ลิงขบคนเคี้ยวที่บ้านปูน

พิชัย แก้ววิชิต

ลิงขบคนเคี้ยวที่บ้านปูน

 

ชีวิตแล่นลิ่วไต่ระดับช่วงขาขึ้นอยู่บนสะพานซังฮี้ ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่งโมงบนอานมอเตอร์ไซค์ เพียงไม่ถึง1 นาที กับช่วงขาลงของชีวิตได้พ้นผ่านระยะตีนสะพานโดยสวัสดิภาพ ข้างหน้าอีกไม่ไกลคือแยกบางพลัด เส้นทางเที่ยวนี้ไม่ได้ตรงไปเพื่อข้ามแยก หากแต่เลี้ยวซ้ายไปยังจุดหมายปลายทางกับศาสนสถานสมัยอยุธยา ที่อยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 นามว่า “วัดลิงขบ”

บ่ายโมงตรงตามเวลาไทย ก็มาถึงบริเวณวัดที่นัดไว้ กับกิจกรรม “MIC Walking Trip” ในตอนที่มีชื่อว่า “สวนสวรรค์ย่านบ้านปูน” นำเที่ยวและบรรยายโดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “วัดร้างในบางกอก” พาย่ำเดินย้อนอดีตไปยังชุมชนเก่าแก่ที่มากด้วยเรื่องเล่ากับเรื่องราวย่านบ้านปูน

เจดีย์เก่าสีขาวดูแปลกตา คือเจดีย์มอญ รูปแบบศิลปะการสร้างที่ต่างจากเจดีย์แบบไทยที่เคยพบเห็น “วัดลิงขบ”หรือ “วัดบวรมงคล” เป็นวัดรามัญนิกาย ที่สร้างขึ้นโดยชาวมอญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่สงสัยคือที่มาของคำว่า “ลิงขบ” จะเพราะเมื่ออดีตอาจเป็นป่าที่มากด้วยเหล่าลิง หรืออาจผิดเพื้ยนมาจากคำว่า “ลุงขบ” ชื่อคนสร้างวัดในตำนาน ก็คงแล้วแต่เลือกที่จะเชื่อกันไปก่อน จะอย่างไรถ้า “ชื่อนั้นยังสำคัญไฉน” การสืบค้นให้จบด้วยหลักฐานเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคงเกิดขึ้นเข้าสักวัน แต่ที่แน่แล้วในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดลิงขบเป็น “วัดบวรมงคล” ในสมัยรัชกาลที่ 2

และเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบวรมงคลมหาวิหาร”

 

ออกจากวัดเข้าชุมชนบ้านปูน (แหล่งผลิตปูนที่ใช้เคี้ยวกับหมาก) เดินตามชิดติดกลุ่มคณะทัวร์ ด้วยความที่ไม่ชินซอย กับเส้นทางที่ต้องเดินลัดเลาะเข้าภายในชุมชน ไม่นานนักก็มาถึงยัง “วัดคฤหบดี” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อุโบสถภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระแซกคำ” พระพุทธรูปศักด์สิทธิ์ และที่วัดแห่งนี้มีเจดีย์ประจำตระกูลชุมสาย – ภมรมนตรี และแวะไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป

“วัดสวนสวรรค์” วัดลับถูกทิ้งร้างอยู่กลางชุมชน จากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ยังพอเหลือให้เห็น อ.ประภัสสร์เล่าให้ฟังว่าอาจถูกสร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยา และด้วยความที่มีฐานะเป็นวัดราษฏร์ จึงไม่ง่ายที่จะสืบค้นหาประวัติและหลักฐาน ว่าใครป็นผู้สร้างและถูกสร้างขึ้นเมื่อใด โดยภายในอุโบสถเก่าแก่ของวัดสวนสวรรค์ ยังมีที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน “พระหลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน และเป็นศิลปะแห่งศรัทธาของชาวบ้าน ที่ยังหลงเหลือและยากจะหลงลืม

นอกจากวัดวาอาราม ภายในชุมชนบ้านปูนยังมี “ศาลาโรงธรรม” ศาลาไม้ทรงไทยที่มีอายุนับร้อยปี เป็นศาลารวมใจของชาวบ้านในชุมชน ด้วยวิถีปฎิบัติที่ทำร่วมมา อย่างการทำบุญเลี้ยงพระและงานมงคลตามประเพณีต่างๆ นอกจากนี้ความเป็นชุมชนบ้านปูนยังสะท้อนให้เห็นถึงการความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาวจีน ด้วยภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าปึงเก่ากงม่า ศาลเจ้าจีนแบบแต้จิ๋ว

วัฒนธรรมที่แตกต่างมาจากเชื้อชาติที่หลากหลาย รูปแบบชีวิตสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะ ความเจริญรุ่งเรืองที่มาจากการเปิดกว้างอย่างเข้าใจ แม้จะผ่านมานานแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเก่าแก่เกินกว่าที่จะเรียนรู้และปล่อยเปล่าให้เลือนหายไปกับกาลเวลา / เทคนิค : F.8 1/250s ISO100 /สถานที่ : วัดคฤหบดี กรุงเทพฯ

จากจุดเริ่มต้น เดินลัดเลาะภายในชุมชนบ้านปูนออกมาจนถึงอีกด้านใต้สะพานพระราม 8 กับร่องรอยซากกำแพงเก่า ที่กำลังเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ กับการเป็นอดีตของ “กำแพงวังเจ้าอนุวงศ์” หรือ “วังเจ้าลาว” ที่ชาวบ้านคุ้นปาก และในตอนนี้กำแพงเก่าเยื้อยุคจากกำแพงวังได้กลายมาเป็นกำแพงประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านปูนและผู้คนที่สนใจ

วัฒนธรรมที่แตกต่างมาจากเชื้อชาติที่หลากหลาย รูปแบบชีวิตสะท้อนให้เห็นศิลปะ ความเจริญรุ่งเรืองมาจากการเปิดกว้างอย่างเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเก่าแก่เกินกว่าที่จะเรียนรู้และปล่อยเปล่าให้เลือนหายไปกับกาลเวลา

ขอบพระคุณอาจารย์ประภัสสร์ ชูวิเชียร พี่ๆ เพื่อนๆ ที่ร่วมเดินทาง ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) ทีมงานทุกๆ ท่าน และกับทุกๆ นักอ่าน แล้วพบกันใหม่

ขอบคุณมากมายครับ •

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต