33 ปี ชีวิตสีกากี (31) | ระบบ ‘พรรคพวก-อุปถัมภ์’ เหนือระบบ ‘คุณธรรม’

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ตอนที่เรียนผมเป็นลูกศิษย์ของ ร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ นรต.รุ่น 25 ซึ่งเพิ่งจบการศึกษามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จากการได้ทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอก ด้วยคะแนนที่ยอดเยี่ยม จนได้รับรางวัล Outstanding Graduate Student Award

อาจารย์ปุระชัยสอนได้สนุกมาก ผมชอบฟังการบรรยาย ที่นำประสบการณ์ชีวิตในขณะที่ไปศึกษาที่ต่างประเทศมาเล่าให้ฟัง และผมอยากรู้ว่า เขาไปอยู่กันยังไง บ้านเมืองเขาเป็นยังไง

แต่พวกนักเรียนนายร้อยตำรวจให้ฉายาอาจารย์ปุระชัยในเวลานั้นว่า “Outstanding” พอพูดถึงคำนี้รู้เลยว่าหมายถึงใคร

ในเดือนกันยายน 2523 ผมได้รับคำสั่งร่วมกับเพื่อนๆ แต่งชุดปกติขาว คาดกระบี่สั้น ไปงานแสดงคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์ราชนาวี ที่โรงละครแห่งชาติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จมา ได้ฟังเพลงคลาสสิค และเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เป็นประสบการณ์ใหม่ ช่วงเวลาที่ภายในโรงละครมีแสงสว่างไม่มากนักเพราะมีการหรี่แสงไฟให้เข้ากับบรรยากาศของเสียงเพลงจากการบรรเลงของวงออร์เคสตรา เพชรได้ส่งประกายวูบวาบแวววาว เป็นประกายที่ส่องออกมากระทบสายตาในเงามืดๆ มัวๆ

ในขณะที่ผมนั่งบนอัฒจันทร์ และเมื่อมองลงไปในแสงเงาสลัวๆ แสงที่เป็นประกายจึงโดดเด่นเหนือสิ่งใด ณ บริเวณนั้น

 

ชีวิตของนักเรียนนายร้อยตำรวจในชั้นปีที่ 3 ส่วนใหญ่จะถูก ร.ต.อ.สุริยา กลิ่นฟุ้ง ทำโทษบ่อยมาก เช่น กักบริเวณทั้งกองร้อยหรือทุกคน โทษฐานเดินแถวไม่เรียบร้อย หรือระเบียบวินัยไม่ดี หรือวิ่งรอบสระจำนวนหลายรอบ แม้กระทั่งการเข้ายาม เพราะทำความสะอาดไม่ดี มีฝุ่นในล็อกเกอร์ ปืนมีสนิม ถูกผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ จดชื่อเมื่อไปตรวจความสะอาดส่วนรวมไม่ดี ไม่เรียบร้อย

ผมยังโดนทำโทษส่วนตัวอีกต่างหาก เช่น ต้องเข้ายาม เพราะไม่ทำความเคารพผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ หรือเขียนรายงานผิด ก็เพิ่มโทษ แม้กระทั่งใส่เสื้อยืดที่ไม่ใช่คอแดง ก็ถูกทำโทษ

เมื่อกลับเข้าไปที่ตอนเรียนขอเล่าในภาพรวมทั้งปีว่าชั้นปีที่ 3 เรียนอะไรกันบ้าง และหยิบยกมาเล่าเป็นเพียงบางส่วนจากแต่ละวิชา

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงวิชาการมันน่าเบื่อหน่ายมากๆ และไม่สนุก แต่จำเป็นเพราะเป็นหลักการของการทำงานที่เป็นสากลทั่วโลกที่เขาก็เรียนกัน เช่น วิชาการบริหารงานบุคคล (Personnel Administration, Personnel Management) ซึ่งสอนโดย พ.ต.อ.สุทิน เอมพัฒน์ ได้สอนในตอนเรียนไว้ว่า หมายถึง การบริหารหรือการจัดการงานในด้านที่เกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานในองค์การใดๆ องค์การหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน โดยให้มีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ใช้กำลังพล (Man power) ได้เกิดประโยชน์เต็มที่ เพื่อรักษากำลังแรงงาน บำรุงส่งเสริมสมรรถภาพ และกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ดี มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสำเร็จเป้าหมายขององค์การ

ซึ่งหัวข้อที่ศึกษามี วิธีสรรหา, คัดเลือก, บรรจุ, แต่งตั้ง, สวัสดิการ, โยกย้าย, การลงโทษ, การเลื่อนชั้น, การบำรุงขวัญ, การฝึกอบรม ตลอดจนการออกจากองค์การ

อาจารย์ได้ย้ำว่า ความสำคัญของการบริหารงานบุคคล เพื่อที่จะให้ดำเนินงานบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประหยัดที่สุด

In put ‘คน’ out put สิ่งใดก็ตามถ้าสิ่งที่ออกมาได้เท่ากับสิ่งที่ใส่เข้าไป แสดงว่างานนั้นมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบ Merit System แต่ก็มีระบบ Spoils System แอบแฝงอยู่ เช่น พรรคการเมือง

สำหรับ Merit System คือ ระบบคุณธรรม เป็นหัวใจ ต้องการเอาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน

ส่วน Spoils System เป็นระบบพรรคพวก กับ Patronage System เป็นระบบอุปถัมภ์

ทั้งสองระบบ เป็นระบบสมัยเก่า

แต่ปี พ.ศ.2565 การบริหารงานบุคคลในประเทศไทย เขาสลับกันเน้นระบบ Spoils System กับระบบ Patronage System เป็นหลัก ส่วนระบบ Merit System น่าจะลืมไปได้เลย

มีอย่างที่ไหน เลื่อนตำแหน่งกันปีละตำแหน่ง เลื่อนยศกันแทบไม่ทัน ใช้เวลาแค่ลัดนิ้วมือเดียว เป็นพลตำรวจเอก

ยิ่งมาศึกษาทำความเข้าใจหลักของระบบ Merit System ที่อาจารย์สอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อยุคสมัยผม กับตอนนี้ ถ้าอาจารย์ยังอยู่ คงจะตกใจจนหงายท้องแน่เลย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำตรงข้ามหมด มาดูกันว่า หลักของระบบ Merit System คือ

1. หลักความรู้ความสามารถ ต้องยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ ในการเข้าทำงาน, การสอบคัดเลือก, การเลื่อนชั้น, เลื่อนตำแหน่ง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ

2. หลักเสมอภาค การเปิดโอกาสเท่าเทียมกัน แก่ผู้ที่มีคุณวุฒิเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ

3. หลักความเป็นกลาง เป็นกลางในทางการเมือง ข้าราชการประจำต้องแยกออกจากข้าราชการการเมืองอย่างเด็ดขาด ไม่ยุ่งกับพรรคการเมืองฝ่ายใด เป็นผู้รับนโยบายมาปฏิบัติเท่านั้น

หรือคำพูดที่พูดกันมาเนิ่นนาน และฟังจนติดหู จนเป็นอมตะวาจาในการบริหาร ว่ากิจการใดจะสำเร็จต้องทำแบบนี้

“PUT THE RIGHT MAN ON THE RIGHT JOB” กับคำว่า “PUT THE RIGHT MAN ON THE RIGHT PLACE”

 

ในชั่วโมงเรียน ใช้เวลานานหลายชั่วโมงเรียนรู้เรื่องการบริหารงานที่จะทำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในทางปฏิบัติเมื่อผมไปทำงาน ไม่ได้ทำตามในสิ่งที่ผมได้รับความรู้มาจากในชั้นเรียนเลย

ดังนั้น ระบบราชการของไทยจึงถดถอยและไร้ประสิทธิภาพลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้

ผมคิดว่าหลักการบริหารงานบุคคล ที่เป็นระบบเส้นสาย พรรคพวก น่าจะเกิดจากตำรวจก่อนที่อื่น แล้วก็ซึมขยายออกไป เหมือนไวรัส ที่ยังไม่สามารถหาวัคซีนมาป้องกันได้ จนกระจายไปทั่วทั้งระบบราชการทั้งประเทศ ความเละเทะ ฟอนเฟะ จึงปรากฏให้เห็น

แหละนี่คงจะเป็นความเสื่อมและตกต่ำที่สุดของวงการตำรวจ และน่าจะตกต่ำลงไปได้อีก

แทนที่จะคัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารเพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองมีความสุขความเจริญ กลับคัดเลือกแต่พวกพ้องที่มีเส้นสาย

เมื่อได้ตำแหน่งก็มาเสาะแสวงหาแต่ผลประโยชน์ คอยช่วยเหลือพวกพ้องอยู่แค่นั้น

 

อาจารย์มานิตย์ ชัยมงคล และอาจารย์วินัย อ.ศิวะกุล ได้สอนการบริหารการคลังและงบประมาณ (Finance and Budget) อาจารย์ได้สอนนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ถ้านับเวลาว่าผ่านมานานแค่ไหน จากวันนั้นจนมาถึงในขณะนี้ เอาง่ายๆ เลยนายตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการในวันนี้บางคนยังไม่เกิดเลย โดยอาจารย์สอนไว้ว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้อย่างประหยัด โดยผ่านกระบวนการผลิต แลกเปลี่ยน และการจัดสรร ซึ่งทุกฝ่ายมีความต้องการ (Want) Limit และ Unlimit

Natural Resource Limited

Want Unlimited

แต่ทั้งสองกรณี คือ Scarcity คือ ความขาดแคลน

วิชางบประมาณ เป็นสาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์มหภาค เนื่องจากงบประมาณเป็นสาขาวิชาที่ใหญ่มากจึงต้องหาตำราที่ได้ประโยชน์มากที่สุดมาศึกษา และแบ่งหัวข้อวิชาการบริหารการคลังและงบประมาณ ดังนี้

1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ Finance

2. วิธีการจัดทำ Budget ของประเทศไทย

2.1 การเตรียม Budget, วิธีการขอ Budget, การพิจารณาจัดสรร Budget การกำหนดวงเงิน

2.2 การอนุมัติ Budget

2.3 การบริหาร Budget

เมื่อผมย้อนนึกทบทวนวิชาที่เล่าเรียนกันมาในสมัยก่อนนั้น อาจารย์ก็สอนแต่หลักการที่ดี แต่ทำไมงบประมาณแต่ละโครงการของราชการไทยมันถึงได้เละเทะสิ้นดี งบประมาณรั่วไหล ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

ยิ่งผมได้เห็นผู้บริหารตำรวจในยุคทำโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท มันเศร้าใจมาก และแทนที่ระบบราชการควรจะดีขึ้น การทุจริตต้องลดลง แต่มันกลับเพิ่มเป็นทวีคูณ

จนประเทศแทบจะไร้อนาคต