ค.คิด คิด สิ คิด อำนาจสูงสุด เป็นของเขา(อีกแล้ว)

ในทางปรัชญาการเมือง เส้นแบ่งสำคัญว่าประเทศไหนเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ง่ายนิดเดียว คือ อำนาจสูงสุดในรัฐ หรือในประเทศนั้นๆ เป็นของใคร

รัฐที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ คำตอบตรงกัน คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนผ่านระบบเลือกตั้งผู้แทน

แต่ถ้าไม่ใช่ ประเทศหรือรัฐนั้น ก็เป็นได้เพียงประชาธิปไตยไฮบริด ประชาธิปไตยพันทาง ประชาธิปไตยลายพราง ประชาธิปไตยไม่ตรงปก ประชาธิปไตยครึ่งใบ/ค่อนใบ

ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นคำถามนี้ จากผลการเลือกตั้งปัจจุบัน ที่พรรคชนะการเลือกตั้งและสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ แต่ถูกขัดขวางไม่ให้ตั้งรัฐบาล โดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557

มติมหาชนออกมาแล้ว แต่พรรคการเมืองไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร?

 

หลังทราบผลการเลือกตั้ง นับเวลานี่ก็เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ที่เรายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ประหลาดในทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาอย่างยิ่ง

คนมักหยิบสถิติโลกมากางแล้วบอกว่าไทยเราไม่ได้แย่ เบลเยียม กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ตั้ง 541 วัน สเปน 315 วัน เนเธอร์แลนด์ 225 วัน เยอรมนี 136 วัน และสวีเดน 134 วัน

เป็นการอ้างที่ผิดฝาผิดตัวและไม่ดูบริบทว่าประเทศเหล่านั้นว่ามีระดับเสถียรภาพทางการเมืองสูงมาก ปัญหาทางโครงสร้างการเมืองสังคมต่ำ แข่งขันการเมืองกันแบบแฟร์ๆ คุณภาพชีวิตผู้คนอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก

ซึ่งหากหันมามองประเทศไทย ตรงกันข้ามกับประเทศเหล่านั้นแทบทุกอย่าง

สนามการเมืองไทยเป็นการปะทะกันของพลังเก่ากับพลังใหม่ เป็นการปะทะกันของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีเครื่องมือทางการเมืองสำคัญคือมรดกทางการเมืองจากระบอบ คสช. เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 องค์กรอิสระ และพรรคการเมืองทหารจำแลง และฝ่ายต่อต้านอำนาจนิยมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง สองหัวหอกหลักในการต่อสู้คือพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย

ผลการเลือกตั้งปรากฏชัด 8 พรรคซึ่งมีคนเลือกรวม 27 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 39 ล้านคน ต้องการเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่ก็ถูกกลไกของระบอบการเมืองมรดก คสช.สกัดขัดขวาง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้จากกับดักระเบิดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว.มีส่วนเห็นชอบด้วย

ตามมาด้วยการร่วมมือแท็กทีมกันของพรรคการเมืองซีกอำนาจเก่าขั้วอนุรักษ์ร่วมกับวุฒิสภา ใช้เสียงข้างมากร่วมโหวตคว่ำห้ามมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้ามาในสภาอีก โดยตีความว่าเป็นญัตติจึงเสนอซ้ำมิได้

ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนกำหนดไว้ แต่เป็นการร่วมมือกันตีความใหม่เพื่อสกัดไม่ให้ชื่อนายพิธาถูกกล่าวถึงในสภาอีก เหมาะเจาะกับศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จากคดีล้มล้างการปกครอง (ซึ่งอ้างหลักฐานการฟ้องร้องจากความเห็นสื่อมวลชนฝ่ายตรงข้ามนายพิธา) พอดิบพอดี

ความรุนแรงของสนามรบเชิงกฎหมายที่กระทำต่อนายพิธา โหดเหี้ยมในระดับที่แม้แต่ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโน อดีตประธานยกร่างรัฐธรรมนูญยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรับไม่ได้ ออกมาทักท้วงเสียงดัง ว่าเป็นการทำให้ข้อบังคับสภาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่สอนหนังสือมาไม่เคยพบเจอการตีความแบบนี้

เช่นเดียวกับอาจารย์นิติศาสตร์ 115 คน จาก 19 สถาบันดังทั่วประเทศ ออกมาส่งเสียงลงนามในแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับมติสภา พร้อมเรียกร้องให้สภาสั่งยกเลิก รีบคืนความเป็นธรรมให้นายพิธา มิฉะนั้น ไม่รู้จะสอนหนังสือกันต่ออย่างไร

นั่นคือปฏิบัติการรบในสมรภูมิกฎหมายล่าสุดที่ขั้วอนุรักษ์กำลังถล่มใส่นายพิธา

 

ขณะที่ในสนามรบการเมือง เมื่อก้าวไกลถูกบีบจากขั้วอนุรักษ์ด้วยข้ออ้างไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับปรุงแก้ไข ม.112 สกัดพรรคก้าวไกลไม่ให้ตั้งรัฐบาล หน้าที่นี้จึงถูกส่งต่อมาให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ในเอ็มโอยู 8 พรรคโดยอัตโนมัติ

ยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมงหลังแถลงข่าวมติ 8 พรรคดี การนัดหมายตามด้วยการพบปะของแกนนำพรรคเพื่อไทยกับพรรครัฐบาลเดิม คือ ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เสร็จครบ จบที่พรรคเพื่อไทยในวันเสาร์และอาทิตย์

ทุกพรรคชูจุดยืนตรงกันคือ 1.สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล 2.แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วม ตามมาด้วยข่าวการออกตัวกดดันพรรคก้าวไกล ไล่ให้เสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน โดย พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วนที่ออกแถลงการณ์ขอให้พรรคก้าวไกลเสียสละ ออกจากเอ็มโอยู 8 พรรคไปเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อภาพชนแก้วมิ้นต์ช็อก เมนูดังประจำเพื่อไทยปรากฏ ก็เกิดความชุลมุนขึ้นในโลกออนไลน์

มีการขุดคำปราศรัย สัจจะวาจา ที่เคยให้ไว้บนเวทีหาเสียงและเวทีดีเบตของแกนนำเพื่อไทย ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน ที่เคยลั่นวาจา มีเราไม่มีลุง หรืออุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับวลี “ดูหน้าดิฉันไว้! ไม่ชอบรัฐประหารเช่นกัน”

แรงสุดเห็นจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศหากไปจับมือกับพรรค 2 ลุง จะขอลาออก

 

เอฟเฟ็กต์การเมืองจากแก้วมิ้นต์ช็อก ยังส่งผลให้คนออกมาเดินบนท้องถนน ร่วมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่แยกอโศก ท่ามกลางฝนตกไม่หยุด แต่ประชาชนก็ยังกางร่ม ใส่เสื้อกันฝนมายืนฟังปราศรัย ทำกิจกรรมการเมืองกันหนาตาจนปิดถนนทุกเลน

ไฮไลต์คือการแปรอักษรกลางแยกอโศกของผู้ชุมนุมทุกคนเป็นรูปตัว “ค.คิด” ซึ่งนายสมบัติอธิบายไว้ว่า “ตัว ค.” สื่อความหมายถึงวุฒิสภา ว่า “คิดสิคิด” ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใคร

นอกจากสารที่ต้องการส่งถึง ส.ว. เหตุการณ์ชุมนุมที่อโศกยังมีเสียงเรียกร้องมายังพรรคเพื่อไทย ให้เดินหน้าไปตามมติมหาชน อยู่ในเรือ 8 พรรค อย่าหนีไปไหนและอย่าถีบใครลงจากเรือ โดยบางส่วนของผู้ชุมนุมรู้สึกไม่สบายใจกับภาพแกนนำพรรคเพื่อไทยคุยกับขั้วรัฐบาลเดิมราวกับเชิญมาร่วมรัฐบาล บางคนถึงกับปรินต์รูปหมอชลน่านมาวางบนถนน บ้างก็ทิ้งเสื้อพรรคเพื่อไทย จนทีมจัดมาเก็บแทบไม่ทัน

ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นนักกิจกรรมการเมืองที่บุกไปถึงที่ทำการพรรคเพื่อไทยเพื่อแสดงการประท้วงการพูดคุยกับขั้วรัฐบาลเดิมจนเกิดเหตุชุลมุนขึ้น

ถ้ามองผ่านๆ อาจจะเห็นกิริยาที่ไม่ดี-ก้าวร้าว ตามภาพข่าว แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นความกังวล ความไม่ต้องการให้เพื่อไทยเสียสัจจะทางการเมือง ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค

 

ขณะที่การถกเถียงต่อสู้ทางความคิดก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในสถานการณ์กดดันหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็มีการเสนอให้รอจนครบวาระ ส.ว.แล้วค่อยโหวตเลือกนายกฯ โดยหัวหน้าพรรคเป็นธรรม มีเสียงตอบรับจำนวนมาก รวมถึงการทำโพลออนไลน์-ออฟไลน์ของหลายสำนัก

แต่ก็มีความเห็นอีกมุมจากกองเชียร์พรรคเพื่อไทยทันที เริ่มจาก 2 ทนายความดังที่เคยทำคดีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาจุดประเด็นตอบโต้พร้อมๆ กัน โดยชี้ว่ารอ ส.ว.หมดวาระไม่ได้ เพราะหลังหมดวาระก็ต้องมีการรักษาการต่อ นับจริงๆ ก็อาจจะต้องรอถึงเกือบ 2 ปี ไม่ใช่แค่ 9 หรือ 10 เดือน โดยมี ส.ส.เพื่อไทยช่วยกันส่งเสียง

กระทั่งมีความเห็นจากนักวิชาการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์หลายคนออกมาให้ความเห็น ยืนยัน ส.ว.จะหมดอำนาจในการเลือกนายกฯ พฤษภาคม พ.ศ.2567 อย่างแน่นอน

 

ท่ามกลางปัญหาการเจรจาตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว ท่ามกลางความอึมครึมทางอารมณ์ในระดับสูงระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย สถานการณ์การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นของพรรคเพื่อไทยถูกเลื่อนไป หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีสภาลงมติไม่ให้มีการโหวตนายกฯ ซ้ำ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา และจะมีคำสั่งหรือไม่วันที่ 3 สิงหาคม นำมาสู่การยกเลิกประชุม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล

ฟากพรรคก้าวไกลก็ส่งเสียงอันดัง ยังยืนยันไม่ลงจากเรือ ดังคำพูดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ จ.จันทบุรี “ถ้าเรือมีรูรั่ว ต้องช่วยกันอุดเรือ มิใช่ถีบใครลงเรือ” ตามด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในรายการกรรมกรข่าวนอกจอ ว่า “สู้กับคนหน้าด้าน ต้องหน้าด้านกว่า” – และ “ไม่ออก ออกแล้วประชาชนจะเอาอะไรกิน”

แรงกดดันขณะนี้จึงตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยในระดับสูง ว่าในระหว่างทาง 2 แพร่งการเมือง เพื่อไทยควรจะ ‘ค.คิด’ ว่าจะเลือกไปทางไหน ระหว่างการเดินหน้าตามอุดมการณ์เจตจำนงของประชาชน เพื่อชี้ให้เห็นอุปสรรคการเมืองว่าอยู่ที่ ส.ว. ที่เป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประเทศมีรัฐบาลจากประชาชนเสียงข้างมาก

หรือจะเลือกแนวทางปฏิบัตินิยม ถอยออกมาจากก้าวไกล (หรือหาความชอบธรรมทางการเมืองในการบีบก้าวไกลเพื่อให้ถอยออกจากสมการตั้งรัฐบาล) หันไปจับมือกับขั้วอนุรักษ์ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

นั่นคือปัญหาใหญ่ที่เพื่อไทยกำลังกุมขมับอยู่เวลานี้ ระหว่างจะประนีประนอมกับอำนาจเก่า หรือยืนข้างประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่เอาขั้วอำนาจเดิม ทางไหนคุ้มค่ากว่ากัน

อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ใช่การเมืองไทยในภาวะปกติ แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่ ในสนามแข่งขันที่ออกแบบโดยพลังฝ่ายเผด็จการทหาร เป็นการต่อสู้แข่งขันในโครงสร้างการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐบาลทหาร คสช. ที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน

ทางสองแพร่งวันนี้จึงเป็นการต้อง ‘คิด’ และเลือกว่า …ถึงเวลาแล้วหรือยังที่โครงสร้างการเมืองประเทศนี้ จะสะท้อนว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว หรือยังไม่ใช่เวลาของประชาชน