คนวงการศึกษา…สะท้อนฉากทัศน์ รอ 10 เดือน ตั้งรัฐบาลใหม่ทำประเทศ ‘สูญเสีย-ตกต่ำ’

นาทีนี้ ทุกคนต่างติดตามกันอย่างใกล้ชิด หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม มีมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง ว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อโหวตเป็นนายกฯ รอบที่ 2 ทำไม่ได้ เป็นญัตติซ้ำ และขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41

ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลในเวลานี้ ต้องได้เสียงโหวตจากสมาชิวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย ซึ่งทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก แม้ขณะนี้ พท.จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

จนมีผู้เสนอให้ยื้อการจัดตั้งรัฐบาลออกไปอีก 10 เดือน เพื่อให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันหมดวาระ และไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.ในการโหวตนายกฯ

ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น ทั้งข้อดีและข้อเสียของการรอให้ ส.ว.หมดวาระไปบ้างแล้ว ขณะที่ฟากฝั่งคนในแวดวงการศึกษา ที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด ต่างออกมาให้ความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

 

เริ่มจากนายธนารัชต์ สมคเณ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร (สพม.เขต 1 กทม.) ระบุว่า หากต้องรออีก 10 เดือน ขณะที่นักเรียน และเยาวชน กำลังมีปัญหา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็ท้อแท้ในวิชาชีพ ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้บริหารก็เกียร์ว่าง ไม่กล้าตัดสินใจ ผู้บริหารแต่ละคนยิ่งต้องเอาตัวรอด ไม่กล้าทำอะไร เหมือนทำงานไปวันๆ เฝ้าฟังว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และเฝ้าฟังว่าจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไร

“เมื่อได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ งานแรกที่ควรจะทำคือ บริหารงานในกระทรวงให้ดี กล้าที่จะลงแส้ผู้บริหารในกระทรวง ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ จะให้ผู้บริหารทำงานไปวันๆ ไม่ได้ และคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะมาคิดเดิมๆ ไม่ได้ รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหากปล่อยการศึกษาไว้แบบนี้ ต่อไปทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง จะไม่มีความหวังกับการศึกษาไทย”

นายธนารัชต์ระบุ

 

ด้านตัวแทนจากโรงเรียนเอกชนอย่าง นายณัฐวุฒิ ภารพบ นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะต้องรออีก 10 เดือน ถึงจะจัดตั้งรัฐบาล หากรอไปแล้วยังร่วมกันตั้งรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่รอมาทั้งหมดก็ล้มเหลว จึงอยากให้ทุกฝ่ายเอาประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะหากต้องรอ 10 เดือน ไม่ใช่แค่ ศธ.ที่กระทบ แต่ทุกกระทรวงจะได้รับผลกระทบหมด

แล้วอย่าลืมว่าถ้ารอไปอีก ระบบการศึกษาของประเทศที่มีเด็กหลายล้านคน ครูอีกหลายแสนคน จะได้รับผลกระทบอย่างมาก การศึกษารอไม่ได้ และนโยบายการศึกษาต่างๆ ไม่ใช่ออกวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะเห็นผลทันที ต้องให้เวลาเป็นเดือน หรือปี ที่จะเห็นผล

ส่วนนายประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ในฐานะนายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่กระทบกับการจัดการอาชีวศึกษาเอกชนมากนัก ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่ว่าจะมาจากพรรครุ่นเก่า หรือพรรครุ่นใหม่ เราก็อยู่ได้เหมือนเดิม เพราะอาชีวศึกษาเอกชนถือเป็นห่วงโซ่สุดท้าย ที่จะมีคนมาสนใจ และดูแล

“สวทอ.ไม่ตั้งธงว่าต้องการให้ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พวกเรายินดีทั้งหมด เพราะเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนจะให้ความสำคัญกับการศึกษา และมองว่าอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาที่ช่วยพัฒนาชาติของเรา แต่อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ เห็นใจอาชีวศึกษาเอกชนมากขึ้นด้วย” นายประเสริฐระบุ

 

ตัวแทนจากฝั่งอุดมศึกษา ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้ข้อคิดน่าสนใจว่า การเสนอให้รอจนกว่า ส.ว.ครบวาระอีก 10 เดือนข้างหน้า หากมองในมุมของผู้ต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.เพื่อให้โหวตนายกฯ ได้ ในประเด็นนี้ดูเหมือนว่าอาจจะง่าย แต่ไม่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ที่กำลังรอรัฐบาลใหม่เข้ามาสะสางปัญหา และความเดือดร้อนของประชาชน

ส่วนสเป๊กรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นั้น ผศ.ดร.รัฐพงศ์มองว่า ควรเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความเข้าใจ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการให้ตอบโจทย์บริบทของการอุดมศึกษา รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการ อว.คนใหม่ จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการที่แตกต่างจากอดีต ภายใต้นโยบาย และแผนกลยุทธ์ พร้อมกับแสวงหาเครือข่ายทั้งใน และนอกประเทศ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางอนาคต ให้พันธกิจที่เกี่ยวข้องบรรลุเป้าประสงค์ และจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

“เพราะ อว.เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้ในหลากหลายมิติ รัฐมนตรีว่าการ อว.คนใหม่ จึงต้องเป็นอัศวิน หรือคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รอยโจทย์ได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญมิติผู้ที่ตั้งรัฐบาลในอนาคตจะต้องตระหนัก และไม่ควรมองข้าม คือต้องคัดสรรบุคคลที่พร้อม และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน”

“ไม่ควรนำแนวคิดจัดคนตามกระทรวงเกรดเอ หรือเกรดบี ซึ่งอาจจะส่งผลให้งานของกระทรวงล้มเหลวก็ได้” ผศ.ดร.รัฐพงศ์ระบุ

 

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่าถ้า 10 เดือน ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การศึกษาจะได้รับผลกระทบมาก เด็กจะออกกลางคันเพิ่มมากขึ้น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะมาปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการศึกษา จะถูกม้วนเสื่อกลับ หรือล่าช้าเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี ระบบที่ครูคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูป เช่น ระบบการผลิตครู งานเอกสาร การสอนหนังสือ จะช้า ล้าหลังไปอีก การศึกษาไทยที่ตกต่ำไปแล้ว จะตกต่ำมากขึ้นอีก ไม่มีคนบริหารงาน ไม่มีใครกล้าตักสินใจ ไม่มีใครกล้าเดินหน้า เราช้ามา 8 ปี และจะช้าอีก 10 เดือนจริงหรือ?

“การเมืองขณะนี้ขัดแย้งจนหาข้อยุติที่สร้างสรรค์ไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างยืด เอาจุดยืนของตนเป็นหลัก ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประเทศ การเมืองต้องคลายล็อก พูดคุย ถึงเวลาที่นักการเมืองจะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าพรรค และมากกว่าประโยชน์ของกลุ่มตัวเองได้แล้ว” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ต้องจับตาดูต่อไปว่า พท.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักการเมือง จะนึกถึงประชาชนเป็นหลัก และเดินหาจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

เพราะหากช้ากว่านี้ นอกจากประเทศจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ก็ได้แต่ตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่ “การศึกษา” ของประเทศ จะพัฒนาเสียที!! •

 

| การศึกษา