เผยระบบ ‘ทดสอบความฟิต’ สาธิตโดย ‘อาจารย์ยัง’ 38 ยังแจ๋ว | จักรกฤษณ์ สิริริน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ฉายา “อาจารย์ยัง” ได้มาจากสื่อบ้านเรา ที่ลงรายชื่อผู้เล่นเป็นภาษาไทย เขียนว่า อ.ยัง (A. Young)

อ. (A.) มาจากคำว่า “แอชลีย์” (Ashley) จึงมีการเรียกติดปากกันต่อๆ มาว่า “อาจารย์ยัง”

ปีนี้ “อาจารย์ยัง” อายุ 38 แล้ว ซึ่งถ้านับตามมาตรฐานนักฟุตบอลอาชีพทั่วไป ต้องถือว่ามาก และเลยวัยค้าแข้งมาแล้วหลายปี (เฉลี่ยไม่เกิน 33)

แต่ “อาจารย์ยัง” วัย 38 ยังไม่เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ โดยเฉพาะอย่าง “พรีเมียร์ลีก” ลีกอันดับ 1 ของโลกที่มาตรฐานสูง ต้องการความฟิตในอัตราที่สูงมาก

ล่าสุด “อาจารย์ยัง” เซ็นสัญญาเป็นนักเตะ Everton ทีมใน “พรีเมียร์ลีก” เป็นเวลา 1 ปี หลังจากหมดสัญญากับ “แอสตัน วิลลา” หลังจบฤดูกาลที่ผ่านมา

ถือเป็นการเสริมทัพรายแรกของ Everton ในตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์นี้ด้วย

 

ย้อนกลับไปนับอายุตามมาตรฐานนักฟุตบอลอาชีพทั่วไป วัย 38 กะรัตของ “อาจารย์ยัง” นั้น ต้องถือว่า “สูงวัย” มากทีเดียว

เพราะอายุเฉลี่ยของนักฟุตบอลอาชีพ ที่สามารถโลดแล่นบทเวทีค้าแข้งระดับโลกได้นั้น ว่ากันว่า ตัวเลข 28 คือความเหมาะสมที่สุด

ซึ่งเป็นวัยที่สมรรถภาพร่างกายพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด อีกทั้งชั่วโมงบินที่สั่งสมประสบการณ์บนสนามหญ้ามาอย่างน้อยก็ 10 ปี เพราะหากนับอายุที่สังเวียนแข้งอนุญาตให้นักบอลลงสนามกับทีมชุดใหญ่ในระบบลีกอาชีพได้ เริ่มที่ 17 ปีขึ้นไป

และเป็นที่รู้กันในวงการฟุตบอล ว่านักเตะที่มีอายุ 33 ปีขึ้นไป หลายคนมักจะเริ่มปรากฏสัญญาณแห่งความโรยรามาเยี่ยมเยือน

หากไล่เรียงช่วงอายุ 17-18 ปี จะถูกมองว่า “กระดูกยังอ่อน” 19-20 ก็ “เพดานบินยังต่ำ” นักบอลอายุ 21-30 คือช่วงชีวิต 10 ปี ที่จะโกยเงินโกยความสำเร็จ

และหากแตะเข้าเลข 3 ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจนถึงราวๆ 33 ดังที่กล่าวไป อาจมีบางคน 34 35 36 ยังเล่นอยู่

หรือบางคนก็ 37-40 แต่ก็เป็นส่วนน้อย

 

ตัวอย่างเช่น “อาจารย์ยัง” แบ๊กขวาอาชีพ และนักเตะสารพัดประโยชน์ของ Everton ที่ปีนี้อายุ 38 ย่าง 39 เข้าไปแล้ว

แต่ก็ดูเหมือนว่า เขายังมี “ความฟิต” ที่คาดการณ์กันว่า สามารถโลดแล่นบนทุ่งหญ้าแห่งความฝันได้ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 1 ปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี กรณีนี้มีข้อยกเว้น ที่ต้องขีดเส้นใต้ หรือ “เอาปากกามาวง” ก็คือ “คิงคาซู” หรือ Kazuyoshi Miura ที่ปัจจุบันอายุมากถึง 56 ปี แต่ก็ยังคงลงโม่แข้งอยู่ในลีกอาชีพดิวิชั่น 2 ของโปรตุเกสกับสโมสร Oliveirense

หรือจะเป็น James Milner วัย 37 ย่าง 38 ที่เพิ่งย้ายจาก Liverpool ไปอยู่กับ Brighton & Hove Albion แห่ง “พรีเมียร์ลีก” ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฅนเหล็ก” แห่งบอลอังกฤษซึ่งยังไม่ยอมแขวนสตั๊ด

โดยทั้ง James Milner และ Ashley Young แม้ว่าจะอายุ 37-38 กันแล้ว ทว่า หากยังต้องการลงเล่น “พรีเมียร์ลีก” ต่อไป ก็ต้องผ่านการ “ทดสอบความฟิต”

 

ตามกฎของ FIFA ที่นักเตะอาชีพทุกคนต้องปฏิบัติตามก่อนลงสนาม นอกจากจะเป็นการยืนยันว่า สภาพร่างกายมีความสดชื่น พร้อมบรรเลงเพลงแข้งกำนัลแด่แฟนบอลที่ตีตั๋วเข้ามารับชมความสนุกในสนามแล้ว

ยังเป็นการป้องกันกล้ามเนื้อของนักกีฬาให้มีความสมบูรณ์พร้อมรองรับแรงปะทะ ซึ่งจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหายใจ เพราะมีนักฟุตบอลจำนวนไม่น้อย ที่เล่นๆ ไปมีอาการหัวใจวายตาคาสนาม เนื่องจากระบบหายใจมีปัญหา และได้ลามไปถึงระบบสูบฉีดโลหิต

อีกทั้งอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ รวมไปถึงกระดูก ที่ถ้า “ฟิตไม่ถึง” อาการบาดเจ็บจะมาเล่นงานได้ง่ายๆ

โดยแฟนบอลหลายคนคงได้เห็นกันมาหลายครั้ง ทั้งผ่านการถ่ายทอดสด หรือการดูในสนาม ว่าหากนักบอลคนไหน “ฟิต” ถ้าเจ็บก็จะหายได้เร็ว

เผลอๆ ปะทะกันในสนาม “เจ็บเพียงเล็กน้อย” แต่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อ จะสามารถฟื้นฟูได้รวดเร็วมากอย่างน่าอัศจรรย์ใจในทันที

ดังนั้น ไม่ว่าจะแก่ หรือจะหนุ่ม จะอายุ 17 หรืออายุ 37 นักฟุตบอลสามารถลงแข่งในเวทีอาชีพได้ทุกคน หากว่าผ่านการ “ทดสอบความฟิต”

แล้วการ “ทดสอบความฟิต” มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

 

คําถามนี้ “คาใจมานาน” หลายคนอยากรู้ ว่านักบอล “พรีเมียร์ลีก” เขา “ทดสอบความฟิต” กันอย่างไร?

1. วิ่งวัดระยะทาง

ให้นักเตะเข้า “ทดสอบความฟิต” จำนวน 2 ชุด โดยให้ Sprint ระยะ 100 เมตร จาก “เส้นหลังประตูฟากหนึ่ง” ไปถึง “เส้นหลังประตูอีกฝั่งหนึ่ง” ภายในเวลา 4 นาที จะวิ่งกี่รอบก็ได้ แต่ต้องพัก 2 นาที

เมื่อครบ 2 ชุด ให้นำระยะทางทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย โดยนักบอล “พรีเมียร์ลีก” จะต้องวิ่งได้เกิน 1,300 เมตรขึ้นไป

2. วิ่งวัดระยะเวลา

ให้นักเตะเข้า “ทดสอบความฟิต” จำนวน 8 ชุด โดยให้ Sprint ระยะ 100 เมตร พักชุดละ 40 วินาที ครบแล้วให้นำเวลาที่ได้มาหาเวลาเฉลี่ย โดยนักบอล “พรีเมียร์ลีก” จะต้องวิ่งได้ 12 วินาที ต่อ 100 เมตร

3. วิ่งวัดความอึด

ให้นักเตะเข้า “ทดสอบความฟิต” จำนวน 6 ชุด โดยให้ Sprint ระยะ 25 เมตร จาก “จุดวางกรวยยาง” ที่ตั้งระยะห่างกัน 5 เมตร

ให้วิ่งจากจุด Start ไปที่กรวยแรกแล้ววิ่งกลับ-ไปกรวยที่สองแล้ววิ่งกลับอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 30 วินาทีต่อชุดโดยพัก 30 วินาที จนครบ 6 ชุด ครบแล้วให้นำเวลาที่ได้มาหาเวลาเฉลี่ย โดยนักบอล “พรีเมียร์ลีก” จะต้องวิ่งได้ระยะทางเฉลี่ย 125 เมตร

ซึ่งหากนักฟุตบอลคนใดสามารถทำตามโปรแกรม “ทดสอบความฟิต” ข้างต้นได้ทั้ง 3 ข้อ ก็คือว่า “ผ่านการทดสอบความฟิต” สามารถถูกใส่ชื่อเป็นนักเตะตัวจริง และตัวสำรอง ที่พร้อมลงเล่นใน “พรีเมียร์ลีก” ได้

การ “ทดสอบความฟิต” นั้น จะทดสอบกันแมตช์ต่อแมตช์ พูดอีกแบบก็คือ ต้อง “ทดสอบความฟิต” ก่อนลงสนามทุกครั้งนั่นเอง

 

เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม “อาจารย์ยัง” จริงๆ ในวัย 38 ปี ที่ยังผ่านการ “ทดสอบความฟิต” ได้ตลอดหลายฤดูกาลหลัง กับวัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี

และเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอีกเช่นกัน ที่ “อาจารย์ยัง” สามารถผ่านการ “ทดสอบความฟิต” ตามเกณฑ์ของฟุตบอลอังกฤษทุกแมทช์การแข่งขัน นับตั้งแต่เขาลงเตะในทีมเยาวชนของ Watford เมื่อปี ค.ศ.1995 (อายุ 10 ขวบ) เป็นต้นมา

“อาจารย์ยัง” เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1985 ติดทีมชาติอังกฤษ 39 ครั้ง ทำได้ 7 ประตู

“อาจารย์ยัง” ผ่านประสบการณ์ระดับอาชีพมาอย่างโชกโชน โดยเริ่มต้นในฐานะนักเตะฝึกหัด และเล่นระดับเยาวชนที่สโมสร Watford (1995-2003)

จากนั้น ขึ้นชั้นมาเล่นระดับอาชีพ เริ่มต้นที่สโมสร Watford (2003-2007) Aston Villa (2007-2011) Manchester United (2011-2020) Inter Milan (2020-2021) Aston Villa (2021-2023) และปัจจุบันกับ Everton (2023)

ช่วงรุ่งเรืองที่สุดของ “อาจารย์ยัง” คือตอนที่สังกัดสโมสร Manchester United หรือ “ปีศาจแดง” เขาลงเล่น 192 นัด มากที่สุดในบรรดาสโมสรที่เขาสังกัด โดยยิงได้ 15 ประตู

ขอให้โชคดีในปีนี้ครับ “อาจารย์ยัง”