ยังไม่เชื่อ ‘อำนาจประชาชน’

ไม่ผิดแน่นอนหากจะสรุปว่า “กระแสประชาชนผิดหวังกับความเป็นไปทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง”

ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนถูกปูพื้นมายาวนานให้เห็นความเลวร้ายของ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ”

แต่เมื่อประชาชนแสดงความเหลือทนด้วยการพร้อมอกพร้อมใจออกมาเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์การเลือกตั้งไทย เพื่อให้พรรคการเมืองที่ประกาศตัวสู้กับ “ระบอบสืบทอดอำนาจ” ได้รับชัยชนะเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบไว้เพื่อด้อยค่า “อำนาจประชาชน”

ผลการเลือกตั้ง “อำนาจประชาชน” ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น “พรรคการเมือง” ที่ประกาศสู้กับ “การสืบทอดอำนาจ” ชนะท่วมท้น ได้เสียงกว่าค่อนสภา 312 เสียง ทิ้งพรรคร่วมมือสนับสนุนสืบทอดอำนาจไม่เห็นฝุ่น

หลังเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่เปี่ยมด้วยความหวังว่าประเทศจะเปลี่ยนเพื่อหลุดพ้นจากการครอบครองของ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ” เสียที

แต่ความยินดีปรีดาจากผลงานเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดผลการเลือกตั้งนั้นต้องสูญสลายไปในไม่กี่วัน

ชนะใน “เกมการเลือกตั้ง” แต่ใน “เกมการเมือง” แค่กลุ่มอำนาจเก่าขยับไม่กี่ท่า “ชัยชนะของประชาชน” ก็ระเนระนาด เพราะ “นักการเมืองไม่มีพลังพอที่จะต้านทานอิทธิฤทธิ์ของกลไกสืบทอดอำนาจ”

ไม่ใช่แค่แพ้ธรรมดา พรรคที่มาจากอำนาจประชาชน “พ่ายยับเยิน” ถึงขนาดศรัทธาประชาชนที่ค้ำจุนคุ้มครองยังถูกทำให้สั่นคลอน

 

หากสรุปว่าพรรคที่สั่นสะเทือนหนักคือ “พรรคเพื่อไทย” แม้จะได้เป็นแกนนำรัฐบาล แต่จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ถึงวันนี้ “ความคิดที่ว่าเจตจำนงประชาชนที่ต้องการยุติขบวนการสืบทอดอำนาจ ล้มเหลว เพราะความรวนเรไม่หนักแน่นของพรรคเพื่อไทย ที่เต็มไปด้วยดีลลับเพื่อวาระซ่อนเร้นมากกว่าที่จะยืนหยัดกับเจตนารมณ์ประชาชน”

ผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นแกนนำรัฐบาลอาจจะคุ้มค่าสำหรับนายทุน และนักธุรกิจการเมืองในพรรค แต่นอกจากเศษเสี้ยวเงินที่โยนมาให้ด้วยนโยบายประชานิยมแล้ว สำหรับประชาชนต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่กับความหวังต่อความเปลี่ยนแปลงที่ฝากไว้ในขณะกาบัตรเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม กลวิธีที่จะผ่อนความรู้สึกผิดให้เบาขึ้น โดยกระจายความพลาดไปให้พรรคอื่นเป็นทางออกที่ไม่เลวนัก

“นิด้าโพล” ล่าสุดดูเหมือนจะช่วยกระจายด้วยผลสำรวจเรื่อง “ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล” ด้วยการตั้งคำถามและกำหนดคำตอบให้เลือกไว้อย่างได้ผล

 

คําถามแรก “คิดว่าอะไรคือข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้” คำตอบที่มีให้เลือกคือ พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย มีคนเลือกข้อนี้มากที่สุดคือร้อยละ 42.98

แม้คำตอบร้อยละ 30.46 จะระบุว่าพรรคก้าวไกลไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งนั้น

ร้อยละ 27.56 พรรคก้าวไกลสู่เกมในสภาไม่ได้

แต่มีคำตอบให้เลือกอีกมากมายที่ชี้ให้ไปที่ความผิดพลาดเกิดจากพรรคก้าวไกล

เช่น ทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่มีพันธมิตรทางการเมือง ร้อยละ 11.68, ไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทยๆ ร้อยละ 10.23, ประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 9.54, สร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 7.94, พฤติกรรมแฟนคลับ ร้อยละ 7.86, หลงกับตัวเลข 14 ล้านเสียงและ 151 ส.ส.มากเกินไป ร้อยละ 6.11, กุนซือและนักวิชาการที่อยู่นอกพรรคประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ร้อยละ 5.88

เรื่องที่เลือกมาให้ตอบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกมการเมือง แทบไม่มีคำตอบไหนที่เอาเรื่องผลงานและนโยบายมาให้เลือก

และการตั้งคำถามและวางคำตอบให้เลือกที่น่าสนใจอย่างมากในโพลนี้คือ “มีความป็นไปได้แค่ไหนที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากร และวิธีการดำเนินการทางการเมืองที่คล้ายกับพรรคก้าวไกล แต่มีความประนีประนอมมากกว่าเกิดขึ้น”

คำตอบมากที่สุดคือร้อยละ 35.8 ค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 33.89 เป็นไปได้มาก, ร้อยละ 19.54 เป็นไปไม่ได้เลย, ร้อยละ 9.62 เป็นไปไม่ค่อยได้, มีร้อยละ 1.07 ที่ไม่ตอบ

หากจะสรุปว่าการเมืองประเทศไทย ในมือของผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไป ทั้งในรัฐสภา และในการสร้างกระแสประชาชน ล้วนแล้วแต่มุ่งไปที่ร่วมกันสร้างพรรคการเมืองที่พร้อมประนีประนอมมากกว่าแบบสู้หัวชนฝาอย่างก้าวไกล คงเป็นการสรุปที่ไม่ผิด

เพียงแต่ผู้มีอิทธิพลต่อความเป็นเหล่านั้น เดินไปในทางเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องยืนยันคำตอบกันอีกครั้ง

หลังจากประชาชนยืนยันหนักแน่ให้เห็นด้วยทำให้ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

แต่การท้าทาย “อำนาจประชาชน” ยังทรงพลังมากกว่า