ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
ถ้าจะสรุปว่า “การจัดตั้งรัฐบาลกำลังถึงทางตัน” คงไม่ผิดความจริงนัก
คณะผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่ามติของรัฐสภาว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ทำไม่ได้นั้น เป็นมติที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และให้เลื่อนวาระโหวตนายกรัฐมนตรีคนอื่นซึ่งกำหนดในวันที่ 27 กรกฎาคม ออกไป เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินนี้ เป็นไปในทางเดียวกับแถลงการณ์ของอาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
นี่ก็หนักหนาสาหัสแล้ว เพราะสะท้อนชัดว่าการทำงานของรัฐสภา ตั้งแต่ประธานรัฐสภาลงมาจนถึงสมาชิกทุกคน เป็นไปอย่างน่าสงสัยว่าแม้จะมีหน้าที่หลักในการเป็นผู้ตรากฎหมาย แต่กลับไม่มีความรู้ในทางกฎหมายเพียงพอที่จะทำหน้าที่โดยไม่ผิดกฎหมาย ด้วยกระทั่งหลักการตีความกฎหมายว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะให้ข้อบังคับการประชุมมาเป็นใหญ่กว่าไม่ได้ ยังไม่มีความเข้าใจ
หรือเป็นการลงมติแบบพวกมากลากไป โดยไม่ใส่ใจว่าเป็นมติที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนั่นย่อมถือเป็น “เผด็จการรัฐสภา” ที่ว่าพูดถึงไม่เห็นหัวประชาชน กระทั่งกฎหมายที่พวกตัวเองเขียนขึ้นมายังพร้อมจะไม่ยอมรับ หากไม่เป็นประโยชน์กับพวกตัว
ดังนั้น ข้อสรุปว่า “คนจำพวกนี้กำลังทำให้ประเทศถึงทางตัน” จึงมีเหตุผลอยู่มาก
สมาชิก “รัฐสภา” ขณะที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย
หนึ่ง ส.ส.ที่ประชาชนนิยามให้ว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นพรรคฝ่ายค้านเดิมที่หาเสียงด้วยเจตนารมณ์สลายการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และชนะการเลือกตั้งเข้ามารวมกันได้ 8 พรรค 312 เสียงจาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ถือว่าเกินครึ่งไปมาก
สอง ส.ส.ที่ประชาชนให้นิยามว่าเป็น “ฝ่ายสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจ” หรือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี รวมกันอยู่ 10 พรรค 188 เสียง เป็นเสียงข้างน้อย
สาม สมาชิกวุฒิสภา ที่ประชุมให้นิยามว่าเป็น “เครื่องมือขบวนการสืบทอดผูกขาดอำนาจ” มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่เป็นรัฐบาล มี 250 เสียง
เพราะการโหวตนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือจำนวนเต็มของสมาชิกทั้งหมด 750 คน ไม่ว่าจะเข้าไปประชุม หรืองดออกเสียง นั่นหมายถึงต้องได้ 376 เสียง
ทำให้แม้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะรวมกันได้ถึง 312 เสียงก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา
วันนี้ชัดเจนแล้วว่า สภาผู้แทนฯ เสียงข้างน้อย อันหมายถึง “ผู้สนับสนุนขบวนการผูกขาดอำนาจ” สมคบกับ “สมาชิกวุฒิสภา” ขัดขวางเสียงข้างมากของ “สภาผู้แทนราษฎร” อันมาจาก “อำนาจประชาชน” ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลได้
การเมืองมาถึงทางตัน ไม่ว่าจะหาทางออกอย่างไร ประเทศก็ไม่มีหนทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้
ประหลาดตรงที่ “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ที่ชนะการเลือกตั้ง ประชาชนให้อำนาจที่จะมาร่วมกันบริหารประเทศ กลายเป็นพรรคที่ถูกชี้ว่า “ผิดพลาด” เพราะไม่มีความสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
เป็นต้นเหตุของ “ทางตัน”
นักการเมือง ไม่เว้นแม้แต่บางคนในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่คิดว่า “ประชาชนโง่” ไม่รู้ประสีประสาว่า “ใครทำให้ประเทศถึงทางตัน”
และพยายามอ้างว่า “ประชาชนต้องการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพราะปัญหาของประเทศที่หนักหนาขึ้นทุกทีรอให้ยือดเยื้อต่อไปไม่ได้”
คนเหล่านี้ไม่ได้ถามประชาชนว่า “ต้องการรัฐบาลแบบไหน”
มีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่”
ในคำถาม “มีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่” ร้อยละ 67.83 ตอบว่ากังวล เพราะกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน, พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล, พรรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน, เล่นเกมการเมืองมากเกินไป
ร้อยละ 32.17 ตอบว่าไม่กังวล เพราะให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้, น่าจะตกลงร่วมกันได้ลงตัว, การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย, เคารพในสิทธิของกันและกัน
ความรู้สึกของประชาชนเป็นเช่นนั้น ไม่มีใครที่ปรารถนาทางตัน โดยเฉพาะอันเกิดจากรับใช้ “ขบวนการผูกขาดอำนาจ”
คำถามคือว่า “สมาชิกรัฐสภา” ซึ่งตามนิยามคือ “ผู้ทำหน้าที่แทนประชาชน” พวกไหนคือผู้สร้างทางตันให้ความปรารถนาของประชาชนไปไม่ถึงเป้าหมาย
ใครทำให้เกิดทางออกตามที่ประชาชนต้องการ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022