ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (จบ) บทเรียนจากบรูไน…แล้วพบกันใหม่ที่กรุงเทพฯ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (จบ)

บทเรียนจากบรูไน…แล้วพบกันใหม่ที่กรุงเทพฯ

 

“เมื่อคราวมาเยี่ยมโรงเรียนครูรัตนาวตีครั้งแรก ปี 2558 เด็กชายคนหนึ่งอายุราว 7-8 ขวบเข้ามาหาผมโดยไม่ได้บอกกล่าว ยื่นมือมากอดขาแน่น เด็กหญิงอีกคนหนึ่งดึงมือผมเข้าไปให้กอดเธอ”

“ครูรัตนาเอ่ยบอกว่า เด็กทั้งสองคนตาบอด”

“ผมนั่งลงแล้วกอดทั้งสองคน เขาต้องการความอบอุ่นจากสัมผัสของเพื่อนมนุษย์ เป็นประสบการณ์ที่สะเทือนใจผมมาก”

ครูรัตนาบอกผมเมื่อวานที่พบกันว่า วันนี้เด็กชายและหญิงสองคนกำลังเติบโตสู่วัยรุ่น และเตรียมการเพื่อทักษะชีวิตในอนาคต

“ผมบอกครูรัตนาว่า อยากพบทั้งสองคนอีกครั้ง เป็นหน้าที่ของเรา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่จะดูแล ช่วยเหลือพวกเขาให้ดำเนินชีวิตอนาคต หลังออกจากโรงเรียนก้าวสู่โลกแห่งชีวิตจริง”

บทบันทึกความในใจของครูกฤษณพงศ์ หัวหน้าคณะ เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเดินทางถึงโรงเรียนประถมศึกษา Keriam ที่ครูรัตนาวตี ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี บรูไน คนแรกประจำการอยู่

ทำให้เพื่อนร่วมทางโดยเฉพาะครูสุลีกาญ ธิแจ้ ครูเชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษ ครูยิ่งคุณ ปี 2558 จากโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน เชียงใหม่ และครูสมพร หวานเสร็จ ครูขวัญศิษย์ ปี 2564 มุ่งหมายได้สัมผัสบรรยากาศ และรับฟังกระบวนการจัดการเรียนการสอนและดูแลเด็กพิเศษเรียนรวมกับเด็กปกติ อย่างใจจดใจจ่อ

คณะครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของไทย เยี่ยมเยียนโรงเรียนประถมศึกษาเรียนรวมระหว่างนักเรียนปกติกับเด็กพิเศษ ที่บรูไน

นอกจากอาคารเรียนรองรับนักเรียนทั้งหมดแล้ว ทางการจัดสร้างอาคารขึ้นมาต่างหากเฉพาะสำหรับเด็กพิเศษ ใหญ่โต กว้างขวาง มีห้องสำหรับจัดการเรียนการสอน ห้องจัดกิจกรรมให้เหมาะกับเด็กพิเศษลักษณะต่างๆ ทั้งบกพร่องทางร่างกาย การได้ยิน การพูด สายตา ทางสมอง พัฒนาการช้า ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม อย่างพอเพียง พร้อมจัดครูและผู้ช่วยให้ดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

โรงเรียนมีเด็กพิเศษทั้งหมด 59 คน เด็ก 5 คนพัฒนาการดีขึ้นจนสามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติเต็มเวลาได้ อีก 2 คน เรียนปกติและเรียนโปรแกรมสำหรับเด็กพิเศษไปพร้อมกัน

ครูรัตนาวตีและคณะพาดูการทำงานและพูดคุยกับเด็กทุกห้อง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ตั้งแต่ห้องเรียนเด็กพิเศษ ห้องคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและกระตุ้นพัฒนาการ โต๊ะกิจกรรมหัดผูกเชือกรองเท้า ติดกระดุมเสื้อ ทำแซนด์วิช พื้นที่สำหรับเต้นตามจังหวะและตามภาพในจอ พื้นที่ติดตั้ง Autism Wall Down Syndrom Wareness Wall และห้องผ่อนคลาย MultiSensory Room ให้คณะผู้เยี่ยมเยือนร่วมเต้นตามจังหวะกับเด็กอย่างสนุกสนาน

“8 ปีที่ผ่านมา หลังดิฉันได้รับพระราชทานรางวัล โรงเรียนพัฒนามาตลอด เกิดเครือข่ายครูและโรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน” เธอเอ่ยพร้อมยิ้มกว้าง

ประสบการณ์จากครูปกติสู่ครูการศึกษาพิเศษกว่า 34 ปี เธอเคยเดินทางมาเมืองไทยปี 2560 ดูการจัดการเรียนการสอน ดูแลเด็กพิเศษที่จังหวัดเชียงใหม่ ประทับใจ และนำสิ่งที่ได้มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่บรูไนได้เป็นอย่างดี

ทั่วประเทศมีเด็กพิเศษประมาณ 2,000 คน ภายใต้ความรับผิดชอบของ The Special Education Department กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยโมเดลโรงเรียนเรียนรวม Model Inclusive school (MIS) สร้างทักษะต่างๆ ให้แก่เด็ก ทั้งทักษะวิชาการ การสื่อสาร เทคโนโลยี และทักษะชีวิต

 

เหตุจากประชากรน้อย รวมทั้งในวัยเรียน นักเรียนเด็กพิเศษมีไม่มาก ความเป็นอิลสามผู้เคร่งครัดศาสนา ต้องช่วยเเหลือ เอื้ออาทรผู้ที่ด้อยกว่า รัฐบาลบรูไนจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทุ่มเททรัพยากรเพื่อให้การศึกษา ดูแลเด็กเหล่านี้เป็นอย่างดี

“เราพบว่าตัวเลขเด็กพิเศษเพิ่มมากขึ้น เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยใหม่ยอมรับมากขึ้น เช่นเดียวกับเมืองไทย” ครูและทีมงานกล่าวระหว่างมาส่งคณะออกเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนอีกแห่ง LAMBAK KANAN JALAN 49 PRIMARY SCHOOL

คำขวัญหน้าประตูโดดเด่นเห็นชัด Educations is The Most Powerful Weapon For Changing The World มี Mrs. Hajah Noorliah Binti Haji Aspar เป็นผู้อำนวยการ เธอได้รับพระราชทานรางวัลครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่ 3 ของบรูไน

นักเรียน 546 คน เป็นเด็กพิเศษ 53 คน ครูการศึกษาพิเศษ 6 คนจากครูทั้งหมด 53 คน หน่วยสนับสนุน 14 คน มีห้องสำหรับการเรียนการสอน จัดกิจกรรมของเด็กพิเศษแยกเฉพาะเช่นกัน เด็กคนไหนมีพัฒนาการผ่านการประเมินจะให้ไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ ทางการเพิ่งจัดสร้างอาคารโรงเรียนหลายชั้นหลังใหม่เสร็จ รองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ และใช้เป็นที่ประชุม สัมมนา ฝึกอบรม จัดกิจกรรมของโรงเรียนทั้งในและต่างคลัสเตอร์

ผู้อำนวยการหญิงเล่าถึงเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ แนวคิดและวิธีปฏิบัติจัดการเรียนปกติและการศึกษาพิเศษ หนักแน่น คล่องแคล่ว เสียงดังฟังชัด มุ่งสร้างทักษะต่างๆ ให้เด็ก โดยเฉพาะทักษะชีวิตเพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่รอดปลอดภัยต่อไป

“ผลงานความสำเร็จของโรงเรียน ของครูและบุคลากรเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ของดิฉัน” เธอย้ำ และว่า “หลังได้รับพระราชทานรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ดิฉันคิดมาตลอด ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จ ปี 2565 มีครูของโรงเรียน 3 คนได้รับรางวัลระดับชาติ”

 

การเยี่ยมชมโรงเรียนการศึกษาพิเศษเรียนรวม 2 แห่งผ่านไปด้วยความปลาบปลื้ม ประทับใจ โดยเฉพาะครู ผู้อำนวยการ ทุ่มเท เสียสละ รักและดูแลเด็กทุกคนเหมือนลูกหลาน

ครูสมพร ครูเชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษฝ่ายไทย สะท้อนคิดส่งการบ้านให้มูลนิธิในเวลาต่อมา เทียบเคียงระหว่างบรูไนกับไทยหลากหลายประเด็น ผมคัดเอามาแต่เฉพาะที่ติดใจ พอเป็นน้ำจิ้มอาหารสมอง

“บรูไนผู้บริหารให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาพิเศษตามนโยบาย ของไทยโรงเรียนทั่วไปไม่ให้ความสำคัญ เพราะมีเกณฑ์มาตรฐานกำกับ ถ้ามีการทดสอบมาตรฐาน ไม่ให้เด็กมาโรงเรียนเพราะเกรงว่าภาพรวมโรงเรียนมาตรฐานต่ำ”

รายงานฉบับเต็มของครูน่าอ่านมาก ท่านที่สนใจถามไถ่จากครู หรือมูลนิธิ ตามสะดวกได้เลย

 

ปิดท้ายรายการ ตามมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปพบครูรางวัลและดูโรงเรียนบรูไน สิ่งที่ได้ยินและพบเห็นเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลและพี่น้องประชาชน รัฐอิลลามแห่งนี้กำลังก้าวไปตามวิสัยทัศน์ บรูไน 2035 มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มความเข้มข้นของการศึกษาด้านอาชีวะ เทคนิคอาชีพ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

ด้วยยุทธศาสตร์ระดับชาติ ลงทุนทางการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย นำแนวปฏิบัติที่ดีจากนานาชาติมาใช้ พัฒนาผู้เรียนมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดธุรกิจและอุตสาหกรรม ส่งเสริมสมรรถนะการใช้ ICT สำหรับผู้เรียน ครู บุคลากรการศึกษา รวมทั้งบูรณาการ ICT ในหลักสูตรของโรงเรียน

ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเปิดโอกาสให้สามารถศึกษาต่อได้ในระดับอุดมศึกษา สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ทั้งจากงบประมาณภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือกับต่างประเทศ

สอดคล้องกับข้อสังเกตที่คณะผู้แทนไทย นำโดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เสนอไว้เมื่อครั้งเดินทางไปเยือน ปี 2560

เห็นว่า ปฏิรูปการศึกษาของบรูไนให้ความสาคัญกับการสร้างโอกาสการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าเรียนสายอาชีพ เทคนิคและอาชีวศึกษามากขึ้น ให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนสูงขึ้น

ข้อสังเกตว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู เป็นหมุดหมายสำคัญในภารกิจของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและครูรางวัลทั้ง 11 ชาติในอาเซียนทุกคน ปรารถนาที่จะเห็นเพื่อนครูได้รับการพัฒนาภายใต้เครือข่ายเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ทุกสองปีจะมาพบหน้ากันในงานพิธีพระราชทานรางวัล

ครั้งใหม่จะเกิดขึ้นวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ เมืองที่วาดหวังจะก้าวสู่ความเป็นฮับทางการศึกษาแห่งหนึ่งของอาเซียน

ก่อนออกเดินทางกลับ ทุกคนในคณะบอกลาเจ้าภาพด้วยความชื่นชม ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศไทย ฝ่ายกิจการต่างประเทศของมูลนิธิ ขามาอุปทูตมารับ ขากลับเอกอัครราชทูตมาส่ง ให้เกียรติอย่างยิ่ง

เทริมา กาเซะห์ ขอบคุณ บรูไนดารุสซาลาม