ทางวิบากของนายกฯ ทักษิณ ในวงจรอุบาทว์ กลับมาปรองดอง…ปิดเกม หรือเลี้ยงหลาน?

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by SAEED KHAN / AFP)

เหยื่อวงจรอุบาทว์…
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อ้างว่า ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหยุดการแตกแยกของสังคมไทยและกำจัดรัฐบาลทุนนิยมที่โกงกิน เราต้องยอมถอย 3 ก้าวเพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพื่อข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง เพื่อให้การเมืองไทยก้าวไปสู่ธรรมาภิบาล มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ และคุณธรรม

หลังจากนั้นก็เดินตามแผนบันได 4 ขั้นคือ

ขั้นที่ 1 รัฐประหารโค่นนายกฯ ทักษิณ ยึดอำนาจรัฐไว้ ผลักดันทักษิณให้ออกนอกประเทศ โดยการฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้าไม่หนีต้องติดคุก

ขั้นที่ 2 ยึดทรัพย์ทักษิณเพื่อตัดกำลังเงินและดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ทักษิณกลับมาเล่นการเมือง

ขั้นที่ 3 ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามกรรมการบริหารและนักการเมืองเล่นการเมือง เพื่อตัดกำลังคน และสลายองค์กร รอรับนักการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว

ขั้นที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่เป็นฝ่ายคณะรัฐประหาร

การถอย 3 ก้าว ไปในทิศที่เลวกว่า ไม่เพียงความขัดแย้งไม่ลด แต่เพิ่มขึ้น

แผนบันไดสี่ขั้นทำไปได้สามขั้นกว่าๆ พอถึงขั้นที่ 4 มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบไป เปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน นักการเมืองคนดังของพรรคถูกตัดชื่อทางการเมืองไป 111 คน ฝ่ายคณะรัฐประหารกุมอำนาจหมดทุกด้าน และสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง แต่พรรคทักษิณในชื่อของพรรคพลังประชาชนกลับชนะการเลือกตั้ง ถ้าเปรียบเป็นมวยก็เหมือนฝ่ายที่ถูกมัดมือไว้แต่เอาชนะคู่แข่งได้

นายกฯ ทักษิณเคยพยายามกลับเข้าไทย 28 กุมภาพันธ์ 2551 ในสมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แล้วก็รู้ว่าอยู่ไม่ได้ เพราะกลุ่มอำมาตย์ไม่ยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่สนใจเสียงประชาชน ถ้ากลับมาจะจับติดคุก จึงต้องลี้ภัยไปอีกครั้ง

 

ยึดอำนาจครั้งที่ 2…ตุลาการภิวัฒน์ 2551

เมื่อการรัฐประหารก็ทำประเทศถอยหลังไป 3 ก้าว และไต่บันไดขั้นที่ 4 ไม่สำเร็จ การชิงอำนาจครั้งที่สองจึงต้องเกิดขึ้น

การชิงอำนาจครั้งที่สอง ตุลาการภิวัฒน์ กันยายน 2551 เป็นนวัตกรรมใหม่ของการเมืองไทย เริ่มต้นด้วยอำนาจตุลาการยอมรับอำนาจจากการรัฐประหาร นำเอากฎหมายรัฐประหารมาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดี

ในที่สุด ตุลาการภิวัฒน์แทนที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา กลับกลายเป็นเครื่องมือและสร้างปัญหาทางการเมือง ผลก็คือเกิดความวุ่นวาย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระ มีการฟ้องร้อง ถอดถอน จับขังคุก

เป็นการยึดอำนาจที่ใช้กฎหมาย แต่สร้างความเสียหายมากที่สุดทั้งวงการเมืองและวงการตุลาการ

กว่าแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จ ก็ต้องใช้ม็อบ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ใช้ศาลปลดนายกฯ ยุบพรรค มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เหมือนกับเป็นการประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่ารัฐบาลนี้ใครสนับสนุน

วิบากกรรมของประเทศและนายกฯ ทักษิณ เพิ่งจะเริ่มต้น

 

เพื่อปกป้องอำนาจที่ยึดมา
ถึงกับฆ่าประชาชน
และรัฐประหารซ้ำ

2552 หลังจากเชิดประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาเป็นรัฐบาล สังคมไทยยิ่งแตกแยกกว่าเดิม ไม่มีการปรองดอง การเมืองมีสีเสื้อเหมือนแข่งกีฬาสี มีการฆ่ากันกลางเมือง

ความหวังที่จะเห็นความสุจริตไม่มีคอร์รัปชั่นก็รู้สึกว่าจะเป็นไปไม่ได้ โกงกินกันอย่างมูมมาม ทั้งรถไฟ รถเกราะ เรือเหาะ สารพัดโครงการตั้งแต่สิบล้านยันแสนล้าน มาตรฐานความยุติธรรมก็ไม่มี

นายกฯ ทักษิณจึงเริ่มสู้จากนอกประเทศ และก็ถูกยึดทรัพย์สี่หมื่นล้าน เกิดการต่อต้านรัฐบาลจากค่ายทหารในปี 2552 และ 2553 จากคนเสิ้อแดง

สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีคนตาย 99 คน บาดเจ็บ 2,000 คน

แล้ววงจรก็ย้อนกลับมาสู่การเลือกตั้ง 2554 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งได้เสียงเกินครึ่ง เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

แต่การปะทะของอำนาจเก่ากับเพื่อไทยยังรุนแรง ทักษิณยังไม่กล้ากลับ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์อยู่ได้แค่ 2 ปีกว่าก็ถูกรัฐประหารโดย คสช. พฤษภาคม 2557

วงจรอุบาทว์วงใหม่ก็เกิดซ้ำ

จึงมีคำถามที่ตามมาว่า 8 ปีแรกของวิบากกรรมทั้งประเทศไทยและทักษิณ ใครอยู่เบื้องหลัง… ทั้งการรัฐประหาร 2549… ตุลาการภิวัฒน์ 2551… การปราบประชาชน 2553 และการรัฐประหาร 2557?

คำถามข้อแรก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็เผลอตอบมาแบบอ้อมๆ ว่า แม้ตายก็ตอบไม่ได้

คำถามข้อที่ 2 เคยมีผู้นำคลิปในวงการยุติธรรม มาเปิดเผย ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง

คำถามข้อที่ 3 เหตุการณ์ปราบประชาชนไม่ใช่อุบัติเหตุ เกิดขึ้นตั้งแต่ 10 เมษายน 2553 และยาวนานจนถึง 19 พฤษภาคม ใครๆ ก็เดาว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น ไม่กล้าสั่งการเอง แต่คนสั่งและคนลงมือปฏิบัติการ ไม่เคยต้องขึ้นศาล

คำถามข้อที่ 4 รัฐประหาร 2557 นอกจาก คสช. คงต้องมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน

การรัฐประหาร 2549 และ 2557 ทำให้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต้องระหกระเหินอยู่ต่างประเทศหลายปี

 

กำหนดกลับของนายกฯ ทักษิณ
ตรงกับการชี้ขาดตั้งรัฐบาล
ถือว่าเป็นการปรองดองหรือไม่?

ความพยายามปรองดองมีมาหลายรอบ แต่ไม่สำเร็จ

ถ้าการปรองดองความขัดแย้งในอดีต คือการนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย และหาตัวคนผิด ก็ไม่น่าจะทำได้ แต่ถ้าเป็นแบบไม่ให้ฟื้นคดี และมีนิรโทษกรรม คงมีแกนนำหลายฝ่ายอยากให้ทำ

การกำหนดกลับบ้านของทักษิณในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นเรื่องใหญ่ แต่เป้าหมายคืออะไร? บางคนเดาว่าเป็นการปรองดองแบบอ่อนน้อมต่อกลุ่มอำนาจเก่าก็ได้ หรือบางคนมองว่า มาปิดเกมการเมือง เพราะมีอำนาจจริง บางคนอาจจะมองว่าอายุมากแล้วจะวางมือทางการเมือง มาเลี้ยงหลาน

ถ้ากลับมาช่วงนี้สถานการณ์การเมือง (กรกฎาคม-สิงหาคม 2566) คือ

1. ความขัดแย้งหลักได้ย้ายไปอยู่ที่กลุ่มอำนาจเก่ากับพรรคก้าวไกล และเมื่อผลการเลือกตั้ง 2566 ออกมา ก็ยิ่งเห็นชัดว่า อำนาจเก่ากำลังเผชิญหน้ากับความคิดใหม่ของประชาชนหลายสิบล้านคน

2. แรงกดดันทางการเมืองอาจทำให้พรรคก้าวไกล ต้องการประนีประนอมในบางเรื่อง แต่ประชาชนส่วนที่ก้าวหน้าอาจจะไม่ยอมประนีประนอมด้วย พลังทางการเมืองของเพื่อไทยลดลง และประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับแกนนำพรรค

3. พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะย้อนมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งโดยไม่มี 3 พลเอก ก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน

4. เมื่อมีการบีบให้จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เสียงประชาชน 26 ล้านเสียงถูกเททิ้ง จึงมีคำถามอย่างโกรธเกรี้ยวว่า…แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม? ยังไม่มีใครประเมินได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นใน 1-3 เดือนข้างหน้า

เส้นทางการกลับมาของนายกฯ ทักษิณคงไม่เรียบง่าย เพราะเส้นทางวิบากนี้ยังอยู่ในภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แม้ไม่เอาแพทองธาร ชินวัตร เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทุกคนจ้องไปที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

พร้อมคำถามว่า จะกลับมาปรองดองได้ไหม หรือจะกลายเป็นตัวประกัน… ปิดเกมตั้งรัฐบาล… หรือมาเลี้ยงหลาน และจะมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร?