ศึกษา ‘ประชาธิปัตย์’ ค้นหา ‘เพื่อไทย’ จากไม้ใหญ่-ไม้ใกล้ฝั่ง | เหยี่ยวถลาลม

กว่า 9 ปีที่ล่วงมานี้ ทุนใหญ่ทุนผูกขาดใครใคร่คว้าก็คว้า ใครใคร่ฉกฉวยเข้ายึดครองก็ยึด ใครจะเอารัดเอาเปรียบสังคมและผู้บริโภคกันอย่างไร องค์กรตัวแทนและนักธุรกิจขาใหญ่ทั้งหลายต่างสงบเงียบไร้ฤทธิ์เดช ไม่เห็นมีปรากฏ “ต่อมรักชาติ” หรือเป็นห่วงเศรษฐกิจจะทำงาน

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทำไทยถอยหลังไปหลายสิบปี!

“เผด็จการรัฐสภา” ของแท้ไม่ใช่ “เสียงข้างมาก” ของ ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่คือ “250 ส.ว.” ที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่งตั้งเอาไว้เพื่อให้ทำหน้าที่ “ยกมือ” โหวตผู้ที่จะมาเป็น “นายกรัฐมนตรี”

เผด็จการทหารไม่เคยลาจากเวทีการเมืองไทย!

ไม่ต้องย้อนไปไกลถึงยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส คนที่เกิดทันเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” ควรจะเข้าใจ “ฝ่ายขวา” ในสังคมไทยให้ลึกซึ้ง

 

ก่อนวันล้อมฆ่า 6 ตุลาคม 2519 “ฝ่ายขวา” วางแผนเตรียมการเป็นขั้นเป็นตอนมา 3 ปี จัดตั้งมวลชนแล้วปลุกระดมให้เกลียด สถานีวิทยุทหารโหมฟืนไฟ…ปั่นให้โกรธจนถึงขั้นเคียดแค้นชิงชังนิสิตนักศึกษา ใช้ความเท็จ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, เป็นคอมมิวนิสต์, ญวนยึดธรรมศาสตร์, เป็นศัตรูของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เอาไว้ไม่ได้ แม้ขณะนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีจาก “ประชาธิปัตย์” จะขัดขวางการใช้กำลัง แต่ก็สุดจะต้าน เด็กๆ ลูกหลานที่อายุยังไม่ถึง 20 กับ 20 ต้นๆ ถูกไล่ทุบตีทำร้าย ไล่ยิงไล่ฆ่าเหมือนล่าสัตว์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ส.ส.” ประชาธิปัตย์หลายคนถูกป้ายสีคอมมิวนิสต์ เป็นภัยความมั่นคง (ของใคร) ต้องหนีหัวซุกหัวซุน

อย่าลืมว่า ก่อน 6 ตุลาคม 2519 “ประชาธิปัตย” เป็นความหวังของคนหนุ่มสาว การเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2519 “ประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส.ถึง 114 จากที่นั่งทั้งหมด 279

แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวหน้าพรรค เป็นนายถนัด คอมันตร์ เลือกตั้งปี 2522 ส.ส.ของประชาธิปัตย์ จึงลดฮวบ จาก 114 คน เหลือ 35 ที่นั่ง

กระเตื้องขึ้นอีกครั้งเมื่อ “พิชัย รัตตกุล” ลูกหม้อขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

เลือกตั้งปี 2526 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้เพิ่มจาก 35 คนเป็น 56 คน และต่อมาเลือกตั้งปี 2529 ประชาธิปัตย์ก็กลายเป็น “พรรคอันดับ 1” ได้ ส.ส. 100 ที่นั่ง จากจำนวน 347 คน เป็น “แกนนำ” จัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ต้องรวมเสียงกับพรรคชาติไทย, กิจสังคม และราษฎร

แล้ว “ประเคน” เก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

“เปรม” วางมือให้นักการเมืองพลเรือนชั่วอึดใจ “รสช.” ก็ก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534

“ทหารการเมือง” นำประเทศสู่วิกฤตอีกครั้ง!

ภายใต้กติกาที่ซับซ้อนฉ้อฉลมุ่งหมายสืบทอดอำนาจของ “รสช.” ทำให้การเลือกตั้งปี 2535 นั้น “ประชาธิปัตย์” ตกที่นั่งลำบาก ได้มาเพียง 79 คน จากจำนวน ส.ส. 360

แต่ด้วยจุดยืนที่สู้รบกับเผด็จทหาร “ประชาธิปัตย์” ก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น

ในการเลือกตั้งปี 2538 ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 86 คน และเลือกตั้งในปี 2539 เป็น 123 คน

แม้แต่การเลือกตั้งปี 2544 ส.ส.ประชาธิปัตย์ก็เพิ่มเป็น 128 คน

เพียงแต่เป็น “พรรคอันดับ 2” ในขณะที่ “พรรคอันดับ 1” เป็นน้องใหม่นาม “ไทยรักไทย” ได้ ส.ส.ถึง 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 คน

เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ที่เกิดจาก “ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทยสร้างความแตกต่างฉีกแนวจากประชาธิปัตย์ด้วย “ประชาธิปไตยที่กินได้” ใช้ “นโยบาย” นำ “วาทศิลป์”

และเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” ไม่นั่งรอรายงานจากข้าราชการประจำ แต่รุกลงไปในพื้นที่และเนื้องาน ผุดสไตล์บริหาร “ผู้ว่าฯ ซีอีโอ”

เลือกตั้งในปี 2548 “ไทยรักไทย” จึงชนะถล่มทะลาย ได้ ส.ส. 377 คน กลายเป็น “เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ขณะที่ประชาธิปัตย์มี ส.ส. 96 คน

ทักษิณเป็นคนรุ่นใหม่ สร้างพรรคการเมืองที่เป็น “ความหวัง” นำความเปลี่ยนแปลงในทางเจริญและนำพาผู้คนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

แต่แล้วก็มี “คนจุดไฟ”

“ทักษิณ” ถูกป้ายด้วยสีเดิมๆ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งเสียงสอดรับผู้ชุมนุมต่อต้านทักษิณ ด้วยการ “ขอนายกฯ พระราชทาน” นายกฯ ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ศาลปกครองและศาลฎีกาเข้าเฝ้าว่า “…ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมากที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างผิด มันอ้างไม่ได้”

 

วันที่ 19 กันยายน 2549 พัฒนาการการเมืองไทยต้องชะงักลงอีกครั้ง

พรรคไทยรักไทย ดาวจรัสแสงของการเมืองไทยใน พ.ศ.นั้นถูกยุบ

“ประชาธิปัตย์” ที่เป็น 1 ในบรรดา “ลูกป๋า” ที่ยังคงโดดเด่นกลายเป็น “ความหวัง” ของฝ่ายขวา

หลังรัฐประหารปี 2549 เกมประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป

เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2550 “พรรคพลังประชาชน” ที่สืบเชื้อสายจาก “ไทยรักไทย” จึงชนะเลือกตั้งอีก ได้ ส.ส. 233 คน ส่วน “ประชาธิปัตย์” ได้ 164 คน

การเมืองบนกระดานที่เปิดเผยโหดขึ้น

นายกรัฐมนตรี 2 คนของพรรคพลังประชาชน ถูกสอยลงจากเก้าอี้

“พลังประชาชน” ก็ถูกยุบพรรคอีก

สถานการณ์บีบบังคับให้มี “การสลับขั้ว”

นักการเมืองบางคนโบกมือลานายด้วยน้ำตารินไหล ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ได้จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่

แต่ก็ถูกครหาว่า เป็นรัฐบาลที่ทำคลอดกันในค่ายทหาร!

เนื่องจากเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ถูกปู้ยี่ปู้ยำครั้งแล้วครั้งเล่า นับแต่นั้นมาบ้านเมืองจึงระส่ำระสาย นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ในปี 2553 จนกระทั่ง “ศอฉ.” ภายใต้รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม

เป็นเหตุให้มีคนตายรวม 99 ศพ บาดเจ็บและพิการเกือบ 3 พันคน

เป็นคดีอาญาที่ยังคาราคาซัง และยังไม่เป็นที่ “ยุติธรรม” มากว่า 13 ปี

 

เลือกตั้งในปี 2554 “พรรคเพื่อไทย” สายพันธุ์ทักษิณ ที่ชู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ชนะเลือกตั้งท่วมท้น ได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง

“ประชาธิปัตย์” แพ้ราบ!

ไม่รู้ใครสมคบกับใคร จุดไฟให้ไหม้ลาม

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถอยสุดซอยด้วยการยุบสภาปลายปี 2556 แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

แต่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีของประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ประสานความเคลื่อนไหวกับ “40 ส.ว.” ที่นำโดยนายสมชาย แสวงการ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศรุกฆาตให้ “ยิ่งลักษณ์” ลาออก และให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

พร้อมกันนั้น “ประชาธิปัตย์” ประกาศ “บอยคอตเลือกตั้ง”!

 

จากนั้นถนนทุกสายก็มุ่งสู่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็น “ต้นธารวิกฤตการณ์” ของประเทศมาจนถึงวันนี้

วันนี้… “ประชาธิปัตย์” แทบสิ้นเนื้อประดาตัวทางการเมือง มี ส.ส. 25 คน

“เพื่อไทย” พรรคสายพันธุ์ทักษิณ กำลังถูกฝ่ายขวาลดสถานะจาก “ศัตรูหมายเลข 1”

สรรพกำลังฝ่ายขวาทั้งหมดมุ่งบดทำลาย “ก้าวไกล” เช่นเดียวกับที่ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” เคยประสบ!?!!!