ทวีสิน” สู่ตึกไทยคู่ฟ้าสูงยิ่ง

แต่ความยินดีและการต้อนรับดังกล่าวอาจมีเวรกรรมและวิบากกรรมตามรังควานและไล่ล่ารัฐบาลใหม่ นายกฯ ใหม่ไปอีก 4 ปีอย่างหนักหน่วง เผลอๆ อาจทำให้อยู่ไม่ถึง 4 ปีก็ได้

“เวลคัม” จะแปรเปลี่ยนเป็น “เวรกรรม” หรือไม่ คงต้องลุ้นกันเหนื่อย