ปลดปล่อย ‘นกฟ้า’ เปิดทางสู่อาณาจักร ‘X’

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ปลดปล่อย ‘นกฟ้า’

เปิดทางสู่อาณาจักร ‘X’

 

การเปลี่ยนแปลงของ Twitter ภายใต้การบริหารของเจ้าของใหม่อย่าง Elon Musk ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ละการเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันดุเด็ดเผ็ดมัน

ล่าสุด Elon Musk สั่งรีแบรนด์ชื่อและโลโก้ Twitter ใหม่ โละเจ้านกสีฟ้าทิ้ง เปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย X สไตล์โมเดิร์น และเปลี่ยนชื่อให้เป็น ‘เอ็กซ์’ ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ชวนให้คนลุกขึ้นถกเถียงกันว่าเป็นความคิดที่ดีหรือเปล่าที่จะยกเลิกของเดิมที่คนรู้จักดีและโยนทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

อันที่จริงการเปลี่ยนโลโกครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราไม่ได้ระแคะระคายมาก่อน เพราะเขาก็เคยบอกแล้วว่าตั้งใจจะรีแบรนด์ให้ Twitter กลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ที่ใหญ่กว่านั้น

แต่เราก็ยังอดใจหายกันไม่ได้อยู่ดี ที่จู่ๆ นกพุงกลมสีฟ้าที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตบนโลกโซเชียลบินหายวับไปกับตา

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประกาศเปรี้ยงว่าจะรีแบรนด์ก็มีคนบันทึกภาพเจ้าหน้าที่กำลังแกะป้ายเดิมออกจากอาคารสำนักงานใหญ่ของ Twitter ในซานฟรานซิสโก แล้วฉายโปรเจ็กเตอร์ภาพโลโก้ X ของใหม่เข้าไปแทนที่ ตอกย้ำว่า Twitter เดิมที่เรารู้จักจะไม่อยู่กับเราอีกแล้ว

ชุมชนดีไซเนอร์ต่างก็พร้อมใจกันออกมารีวิวโลโก้ X ใหม่กันอย่างสนุกสนาน หลายคนบอกว่า X แบบนี้เรียบง่ายเกินไป เป็นยูนิโค้ดที่ใครๆ ก็หยิบมาใช้ได้ ซึ่งก็มีคนที่หยิบมาใช้เป็นโลโก้ของแบรนด์ตัวเองไปแล้วหลายแบรนด์จริงๆ

เป็นไปได้ว่าโลโก้นี้อาจจะยังไม่ใช่เวอร์ชั่นใช้จริงและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดอาจจะไม่ใช่เรื่องความสวยงามของโลโก้ แต่เป็นชื่อที่ติดหูติดปากไปแล้วจนแทบจะนึกไม่ออกเลยว่า Elon Musk จะทำให้คนยอมเปลี่ยนจากการเรียกแพลตฟอร์ม Twitter ไปเรียกว่า เอ็กซ์ แทนได้อย่างไร

 

BBC สัมภาษณ์ Yanhui Zhao ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก University of Nebraska Omaha ซึ่งทำการศึกษาและเก็บข้อมูลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 215 แห่งที่ประกาศรีแบรนด์มาแล้วและพบว่ามากกว่าครึ่งได้รับผลลัพธ์ด้านบวกหลังจากการรีแบรนด์

Zhao บอกว่าการรีแบรนด์เหมาะสำหรับบริษัทที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจ

มีการประเมินว่าตั้งแต่ Musk เข้ามาครอบครอง Twitter (ในตอนนี้ขอเรียกว่า Twitter ไปก่อนก็แล้วกันค่ะ) มูลค่าบริษัทร่วงจาก 44,000 ล้านดอลลาร์ ลงไปเหลือ 3,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้จากการโฆษณาก็ลดฮวบลงไปกว่าครึ่ง เนื่องจากการบริหารงานในสไตล์หุนหันพลันแล่น มีทั้งปลดคน มีทั้งไม่จ่ายหนี้ แถมยังงอกนโยบายแปลกๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ จนแบรนด์ใหญ่ๆ พากันถอนตัวไปหมด

ดังนั้น ถ้าดูจากสถานการณ์ในตอนนี้และมองในระยะยาว Elon ก็อาจจะตัดสินใจถูกแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งก็เตือนการประสบความสำเร็จจากการรีแบรนด์อาจจะมีโอกาสน้อยลงถ้าหากบริษัทที่รีแบรนด์นั้นตกอยู่ในสถานการณ์โกลาหล

อย่างในกรณีของ Twitter ซึ่งอันที่จริงโลโก้หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์เองไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ปัญหาที่บริษัทประสบอยู่ในตอนนี้น่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากผู้นำมากกว่า

 

ย้อนกลับมาที่โปรเจ็กต์ใหญ่ที่ทำให้ Elon Musk ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและโลโกของ Twitter มาจากการที่เขาตั้งใจจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า everything app หรือแอพพ์ที่ผู้ใช้งานสามารถทำได้ทุกอย่างครอบจักรวาลในแอพพ์เดียว แบบเดียวกับที่จีนสามารถทำให้ WeChat เป็นศูนย์กลางสำหรับทุกอย่างได้มาแล้ว ถึงฟังก์ชั่นหลักจะเป็นแอพพ์สำหรับส่งข้อความ แต่ก็ยังสามารถใช้เพื่อโอนเงิน เรียกรถ จองโรงเรียน เล่นเกม หรืออะไรต่อมิอะไรได้อีกนับไม่ถ้วน

Musk ตั้งใจจะให้ X เป็น everything app ที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันชื่อก็ยังสามารถล้อไปกับอีกสองบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของอยู่แล้ว อย่าง xAI และ Space X ได้ด้วย

ถ้าเรามองเรื่องนี้แค่แง่มุมของการเปลี่ยนแปลงชื่อและโลโก้ นี่ก็อาจจะไม่ใช่อะไรที่ใหญ่โตมาก ที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ๆ ในแวดวงเทคโนโลยีก็เคยผ่านการรีแบรนด์มาแล้วไม่มากก็น้อย Facebook เคยเปลี่ยนหน้าตาอินเตอร์เฟซใหม่ทั้งหมด Instagram ก็เปลี่ยนจากโลโก้กล้องสไตล์เรโทรมาเป็นโลโก้ที่มินิมอลขึ้นแต่สีสันสดใสกว่าเดิม

ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง ทุกบริษัทก็เคยผ่านการถูกผู้ใช้งานด่าทอเย้ยหยันกันมาหมดแล้ว หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมายชัดเจนและบริษัทยืนหยัดกับของใหม่ได้อย่างมั่นคง ในที่สุดผู้ใช้งานก็จะเคยชินและยอมรับไปเอง

 

การกระทำที่บ้าระห่ำของ Elon Musk ในฐานะเจ้าของ Twitter หลายต่อหลายครั้งก็ดูมีปัญหา แต่บางอย่างกลับลงเอยด้วยการเป็นโมเดลสร้างรายได้แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างการขายเครื่องหมายติ๊กถูกและให้สิทธิพิเศษบางอย่างกับคนที่ยอมจ่ายรายเดือนก็นับเป็นการเขี่ยลูกให้บริษัทอื่นๆ ทำตาม

วิสัยทัศน์การทำให้ X กลายเป็น everything app นับเป็นการมองภาพใหญ่ที่เล่นเกมกันยาว ต้องใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งเงิน และทรัพยากรบุคคลอีกมหาศาล แต่ก็ถือเป็นการนำ Twitter ไปในทิศทางที่แบรนด์ไม่เคยเดินมาก่อน และแบรนด์ Twitter เองก็ได้เวลาอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ก่อนเขาจะเข้าไปซื้อกิจการแล้ว

จะน่ากลัวอยู่บ้างก็ตรงที่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างทุลักทุเลและดูไม่ค่อยเตรียมพร้อมสักเท่าไหร่ เปลี่ยนตรงนั้น ไม่เปลี่ยนตรงนี้ จนทำให้ตัวตนของแบรนด์สับสนไปหมด

ถ้าหากฐานผู้ใช้งาน Twitter เดิมเหนียวแน่นกับแพลตฟอร์ม ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหนแม้จะมีคู่แข่งที่พร้อมช้อนคนอย่าง Threads รออยู่ ต่อให้การเปลี่ยนแปลงขลุกขลักแค่ไหนคนกลุ่มนี้ก็อาจจะยังอยู่รอเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร X

ถึงสไตล์ของ Elon Musk จะชวนให้ปวดหัวอยู่หลายครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเขาคือผู้บริหารที่ไม่กลัวที่จะเสี่ยง และไม่ยึดติดกับของเดิมเลยไม่ว่าคนอื่นรอบตัวจะบอกว่าของเดิมดีอยู่แล้วขนาดไหน

เห็นแบบนี้ก็รู้สึกอดไม่ได้ที่จะสนุกไปกับการติดตามรอดูว่า X ใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นแบบไหนเลยค่ะ