ตั้งรัฐบาลช้าไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง เท่าการตั้งรัฐบาลที่ทรยศอุดมการณ์

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ตั้งรัฐบาลช้าไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง เท่าการตั้งรัฐบาลที่ทรยศอุดมการณ์ เปิดงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

ปี 2553 การจัดตั้งรัฐบาลเบลเยียมหลังการเลือกตั้ง ได้ใช้ระยะเวลานานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงที่ไม่มีสงคราม ในครั้งนั้นเบลเยียมใช้เวลาถึง 541 วัน

ในยุโรปตะวันตกโดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยของการจัดตั้งรัฐบาล ประมาณ 30-50 วัน ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ในยุโรปที่ใช้การเลือกตั้งแบบรัฐสภา ที่อาศัยอำนาจรัฐสภาหลากหลายพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้มีประเทศเบลเยียมประเทศเดียวที่ใช้เวลาในการตั้งรัฐบาล

ย้อนกลับไป หลังจากการเลือกตั้งในประเทศเบลเยียมในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ก็มีการติดขัดในการสร้างรัฐบาลที่ยืดเวลากว่า 6 เดือน

ในสเปนหลังจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 ยังใช้เวลายาวนานมากกว่า 10 เดือน

ในเนเธอร์แลนด์หลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 ใช้เวลายาวนานกว่า 7 เดือน

ในประเทศเยอรมนีหลังจากการเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ.2560 และในประเทศอิตาลีหลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ใช้เวลายาวกว่า 3 เดือน

โดยรวมทั้งหมดเทียบไม่ได้กับการจัดตั้งรัฐบาลที่ยาวนานในปี 2553 541 วันของเบลเยียม และในปี 2563 เบลเยียมก็ทำลายสถิติตัวเองในการเลือกตั้งช่วงวิกฤตโควิด

สำหรับประเทศไทยเรามักคุ้นเคยกับคำว่า เสถียรภาพ และประสิทธิภาพทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเอาทุกอย่างมาแลก ที่หากเมื่อมีความวุ่นวายทางการเมือง ก็จะคุ้นชินกับการทำรัฐประหารเพื่อแก้ไข

หรือว่าในระบบรัฐสภาหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคการเมืองไทยก็พร้อมจะถอยทุกนโยบาย ทุกอุดมการณ์ และพร้อมชูทุกนโยบายที่ไม่ได้หาเสียง โดยอ้างเหตุที่ว่า ต้อง “จัดตั้งรัฐบาล” เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

แต่งานวิจัยของ Daniel Albalate & Germ? Bel ได้ระบุว่า ความกังวลทั้งหลายกับภาวะ “ทางตัน” หรือ Deadlock เป็นเรื่องคิดกันไปเอง เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบาย

 

การวิเคราะห์ของงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผลการวิเคราะห์พบว่าเศรษฐกิจของเบลเยียมไม่ได้เสียหาย

ในความเป็นจริงอย่างแน่นอน ผลการเติบโตของผลิตผลภายในประเทศต่อคน (Gross Domestic Product per capita) มีความเจริญเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดังนั้น หลักฐานที่ได้มาแย้งคำอ้างที่กันแพร่หลายว่าการติดขัดในการสร้างรัฐบาลนานๆ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลงทุนเป็นลบ แต่อัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศเบลเยียมสูงขึ้นในช่วงเวลาของการติดขัดในการสร้างรัฐบาลเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจแบบเต็มกำลังอยู่ในตำแหน่ง

ที่น่าสนใจที่สุดคือในปี 2011 หลังจากที่ประเทศนั้นมีเวลาเกือบทั้งปีโดยไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจแบบเต็ม แบบจำลองทางเศรษฐกิจสมมุติว่า หากเบลเยียมในภาวะปกติกับภาวะทางตัน จะเผชิญความแตกต่างด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่

คำตอบชัดเจนว่าไม่มีความแตกต่างในช่วง 1-2 ปี

ซึ่งจากงานวิจัยชิ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า

1. สภาวะที่ไม่มีรัฐบาลมีอำนาจเต็มไม่เท่ากับสภาวะไม่มีรัฐบาล เป็นการวิตกและกล่าวอ้างเกินจริง

2. การบริหารงานมีหลายระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับหน่วยงานราชการ การจัดตั้งรัฐบาลกลางล่าช้าไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

3. ระบบราชการในเบลเยียมสามารถผลักดันให้การทำงานด้านบริการประชาชนเป็นปกติ

และ 4. การเลื่อนอนุมัติงบประมาณขนาดใหญ่ไม่มีผลต่อการเติบโต GDP ของประเทศ

 

เมื่อพิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศเบลเยียม ซึ่งประเด็นปัญหาล่าสุดที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือถึงทางตันก็เหมือนหลายประเทศคือข้อถกเถียงเรื่องนโยบายหลักดังเช่น นโยบายด้านผู้อพยพ ซึ่งในช่วงการรณรงค์การเลือกตั้ง ทุกฝ่ายต่างแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องนี้และยากที่จะลดเพดานของตนได้ จึงต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลาย เพื่อจัดวางจุดยืนทางนโยบาย หรือการรอให้สถานการณ์บางอย่างที่เกี่ยวพันกับความแหลมคมเชิงนโยบายคลี่คลายมากขึ้น

ในกรณีประเทศไทยนั้นมีความใกล้เคียงกัน เราคิดว่ามีปัญหาคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องเริ่มจากการถอยอุดมการณ์ทุกอย่างที่ตนให้คำสัญญากับประชาชนแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นตามต่อมา?

จากปรากฏการณ์ของประเทศเบลเยียม การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่ได้มีผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง หรือกีดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และการกีดขวางทางเศรษฐกิจเกิดจากอะไร

จากประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า การที่นักการเมืองทรยศอุดมการณ์หลังการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยใหญ่และสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง

และความวุ่นวายทางการเมืองนั้นมีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจและความรู้สึกของประชาชนต่อมา

เช่นเดียวกันกับนักการเมืองที่ลดอุดมการณ์ของตนเองหรือสิ่งที่ให้คำสัญญากับประชาชนเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดเงื่อนไขการคอร์รัปชั่นมากมาย ที่มีผลต่อการต่อต้านรัฐบาล และการถดถอยทางเศรษฐกิจ และการเสียผลประโยชน์ของประเทศ

ดังงานวิจัยเรื่อง Shifting parties, rational switchers:Are voters responding to ideological shifts by political parties? ของ Benjamin Ferland ที่ชี้ว่าประชาชนไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ตามนักการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อพวกนักการเมืองเปลี่ยนอุดมการณ์หลังการเลือกตั้ง คนยังคงเชื่อในสิ่งที่ควรเป็น และจะศรัทธากับระบบการเมืองน้อยลง

ดังนั้น เราจึงไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่าหวาดวิตกว่า สังคมจะล่มสลายถ้าการจัดตั้งรัฐบาลไม่เกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แต่ถ้าเราปล่อยให้นักการเมืองไม่ต้องผูกพันกับคำสัญญากับประชาชนทำอะไรก็ได้

สิ่งนี้คือหายนะมากกว่า และเราไม่ควรปล่อยให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต