‘พปชร.’ ปรับทัพพรรค ‘บิ๊กป๊อด’ กุนซือ-ธรรมนัส เลขาฯ รอเสียบร่วม ‘รัฐบาล’

โจทย์ใหญ่ภายหลังการเลือกตั้ง จนเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ก็ยังไร้วี่แวว “จัดตั้งรัฐบาล” เป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ ล่าสุด พรรค “ก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่กวาดชัยชนะได้รับคะแนนมาแบบถล่มทลายเป็นอันดับ 1 กลับต้องส่งไม้ต่อให้พรรคร่วมขั้วอย่าง “เพื่อไทย” ทำหน้าที่สานต่อภารกิจจัดตั้งรัฐบาลแทน

ด้วยเหตุจากกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีทั้งสองรอบ ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล ที่มติ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เห็นพ้องตรงกัน เสนอเข้าชิงนั้น ไม่สามารถฝ่าด่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีกขั้ว และฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เลย

โดยผลครั้งแรกล้มเหลว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 คน งดออกเสียง 199 คน โดยผลการงดออกเสียงส่วนใหญ่ล้วนมากจากฝั่งวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ตั้งเงื่อนไขและโจทย์ใหญ่ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีแนวคิด นโยบาย แก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั่นเอง

เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อการโหวตในรอบที่ 2 ส.ว.งัดเอาข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 41 ห้ามนำญัตติขึ้นเสนอซ้ำ โดยอ้างว่าจะส่งชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้โหวตรอบ 2 อีกไม่ได้แล้ว

ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ 5 เสือ กรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมกับมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ตามที่ กกต.ยื่นคำร้องขอไป

ฉะนั้น เมื่อประตูโหวตนายกรัฐมนตรีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ปิดตัวลง พรรค “เพื่อไทย” ในฐานะพรรคอันดับ 2 จึงเร่งเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลทันที โดยลดเพดานเงื่อนไขการแก้ไขมาตรา 112 ลง เพื่อหวังเติมคะแนนจากพรรคขั้วตรงข้ามและเสียงจากวุฒิสภาในการโหวตนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่านด่านทะลุ 376 เสียง

 

เมื่ออำนาจการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนมาอยู่ในมือ “เพื่อไทย” เกมการเจรจาดึงพรรคการเมืองต่างๆ จึงเริ่มขึ้น โดยเฉพาะการเทียบเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมหารือ รวมถึงพรรค 2 ลุง “ตู่-ป้อม” นั่นคือ รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้มาร่วมวงเจรจาครั้งนี้ด้วย

ประกอบกับวันที่ 26 กรกฎาคม “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศการกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี โดยบอกวันและสถานที่ชัดเจน แบบไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ปรากฏการณ์ครั้งนี้ หลายฝ่ายต่างจับตาพร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามี “ดีลลับ” อะไรกันหรือไม่

โดยเฉพาะปลายเดือนช่วงวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวลือหึ่งว่า “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บินไปพบกับ “ทักษิณ” ที่ฮ่องกง เพื่อดีลลับทางการเมือง

โดยเจ้าตัวเมื่อทราบข่าวก็ออกมาชี้แจงดับข่าวลือทันทีเลยว่า บินไปจริง แต่ไปธุระส่วนตัว ไม่ได้ไปพบกับ “ทักษิณ” ตามที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงไทม์ไลน์ ข่าวลือดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 3/2566 ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพียง 1 วัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ พลังประชารัฐมีการปรับโครงสร้างตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค โดยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีด้วยกัน 21 คน โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังคงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคเช่นเดิม

ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค มีด้วยกันถึง 5 คน ซึ่งล้วนเป็นแกนนำที่มีบทบาทกับพรรคมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งขยับจากเลขาฯ พรรคขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคลำดับที่ 1 ตามด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายวิรัช รัตนเศรษฐ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

ขณะที่ “เก้าอี้แม่บ้าน ” ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา หวนกลับมานั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นการปรับทัพเพื่อให้มีบทบาทและมีอำนาจตัดสินใจภายในพรรคพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปในอนาคตหรือไม่

พร้อมกันนี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังได้ลงนามคำสั่งพรรค พปชร.ที่ 113/2566 แต่งตั้งคีย์แมนคนสำคัญ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดีกรีอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) น้องชายของตัวเอง เข้ามานั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค โดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งที่ 114/2566 แต่งตั้ง วราเทพ รัตนากร มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพรรคอีกด้วย

 

จังหวะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับยุทธศาสตร์ จัดแถวปรับทัพกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตรงกับจังหวะการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของ “เพื่อไทย” พอดี แน่นอนว่าชื่อของ “ธรรมนัส” เจ้าของฉายามือประสานสิบทิศ ถูกจับตาว่ามีบทบาทสำคัญอย่างไรหรือไม่

แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัสจะออกมาการันตีว่า การปรับโครงสร้างพรรคและกลับมาเป็นเลขาธิการพรรค ไม่เกี่ยวข้องกับการวางตัวไปประสานงานกับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประวิตรคิดมานานแล้วตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้มาดีลการตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น

ส่วนการตั้ง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เข้ามาเป็นกุนซือพรรคพลังประชารัฐนั้น ผู้กองธรรมนัสยังย้ำว่า “ยังไม่ได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท และไม่มั่นใจว่าท่านจะรับตำแหน่งนี้หรือไม่ เป็นการเสนอชื่อไปก่อน เนื่องจากมีคุณสมบัติพร้อม”

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่าการเปิดชื่อตัวละครคนสำคัญอย่าง “บิ๊กป๊อด” เข้าสู่สนามการเมืองครั้งนี้ เสมือนเป็นการวางตัวเพื่อเตรียมพร้อมเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐคนต่อไปหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น มีการมองว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “บิ๊กป๊อด” กับแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่มีความแน่นแฟ้น ย่อมสามารถเป็นตัวช่วยเจรจาต่อรองเรื่องการร่วมรัฐบาลระหว่างพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน

ฉะนั้น หลังจากนี้ ต้องจับตาดูว่า “บิ๊กป๊อด” จะรับตำแหน่งตามที่พี่ชายเสนอให้หรือไม่ หรือจะปฏิเสธลงเล่นสนามการเมืองในครั้งนี้ เพราะหลังจากเซ็นคำสั่งแต่งตั้งออกไป ตัว “บิ๊กป้อม” เองก็รูดซิปปากเงียบสนิท ไม่ได้อธิบายเหตุผลอะไรเพิ่มเติมอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หากอนาคตไม่ใช่ “พรรคลุง” แต่เป็นพรรค “น้องลุง” โอกาสที่พลังประชารัฐจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือเข้ามาเป็นสมการใหม่ในสูตรรัฐบาลของ “เพื่อไทย” ได้หรือไม่ ภายหลัง “ก้าวไกล” ถูกผลักออกมาไม่ได้เป็นหนึ่งในพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว

คงต้องรอลุ้นกัน!