สอนแซลมอนให้คืนถิ่น…ด้วยกลิ่นเมรัย | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

สมัยอยู่ที่อเมริกา ผมเลือกทำเลบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงาน เลยไม่ต้องเดินทางผจญการจราจรที่ติดยืดยาวราวไม่มีวันสิ้นสุด เวลาว่างก็เลยค่อนข้างเยอะ ผมก็เลยมักจะหาความสุนทรีย์กับการฝึกทำอาหารสารพัดอย่าง กินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างน้อยก็ได้ทดลองพอให้รู้

ตอนนั้นผมติดรายการทำอาหารแบบหนึบหนับ ช่องที่ผมเปิดดูบ่อยที่สุดก็คือ Food Network เปิดคลอไว้แทบตลอด ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง แล้วแต่อารมณ์

แม้จะชอบดูรายการทำอาหาร แต่ที่แปลกคือผมไม่ค่อยอินกับการอ่านนิตยสารแนวๆ อาหารมากนัก

เพิ่งจะมีช่วงนี้ ที่เริ่มกลับไปส่องบทความ หรือไม่ก็เมนูแปลกๆ ในนิตยสารอาหารบ้างเพราะกำลังมีกระแสนวัตกรรมอาหารแบบใหม่ๆ อย่างเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากห้องทดลองออกมากระเพื่อมวงการ

หลังจากอ่านผ่านๆ สายตาผมก็แว้บไปเจออยู่บทความหนึ่งในนิตยสาร Food & Wine ที่พาดหัวออกมาแปลกๆ… “ในมหาสมุทรอันไพศาล เบียร์ช่วยให้แซลมอนหาทางกลับบ้านได้อย่างไร (How Beer Is Helping Salmon Find Their Way Home From the Ocean)”

น่าสนใจ เบียร์ไปเกี่ยวอะไรกับแซลมอน นอกจากเอามาแกล้มกินคู่กันได้อย่างลงตัว

ที่จริงแล้ว เรื่องของเรื่องเริ่มจากการอพยพของแซลมอน … ในฤดูผสมพันธุ์ แซลมอนจะเดินทางย้อนกลับไปยังต้นน้ำที่เป็นมาตุภูมิของพวกมัน ที่ซึ่งพวกมันเกิดและเติบโตเพื่อหาคู่ตุนาหงัน ร่วมหอลงโรง และวางไข่สืบต่อเผ่าพันธุ์ให้กำเนิดลูกหลานแซลมอนรุ่นต่อไป

ทว่า ที่น่าแปลกใจก็คือ แซลมอนที่เริ่มเจริญวัยจะเดินทางไกลลงสู่มหาสมุทรอาจเป็นระยะทางนับร้อยนับพันไมล์จากบ้านเกิด เพื่อหาอาหารประทังชีวิต

ในปี 2021 อุนดุน ริคาร์ดสัน (Audun Rikardson) และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์กติกแห่งนอร์เวย์ (Arctic University of Norway) ศึกษาแผนที่การอพยพของแซลมอนแอตแลนติกและพบว่าฝูงปลาจะสามารถเดินทางตะลอนชิมไปได้ไกลสูงสุดถึงเกือบๆ 3,000 กิโลเมตร

แต่แล้วในฤดูผสมพันธุ์พวกมันจำได้อย่างแม่นยำว่าบ้านเกิดของพวกมันนั้นอยู่ที่ไหน อีกทั้งยังสามารถพุ่งตรงกลับบ้านได้เป็นอย่างดีราวกับมีกูเกิลแม็ปแบบที่ไม่หลอกไปหลงอีกด้วย

“สัตว์หลายชนิดสามารถใช้สนามแม่เหล็กโลกในการนำทางการเคลื่อนที่ของพวกมันได้” ลิวอิส ไนสเบตต์-โจนส์ (Lewis Naisbett-Jones) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ชาเปลฮิลล์ (University of North Carolina Chapel Hill) ตั้งข้อสังเกต “ไม่ว่าจะเป็นนก ตุ่นหนู ค้างคาว เต่าทะเล และล็อบสเตอร์”

ลิวอิสเชื่อว่าแซลมอนน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่สามารถรับรู้และนำเอาสนามแม่เหล็กโลกมาใช้ในการกำหนดทิศทางได้

ที่จริงแล้วกระบวนการรับรู้สัมผัสของสนามแม่เหล็กในสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นปริศนาที่ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ฉงนสนเท่ห์กันมานานมากแล้ว แต่หลังจากการศึกษาวิจัยมานานนับศตวรรษ นักวิทย์เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตพวกนี้น่าจะมีกลไกในการรับรู้สนามแม่เหล็กอยู่หลักๆ 2 วิธี ซึ่งอาจจะเป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมีบางอย่างที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลก หรือก็เป็นไปได้เช่นกันที่ในเซลล์ของสัตว์นั้นอาจจะมีผลึกแม่เหล็กเล็กๆ อยู่

ผลึกที่ว่ามักจะถูกเรียกว่า หินนำทาง (lodestone) หรือแมกนีไทต์ (magnetite) ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเข็มทิศที่ช่วยให้สัตว์สามารถรับรู้ถึงทิศทางของสนามแม่เหล็กได้อย่างแม่นยำ (magnetoreception)

ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นอะไรที่ว้าวมากกกกก ในครั้งแรกที่ได้ยินว่า “นกพิราบมีแม่เหล็กอยู่ที่จะงอยปากบน” และเเม่เหล็กเหล่านั้นเกี่ยวโยงถึงความสามารถของพวกมันในการรับรู้ทิศทางของสนามแม่เหล็ก

และเป็นอะไรที่ว้าวยิ่งกว่าเมื่อตอนที่ได้เห็นภาพของผลึกแม่เหล็ก “แมกนีโทโซม (magnetosome)” ที่เรียงตัวกันอย่างสวยงาม ในเซลล์ของแบคทีเรียแบบชัดๆ แจ่มๆ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

โครงสร้างผลึกพวกนี้ช่างดูเรียบง่ายแต่อลังการในแง่ของโครงสร้างและการทำงาน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก แม้แต่เเบคทีเรียเล็กจิ๋วยังมีกลไกการรับรู้สนามแม่เหล็กที่น่าอัศจรรย์

 

ลิวอิสเชื่อว่าแซลมอนก็น่าจะมีกลไกแบบเดียวกันในการนำทางพวกมันกลับบ้าน และเพื่อทดสอบ ลิวอิสและทีมวิจัยทดลองกระตุ้นปลาแซลมอนชินูก (chinook salmon) ด้วยแรงแม่เหล็ก แล้วดูว่าพวกมันตอบสนองอย่างไร

ชัดเจนว่าพอได้รับแรงแม่เหล็กในระยะใกล้ ปลาแทบทุกตัวก็จะเริ่มตอบสนองในแบบเดียวกัน และถ้าแบบแผนของสนามเเม่เหล็กเปลี่ยนไป พวกมันจะเริ่มเปลี่ยนแนวทางการตอบสนองไปเป็นคนละแบบในทันที

นั่นหมายความว่าสนามแม่เหล็กน่าจะมีผลต่อกลไกการนำร่องในแซลมอน

“ในภาพใหญ่ แซลมอนพวกนี้รู้ดีว่าพวกมันอยู่ที่ไหน พวกมันควรจะไปที่ไหน จะไปยังไง และจะต้องเปลี่ยนทิศเมื่อไร” เดวิด โนเอกส์ (David Noakes) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐโอเรกอน (Oregon State University) กล่าว

“เวลาที่อยู่ในน้ำจืด พวกมันจะฝังใจกับองค์ประกอบพวกสารเคมีในน้ำ เเต่เมื่อพวกมันเข้าสู่น้ำเค็ม พวกมันจะเปลี่ยนไปใช้สัญญาณบ่งชี้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์จากสนามแม่เหล็กเพื่อระบุละติจูดและลองจิจูด พวกมันจะรู้ว่านี่คือองศาที่พวกมันจะต้องกลับมาอีกครั้ง”

เดวิดเล่าต่อ “เเละเมื่อมันกลับมาถึงปากแม่น้ำที่นำพามันออกสู่ทะเลในครั้งแรก พวกมันจะเริ่มว่ายทวนน้ำย้อนกลับไปผสมพันธุ์กันในพื้นที่เดิมในที่ที่พวกมันเคยอยู่และเคยฟักออกมา”

“เวลาอยู่ในแม่น้ำ พวกมันจะเน้นพึ่งพาสัญญาณทางเคมีเป็นหลัก” เดวิดกล่าวต่อ ที่จริงแล้วความสามารถในการรับกลิ่นของแซลมอนนั้นดีเลิศประเสริฐมาก โดยเฉพาะในน้ำ อาจจะดีกว่าของสุนัขเสียด้วยซ้ำ พวกมันจะรับรู้และตอบสนองได้ไวมากว่านี่คือกลิ่นของพรรคพวก พี่น้อง อาหาร หรือเภทภัย

แซลมอนเกิดใหม่จะฝังใจกลับกลิ่นของถิ่นที่อยู่และมาตุภูมิของพวกมันแทบจะในทันทีที่ฟักออกมาจากไข่ และนั่นคือกลิ่นที่จะพาให้พวกมันว่ายย้อนกลับมาเวลาที่ถึงฤดูผสมพันธุ์

ประสาทรับกลิ่นขั้นเทพของพวกมันทำให้แซลมอนสามารถย้อนกลับไปยังถิ่นที่เกิดได้ค่อนข้างเป๊ะ

แต่ด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โลกรวน ทำให้บางทีโปรไฟล์ของกลิ่นในถิ่นที่อยู่เปลี่ยนไป แซลมอนบางกลุ่มก็จะเริ่มงงๆ ว่าจะไปที่ไหนดี

ปัญหานั้นมักจะเกิดหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแซลมอนที่ฟักและถูกประคบประหงมมาจากศูนย์เพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลา

พวกมันมักจะโตเร็วกว่าและมีขนาดใหญ่กว่าแซลมอนที่ฟักออกมาในธรรมชาติ ที่หลายคนมักเรียกว่า แซลมอนเถื่อน (Wild Salmon) แต่ถ้าเทียบความอึด พวกนี้มักจะเปราะกว่ามาก ปัญหาคือเมื่อเเซลมอนหลงถิ่นพวกนี้หลงเข้าไปในเขตผสมพันธุ์ของเเซลมอนเถื่อน และไปผสมพันธุ์กันกับแซลมอนเถื่อน ลูกผสมที่ออกมาส่วนใหญ่จะค่อนข้างเปราะและมักจะล้มหายตายจากไปก่อนที่จะถึงวัยผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กับกลุ่มประชากรของเเซลมอนในธรรมชาติ

ปัญหานี้ส่งผลกระทบกับจำนวนประชากรแซลมอนในธรรมชาติอย่างชัดเจนจนถึงขั้นน่ากังวล ในปี 2016 สำนักงานพิทักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งรัฐโอเรกอน (Oregon Department of Fish and Wildlife) จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์ปลาแห่งรัฐ (Oregon hatchery research center) หาวิธีปลูกฝังกลิ่นฝังใจให้เหล่าลูกปลา ให้พวกมันจดจำและว่ายกลับมาแพร่พันธุ์ที่ศูนย์

ไม่ไปเที่ยวปั่นป่วนแหล่งผสมพันธุ์ของพวกแซลมอนในธรรมชาติ เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์

 

มาร์ยัม คัมเเรน (Maryam Kamran) นักวิจัยจากศูนย์ก็เลยทดลองเอาสารพัดกลิ่นจิปาถะ มาหยอดลงในบ่อเลี้ยงลูกปลา ทั้งสารสกัดจากกุ้ง หนังปลาเรนโบว์เทราต์ ไปจนถึงดีปลาซิว แล้วให้อาหารตาม เพื่อฝึกลูกปลาให้รู้ว่ากลิ่นประหลาดๆ พวกนี้หมายถึงอาหาร แบบเดียวกับที่ไอแวน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ใช้ฝึกน้องหมาให้น้ำลายย้อยในเวลาที่ได้ยินเสียงกระดิ่ง

มาร์ยัมทดสอบสารสกัดอีกมากมายกับลูกปลา ทั้งฮอร์โมน ฟีโรโมน อีกทั้งยังมีสารสกัดแปลกๆ อีกสารพัดสารพัน หลายสูตรก็ดูเหมือนจะได้ผล ลูกปลาดูตื่นเต้นราวกับว่าจะจดจำกลิ่นได้

แต่เพื่อให้ชัวร์ว่าลูกปลานั้นฝังใจกับกลิ่นของสารสกัดที่ให้ลงไปจริงๆ เธอตัดสินใจที่จะสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับแอนดี้ ดิตต์แมนน์ (Andy Dittmann) นักวิจัยจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (US National Oceanic and Atmospheric Administration, NOAA) ซึ่งช่วยเธอตรวจวัดการส่งกระแสประสาทในลูกปลาหลังจากที่ได้รับแต่ละกลิ่น

“เราอยากรู้ว่าจากกลิ่นที่เราเลือกมา จมูกของลูกปลาตรวจเจอกลิ่นพวกนี้ได้จริงมั้ย” มาร์ยัมกล่าว

หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี ในที่สุดเธอก็เจอกลิ่นที่ปลาฝังใจ ซึ่งตัวที่ดูจะเวิร์กที่สุดเป็นสารผสมของพวกกรดอะมิโนหลายๆ ตัวที่เธอลองซื้อมาทดสอบเล่นกับลูกปลาที่ศูนย์เพาะพันธุ์ที่แม่น้ำเอลก์ (Elk river)

แม้ว่าผลจะดูมีแววสดใส ทว่า พอดูราคาแล้วก็เหี่ยวใจ เพราะสารผสมที่ว่าราคาค่อนข้างดุเดือด เกินกว่าจะเอามาละลายลงบ่อลูกปลาแบบขำๆ

แม้จะเจอทางตัน แต่มาร์ยัมก็ยังผลักดันงานนี้ต่อ เธอยังคงทดสอบและเฟ้นหาสารสกัดแปลกๆ ตัวอื่นๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

และในที่สุด ก็มาลงเอยที่เบียร์ และยีสต์หมักเบียร์!!!

 

“กรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ดูจะมีอิทธิพลของพฤติกรรมลูกปลาซึ่งก็คือกลูตาเมตนั้นพบได้เยอะในยีสต์หมักเบียร์”

ไอเดียนี้มาจากเซธ ไวต์ (Seth White) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์ปลาแห่งรัฐโอเรกอนที่จับพลัดจับผลูมีงานอดิเรกเป็นนักหมักเบียร์มือสมัครเล่นก็ได้เห็นผลงานของมาร์ยัม พอรู้ว่าสิ่งที่จะทำให้ลูกปลาฝังใจได้คือกรดอะมิโน เซธก็เสนอไอเดียใช้เบียร์ล่อปลาขึ้นมาทันที

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เซธแวะไปโรงหมักเบียร์โร้ก (Rogue) ในนิวพอร์ต (Newport) และขอซื้อตะกอนยีสต์หมักเบียร์ (trub) ใส่คูลเลอร์น้ำแข็ง แล้วพุ่งตรงกลับไปที่ศูนย์วิจัยทันที เพื่อให้แอนดี้ทดลอง

“ดูเหมือนว่าสูตรนี้จะกระตุ้นลูกปลาได้ดีมาก” แอนดี้เผย “นี่คืออีกหนึ่งสารสกัดที่น่าสนใจ”

ในปีที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่ปลาที่เคยถูกทำให้ฝังใจด้วยสารผสมกรดอะมิโนเริ่มที่จะกลับมายังเเม่น้ำเอลก์ ผลการทดลองยังไม่ได้ถูกวิเคราะห์ออกมาอย่างละเอียด แต่โดยรวมแล้วดูจะมีความหวัง

สำหรับเบียร์ ตอนนี้ผลดูดีมาก เซธเผยต่อว่ายังมีการทดลองอีกหลายอย่างที่ต้องทำก่อนที่จะเอามาใช้จริงกับปลาในศูนย์

ซึ่งถ้าเวิร์กขึ้นมาจริงๆ ละก็ ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นแคมเปญใหม่ “อนุรักษ์แซลมอน ดริงก์เบียร์” ขึ้นมาก็ได้