เผยความลับข้างหลังภาพเขียนโบราณ ด้วย ‘เทคโนโลยีโอมิกส์’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

เผยความลับข้างหลังภาพเขียนโบราณ

ด้วย ‘เทคโนโลยีโอมิกส์’

 

เมื่อนักวิทย์ใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ (Omics technology) เพื่อศึกษาภาพเขียนอายุนับร้อยปี ผลที่ได้ทำให้พวกเขาถึงกับอึ้ง!

ในปี 2023 นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันในยุโรป นำโดยมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (The University of Copenhagen) ร่วมกันผนวกเทคนิคทางอณูชีววิทยาเข้ากับเทคโนโลยีทางเคมีขั้นสูงอย่างแมสส์สเปกโตรเมทรี (Mass Spectrometry) เพื่อศึกษาภาพวาดศิลปะอายุเกือบสองศตวรรษจากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเดนมาร์ก เพื่อค้นหาว่าบนผืนผ้าใบจากภาพอันวิจิตรนั้นมีโปรตีนและสารชีวภาพอะไรซ่อนอยู่

และผลลัพธ์ที่ได้ทำให้พวกเขาพิศวงงงงวย

“ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย สำหรับนักอนุรักษ์ นี่เป็นอะไรที่ประหลาดมาก” เซซิล ครารัป แอนเดอร์เซน (Cecil Krarup Andersen) หนึ่งในนักวิจัยในทีมและภัณฑารักษ์ศิลปะจากราชวิทยาลัยเดนมาร์ก (Royal Danish Academy) กล่าว สำหรับเซซิลนี่คือการเติมเต็มอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ที่สูญหายไป ซึ่งทำให้เธอตื่นเต้นมาก

และหลังจากที่วารสาร Science Advances ตีพิมพ์การค้นพบของพวกเขาออกมา เหล่านักประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์งานศิลป์ส่วนใหญ่ก็ถึงกับอึ้งกิมกี่ไปไม่ต่างกัน งานวิจัยนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการศิลปะที่ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายในหลายสื่อ…

เพราะความลับของศิลปะจากยุคทองของเดนมาร์ก (Danish Golden Age) ที่ทำให้ภาพดูงดงาม สีสันนุ่มนวลมีเสน่ห์ และเหมือนจริงจนน่าทึ่งนั้น ก็คือ “เบียร์” (หรือถ้าว่ากันตามจริง ก็ส่ายีสต์ที่เหลือจากการหมักเบียร์)

Creator: Eckersberg, C.W. (creator); Date: 1834; Material: lærred; olie; Olie på lærred; Oil on canvas; Measurements: 790 x 1130 mm

คําถามแรกที่ผุดขึ้นมาในใจผมแทบจะในทันที เซซิลนี่ช่างกล้า เอาชิ้นส่วนภาพเขียนล้ำค่ามาสกัดโปรตีนแล้วศึกษาด้วยแมสส์สเปกโตรเมทรี ซึ่งหลังจากทดลองแล้ว ไม่น่าจะเหลืออะไรให้เอากลับมาใช้ใหม่ได้ แต่พอเช็กรายละเอียดแล้วก็โล่งใจเพราะภาพวาดอันวิจิตรนั้นยังอยู่ครบสวยงาม ไม่ได้ถูกฉกบางส่วนออกมาให้ด่างพร้อยแต่อย่างใด

เรื่องของเรื่องคือในช่วงทศวรรษที่ 1960s มีการสังคายนาภาพเขียนที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ เพื่อคัดเลือกภาพสำหรับนำไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ ทีมภัณฑารักษ์และนักอนุรักษ์งานศิลป์ในเวลานั้นก็เลยได้ฤกษ์ทำการฟื้นฟูและคงสภาพภาพเขียนเหล่านี้เสียใหม่ด้วยการนำภาพเขียนเดิมไปประกบและยึดติดกับผ้าใบผืนใหม่โดยใช้ขี้ผึ้งและยางไม้ธรรมชาติเป็นตัวเชื่อม (wax-resin lining) แล้วรีดด้วยความร้อนจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน หรือที่พวกภัณฑารักษ์จะเรียกกันว่า “เทคนิคดัตช์ (Dutch method)”

ในระหว่างการฟื้นฟู พวกเขาจะต้องเล็มขอบของผ้าใบเดิมที่รุ่ยหรือเกินออกมาออก เพื่อให้ผืนภาพเขียนพอดีกันกับผืนผ้าใบใหม่ที่หามาประกบ

เศษผ้าใบจากภาพเขียนที่ถูกเล็มทิ้งพวกนี้คือชิ้นตัวอย่างที่ดีเลิศประเสริฐศรีที่ภัณฑารักษ์เซซิลสามารถจะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัย…

Modelfigur. Siddende dreng-Nude Figure. Sitting Boy ปี 1833 ที่ใช้รองพื้นเป็นกากเบียร์ของคริสเตน คอปเก้

เศษผ้าใบที่เธอเลือกมานั้นมาจากภาพเขียน 10 ภาพที่เขียนขึ้นมาในช่วงปี 1826-1838 โดยจิตรกรที่เลื่องชื่อที่สุดจากยุคทองของเดนมาร์ก 2 คน

คนแรกก็คือ คริสตอฟเฟอร์ วิลเฮล์ม เอ็กเคอร์สเบิร์ก (Christoffer Wilhelm Eckersberg) ปรมาจารย์งานศิลป์ผู้บุกเบิกเทคนิคการเขียนภาพเสมือนจริงสีนุ่มนวลที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพแห่งยุคทอง คริสตอฟเฟอร์ได้รับการขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งงานศิลปะแห่งเดนมาร์ก”

ส่วนคนที่สองก็คือ คริสเตน คอบเก้ (Christen KØ

bke) ลูกศิษย์หัวแก้วหัวแหวนของคริสตอฟเฟอร์ที่มีฝีแปรงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้อาจารย์

หลังจากที่ได้เศษผ้าใบจากภาพเขียนโบราณมาครอบครอง เซซิลก็เริ่มจับมือกับทีมนักเคมีและนักอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) และมหาวิทยาลัยลูบลิยานา (University of Ljubljana) ในสโลวีเนีย เพื่อการทำโปรติโอมิกส์ (Proteomics) หรือก็คือการจำแนกชนิดโปรตีนทั้งหมดในผืนผ้าใบของสองศิลปินดัง และยืนยันผลด้วยการทำเมตาโบโลมิกส์ (metabolomics) หรือก็คือการจำแนกชนิดของสารชีวภาพทั้งหมดจากชิ้นผ้าใบอีกรอบ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาทั้งน่าตื่นเต้นและน่าประหลาดใจ

ในเจ็ดจากสิบภาพ โปรตีนและสารชีวภาพที่พบเจอในปริมาณที่เยอะมากจนน่าตกใจ ก็คือ โปรตีนที่มาจากยีสต์หมักเบียร์ที่เรียกว่า Saccharomyces cerevisiae และจากธัญพืชต่างๆ มากมายที่พบเป็นองค์ประกอบของการหมักเบียร์ ทั้งบัควีต ข้าวไรย์ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เล่ย์

ซึ่งจากประสบการณ์ศึกษางานศิลป์มาอย่างยาวนานของเซซิล ปกติแล้ว องค์ประกอบพวกนี้ไม่เคยมีรายงานพบในภาพเขียนมาก่อน

ที่จริง เซซิลและทีมก็ไม่ได้ฟันธงเป๊ะว่าจะต้องเป็นเบียร์เพียงอย่างเดียว แต่ที่พวกเขามั่นใจก็คือพวกองค์ประกอบพวกนี้น่าจะเป็นผลมาจากการหมักแอลกอฮอล์

ซึ่งนอกจากเบียร์แล้ว ก็มีอีกเมนูที่พวกเขาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นไปได้ ก็คือ เหล้าสแกนดิเนเวียที่หมักมาจากธัญพืชหรือมันฝรั่งกับเครื่องเทศต่างๆ ที่นิยมดื่มกันในยุคนั้นที่เรียกว่า “อควาวิต (Aquavit)” หรือ “อคีวิตต์ (Akevitt)”

 

ถ้าย้อนมองประวัติศาสตร์ แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้อย่างสูง เพราะแม้ว่าต้นทศวรรษที่ 19 หรือช่วงปี 1800-1850 จะถูกเรียกว่าเป็นยุคทองอันเรืองรองของเดนมาร์ก แต่สถานการณ์ในเดนมาร์กในตอนนั้นไม่ได้รุ่งโรจน์ดังชื่อยุค แต่กลับร่วงโรยเพราะอัคคีภัยครั้งใหญ่ในโคเปนเฮเกนในปี 1795 (Copenhagen fire of 1795) และภัยสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับสหราชอาณาจักร (Battle of Copenhagen 1801 และ Bombardment of Copenhagen 1807)

ภัยสงครามและมลพิษจากเพลิงไฟทำให้สถานการณ์ในเมืองย่ำแย่ อาหารขาดแคลน กองทหารก็แทบไม่เหลือ น้ำจากแหล่งน้ำในเวลานั้นก็สกปรกไม่เหมาะแก่การดื่มกิน

เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่จะเอามาดื่มนั้นสะอาด ดื่มได้โดยไม่ต้องกังวล ประชาชนแห่งเดนมาร์กจึงหาวิธีฆ่าเชื้อในน้ำก่อนดื่ม

และหนึ่งในกระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำของพวกเขาเพื่อการดื่มกินก็คือการหมักเบียร์และกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เครื่องดื่มยอดนิยมชาวเดนิชในช่วงยุคทอง ก็คือ เครื่องดื่มสีทองมีฟองเล็กน้อย และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ศิลปินชาวเดนิชมีความคิดสร้างสรรค์แบบสุดสุดก็เป็นได้

หมักเบียร์ก็ต้องมีกากเบียร์ กลั่นเหล้าก็ต้องมีส่าเหล้า แน่นอนว่าเมื่อมีการหมักเบียร์และเหล้ากันอย่างแพร่หลาย ของเสียที่เป็นผลพวงจากการหมักอย่างกากเบียร์ และส่าเหล้า ก็เลยมีเหลือทิ้งกระจัดกระจายหาได้ง่ายดาย ไปที่ไหนก็เจอ

เซซิลและทีมวิจัยเชื่อว่าชาวเดนิชในยุคนั้น คงไม่ทิ้งส่าเหล้าและกากเบียร์ไปแบบไร้ประโยชน์ พวกเขาน่าจะมีวิธีการเอาของเสียพวกนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย

แต่ที่พวกทีมวิจัยคาดไม่ถึงคือเอามาใช้ในงานศิลปะ

 

เบียร์นั้นให้แรงบันดาลใจ และกากเบียร์นั้นไซร้ก็ใช่จะไร้ประโยชน์ แน่นอนว่าไม่ได้สาดๆ หยดๆ จนลายพร้อยแบบภาพแอ๊บสแตร็กต์สมัยใหม่

แต่เอามารองป้ายเคลือบรองพื้นผืนผ้าใบสำหรับศิลปิน ทำให้ผ้าใบเรียบเนียน คงรูปและติดสีได้อย่างนุ่มนวลสดใสเป็นเอกลักษณ์

และนั่นคือสาเหตุที่ทำไมทีมวิจัยของเซซิลถึงได้เจอองค์ประกอบของเบียร์อยู่ครบจบบนผืนผ้าใบ ทั้งยีสต์หมักเบียร์ ทั้งธัญพืชสารพัดในผลการทดลองทั้งโปรติโอมิกส์ และเมตาโบโลมิกส์ เธอเชื่อว่ายีสต์ส่าเหล้านี่แหละที่น่าจะเป็นสูตรลับสำหรับทรีตผืนผ้าใบจิตรกรรมของศิลปินจากยุคทองอันเรืองรองของพวกเดนิช

โดยปกติแล้ว ศิลปินส่วนใหญ่ในในยุคโบราณ มักจะเคลือบรองพื้นผืนผ้าใบด้วยอะไรสักอย่างเหนียวๆ เพื่อให้พื้นผิวผ้าใบเรียบเนียนง่ายต่อการลงสี โดยมากสารเคลือบพวกนี้มักจะเป็นกาวจากสัตว์ แป้งเปียก ชอล์ก และพวกรงควัตถุต่างๆ แต่ยีสต์หมักเบียร์กับกากธัญพืชนี่เป็นอะไรที่ทำเอาภัณฑารักษ์อึ้งไปพักใหญ่ เพราะถือได้ว่าเป็นอะไรที่เปิบพิสดารเหนือจินตนาการไปอย่างคาดไม่ถึง

“จากที่เราค้นคว้ามา ไม่เคยมีใครเจอโปรตีนจากยีสต์และธัญพืชบนงานศิลปะ (ยุคโบราณ) มาก่อน” เซซิลและทีมเขียนไว้ในเปเปอร์

และปริมาณที่เจอนั้นเยอะมากเกินกว่าที่จะมาจากการปนเปื้อนอารมณ์

และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลที่เธอได้มาคือชัวร์ไม่มั่วนิ่ม ว่าส่าเหล้าสามารถเอามาทำรองพื้นภาพงานศิลปะได้จริง ไม่ใช่เจอเพราะศิลปินเมาแล้วเอาเบียร์สาดลงไปบนผืนผ้าใบตัวเอง เซซิลและทีมจึงได้ลองปรุงสูตรรองพื้นผิวผ้าใบเสียใหม่โดยใส่ยีสต์ส่าเหล้าที่พวกเขาซื้อหามาจากโรงหมักคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นลงไปเป็นองค์ประกอบหลัก และผลที่ได้ออกมาทำให้พวกเขาดีใจจนแทบกระโดด ผ้าใบที่รองพื้นด้วยยีสต์และกากเบียร์ติดสีที่เพนต์ลงไปได้ดีมาก อีกทั้งยังช่วยขับสีให้ภาพมีสีสันที่ดูสดใสมีชีวิตชีวา และมีความมันวาวยิ่งกว่าสีรองพื้นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอีกด้วย

มองมุมหนึ่ง อาจจะดูเหมือนขี้เหนียว เอาของเหลือทิ้งมาใช้ แต่ถ้ามองให้ดี นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้านของจริงที่สูญหายไปเนิ่นนานของชาวเดนมาร์ก

ทว่า ก็ยังมีสิ่งที่ต้องการคำอธิบาย อย่าลืมว่าผลการทดสอบโปรติโอมิกส์ระบุได้ว่ามีแค่เจ็ดที่ใช้ยีสต์เป็นรองพื้น

คำถามที่ยังเหลืออยู่ คือเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับอีกสามภาพที่เหลือ

 

ในบรรดาสามภาพที่เหลือ ภาพหนึ่งผลระบุออกมาว่าสรุปอะไรไม่ได้ ส่วนอีกสองภาพผลดูเหมือนชี้ไปว่ามีการใช้กาวจากวัวมาเป็นรองพื้นก่อนการวาดภาพซึ่งก็เป็นการรองพื้นปกติของภาพในสมัยนั้น

สำหรับเซซิล ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะแห่งเดนมาร์ก เรื่องนี้อธิบายไม่ยาก เพราะนี่คือสิ่งที่เธอคิดไตร่ตรองเอาไว้อยู่แล้ว แค่ย้อนไปดูปีที่วาด และศิลปินเจ้าของภาพ ทุกอย่างก็แจ่มกระจ่าง

เจ็ดภาพที่เคลือบรองพื้นด้วยยีสต์นั้นถูกวาดขึ้นมาก่อนปี 1833 ทั้งหมด สี่ภาพแรกเป็นของคริสตอฟเฟอร์ เอ็กเคอร์เบิร์ก ปรมาจารย์ผู้บุกเบิกงานศิลปะแห่งยุคทอง ส่วนอีกสามภาพที่เหลือเป็นของคริสเตน คอบเก้ ในขณะที่ยังเรียนอยู่กับคริสตอฟเฟอร์ที่ราชวิทยาลัยวิจิตรศิลป์แห่งเดนมาร์ก (Royal Danish Academy of Fine Arts)

ส่วนสามภาพที่รองพื้นต่างออกไปนั้นถูกวาดขึ้นมาโดยคริสเตน หลังจากที่เรียนจบจากราชวิทยาลัยแล้วในปี 1836 1837 และ 1838

สำหรับเซซิล เรื่องนี้ทุกอย่างยึดโยงอยู่กับคริสตอฟเฟอร์

 

สูตรรองพื้นด้วยยีสต์นี้แพร่หลายอย่างมากในช่วงยุคทองของเดนมาร์ก ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่คริสตอฟเฟอร์มีชีวิตอยู่พอดี ในฐานะปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมของราชวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ที่ดีที่สุดในเดนมาร์ก ผู้สร้างและบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ของประเทศอยู่นานถึง 35 ปี ว่ากันตามจริง คริสตอฟเฟอร์คือหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการจิตรกรรมของเดนมาร์ก

เซซิลเชื่อว่าคริสตอฟเฟอร์คือผู้ที่พัฒนาสูตรนี้ขึ้นมา และส่งต่อให้ราชวิทยาลัย

และถ้าดูในประวัติศาสตร์ ทางราชวิทยาลัยก็มี “บริการเตรียมผืนผ้าใบเคลือบรองพื้นสำเร็จ” ให้กับทั้งอาจารย์ ศิลปินและนักเรียนที่ทำงานจิตรกรรมอยู่ในราชวิทยาลัย

ทางทีมวิจัยเชื่อว่านี่คือต้นกำเนิดของผืนผ้าใบเคลือบยีสต์ พวกเขาเชื่อว่าผืนผ้าใบที่ผลิตออกมาจากเวิร์กช็อปของราชวิทยาลัยในช่วงนั้นจะใช้สูตรรองพื้นด้วยกากเบียร์ทั้งหมด

นั่นหมายความว่าศิลปินที่ทำงาน หรือเคยสร้างสรรค์งานอยู่ที่ราชวิทยาลัยจะใช้ผืนผ้าใบเคลือบยีสต์แทบทั้งสิ้น ภาพจิตรกรรมชิ้นเอกที่ออกมาจากราชวิทยาลัยที่ได้ก็เลยมีสีสันนุ่มนวล สดใส และดูมีชีวิตชีวากว่าศิลปินจากที่อื่น

เซซิลเสริมต่อไปอีกว่า เป็นไปได้ว่าคริสเตนเรียนจบจากราชวิทยาลัยในปี 1832 ซึ่งน่าจะทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงซัพพลายผืนผ้าใบเคลือบยีสต์จากราชวิทยาลัยได้อีก และนั่นทำให้เขาจำต้องใช้ผืนผ้าใบที่หาซื้อได้ทั่วไปจากท้องตลาด สามภาพที่เขาวาดขึ้นมาในภายหลังก็เลยเป็นผืนผ้าใบธรรมดาๆ ที่เคลือบด้วยกาวจากสัตว์

ทว่า ยังมีอยู่ภาพหนึ่งซึ่งก็คือ Modelfigur. Siddende dreng หรือภาพเด็กนู้ดที่คริสเตนวาดขึ้นมาในปี 1833 ซึ่งเป็นปีหลังจากที่เขาจบออกมาจากราชวิทยาลัยแล้ว ยังคงใช้รองพื้นผ้าใบเป็นกากยีสต์อยู่

ในกรณีนี้ เซซิลมองว่าไม่แปลก และเธอยังคงเชื่อมั่นกับคำอธิบายของเธอ เพราะผลงานที่สร้างหลังจากจบไม่นานของคริสเตน อาจจะเป็นผลงานที่ยังค้างคามาตั้งแต่ตอนเรียน หรือไม่ก็อาจจะมาจากผืนผ้าใบที่กักตุนเอาไว้ตั้งแต่ตอนเรียนก็เป็นได้

 

ใครจะนึกกันล่ะครับว่าเทคโนโลยีโอมิกส์ที่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าทางชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ช่วยสามารถเปิดมุมมองใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์งานของศิลปินแห่งยุคได้ดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากแง่มุมประวัติศาสตร์แล้ว การค้นพบครั้งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและคงสภาพภาพเขียนจากยุคโบราณให้ดำรงคงอยู่ไปได้นานยิ่งขึ้น

ชัดเจนว่าการศึกษาแบบบูรณาการข้ามศาสตร์อาจจะให้อะไรมากกว่าที่เราคิด…

เบียร์ก็เช่นกัน…