แมลงวันในไร่ส้ม / อาวุธสงครามแปดริ้ว เงื่อนไข “ไม่ปลดล็อก” โหมโรง “ดีเลย์เลือกตั้ง”?

แมลงวันในไร่ส้ม

อาวุธสงครามแปดริ้ว เงื่อนไข “ไม่ปลดล็อก” โหมโรง “ดีเลย์เลือกตั้ง”?

การพบอาวุธสงครามที่ จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ คสช. นำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปลดล็อกการเมือง

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมีเสียงเรียกร้องจากพรรคการเมือง ให้ คสช. แก้ไขประกาศฉบับ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

เพื่อ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ได้แก่ การประชุมพรรคในระดับต่างๆ การรับสมัครสมาชิก การจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อเตรียมตัวสำหรับการคัดผู้สมัครแบบไพรมารีโหวต อันเป็นข้อกำหนดใหม่ในพระราชบัญญัติ

ทาง คสช. แบ่งรับแบ่งสู้มาตลอดว่า ให้ผ่านช่วงพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคมไปก่อน อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายนผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

และต่อมา ปลายเดือนพฤศจิกายน มีข่าวว่า ตำรวจพบอาวุธสงครามจำนวนมากที่ จ.ฉะเชิงเทรา

พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (รรท.รอง ผบช.ส.) เผยว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังจากพลเมืองดีพบวัตถุต้องสงสัย ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560

พบระเบิดขว้างอาร์จีดี 5 จำนวน 30 ลูก, ไปป์บอมบ์ 7 ลูก แท่งดินระเบิด ระเบิดทีเอ็นที, ลูกระเบิดยิงขนาด 40 ม.ม. จำนวน 2 ลูก กระสุนปืนและปืนอาร์ก้า 2 กระบอก จากการตรวจสอบพบว่าเชื่อมโยงกับการก่อเหตุคดีในปี 2557

ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2560 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เผยว่าอาวุธดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในบ่อพักน้ำแปลงนา ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา จากการสอบสวนพบว่าอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดที่ตรวจพบมีความเชื่อมโยงกับ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แนวร่วมกลุ่มเสื้อแดง

และพบว่าอาวุธเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบกว่า 10 เหตุการณ์ โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2557 และการชุมนุมอื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์

และคาดว่าอาจมีการนำมาก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย เนื่องจากอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดถึงแม้จะซุกซ่อนอยู่ในน้ำ แต่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที

และวันเดียวกันนี้เองที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากการตรวจสอบเป็นล็อตเดียวกับของนายโกตี๋ ตำรวจแจ้งว่านำไปทิ้งมาใหม่ๆ อาวุธทุกอย่างยังสามารถใช้การได้

งานด้านการข่าวแจ้งว่ามีกลุ่มคนเริ่มเคลื่อนไหว และถ้าหากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่คงปลดล็อกการเมืองยาก แต่ถ้าไม่ปลดล็อกการเมืองก็ไม่ได้ ต่อจากนี้หน่วยงานความมั่นคงก็ต้องทำงานกันหนักขึ้น ซึ่งอาจจะต้องปลดล็อกการเมืองในช่วงที่ใกล้ๆ เลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการสร้างข่าวกลบกระแสรัฐบาลขาลงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ใครขาลง ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้เจอเรื่องราวต่างๆ มามากมายในช่วง 3 ปี และบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีและตนถูกโจมตีในหลายเรื่องนั้น ก็วิจารณ์กันไปเอง ซึ่งเราก็ทำงานได้ดีขึ้นก็ไม่มีอะไร อยู่ที่สื่อว่าอยากให้รัฐบาลขาลงหรือเปล่า

และต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เร่งรัดให้ฝ่ายความมั่นคงกวาดล้างอาวุธสงคราม และปราบปรามมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล จึงตรวจค้นหลายพื้นที่

คาดว่าผู้ที่ครอบครองอาวุธเกิดความกังวลว่ามีความผิด จึงนำอาวุธมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว ที่เป็นปัญหาคือ อาวุธที่เรายึดได้ครั้งนี้มีหมายเลขประจำเครื่องที่ตรงกับการใช้ในปี 2557 ตำรวจกำลังขยายผลประเด็นดังกล่าวอยู่

อาวุธนี้ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย คาดว่านำเข้าจากต่างประเทศนานแล้ว และนำมาใช้หมุนเวียนนอกระบบภายในพื้นที่ เมื่อเราตรวจค้นก็เกิดความกลัว แต่ที่น่ากังวลคือ มีปริมาณเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เชื่อมโยงกับ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋นั้น กำลังรอผลการดำเนินการ แต่คนที่เคยถูกจับกุมเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่มีตัวตนชัดเจนและกำลังถูกดำเนินคดี ซึ่งย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มั่ว

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ยังไม่ปลดล็อกการเมือง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่สงบ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า การปลดล็อกพรรคการเมือง ทาง คสช. จะพิจารณาร่วมกันในภาพรวมทุกประเด็น ไม่ใช่เฉพาะอาวุธสงครามอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องกฎหมาย เรื่องสถานการณ์ และความเคลื่อนไหวต่างๆ ดังนั้น

“ขอสรุปโดยรวมช่วงนี้ยังไม่เหมาะที่จะเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะอาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับ 1.นายวัฒนา ทรัพย์วิเชียร 2.นายชัยวัฒน์ ผลโพธิ์ หรือ เปี๊ยก กาละแม 3.นายสมเจตน์ หรือ สน คงวัฒนะ 4.นายมนัส หรือ พล.ท.มนัส หรือ เสธ.หยอย เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 และ 5.นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำกลุ่ม นปช.

ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะในการสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกให้ได้ไว้ในครอบครอง ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร โดยระบุด้วยว่าเป็นอาวุธที่บุคคลเหล่านี้ส่งให้กับผู้ก่อเหตุวุ่นวายในช่วงปี 2557 ซึ่งนายจักรภพ และ เสธ.หยอยเคยถูกออกหมายจับมาแล้ว

เย็นวันเดียวกันนั้นเอง นายวัฒนา ทรัพย์วิเชียร ได้มอบตัวกับทหารในพื้นที่รับผิดชอบของกองร้อยรักษาความสงบฯ ศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศ ทบ.1 (ศปภอ.ทบ.1) วังน้อย-ปทุมธานี นำตัวมาควบคุมไว้ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

ส่วน นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งลี้ภัยในประเทศอังกฤษได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ประเด็นอาวุธสงครามที่แปดริ้ว และการปลดล็อกใกล้เลือกตั้ง จาก พล.อ.ประวิตร ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากพรรคการเมืองต่างๆ อย่างพร้อมเพรียง

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “วันนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้แล้ว กฎหมายพรรคการเมืองก็เดินหน้าไปแล้ว จึงเป็นเหมือนสัญญาณที่ส่งออกมาว่าต้องดีเลย์แน่”

คำว่า “ดีเลย์เลือกตั้ง” จึงเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมา