จดหมายเหตุ จาก ‘ส่วนตัว’ สู่ ‘ส่วนรวม’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

ในบรรดางานอดิเรกทั้งปวงที่ผมชอบพอและปฏิบัติอยู่เป็นประจำ นอกจากการกิน การเที่ยว และการอ่านหนังสือซึ่งเป็นเรื่องสำคัญชั้นเอกอุของผมแล้ว

การได้เขียนหนังสือหรือการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไว้เป็นร่องรอยหลักฐานสำหรับตัวเองหรือผู้อื่นที่เดินตามมาภายหลังจะได้ศึกษาค้นคว้าก็เป็นเรื่องที่ผมได้ปฏิบัติอยู่เสมอ

จะเรียกว่าผมเสพติดการเขียนหนังสือก็พอจะได้อยู่

เรื่องของการชอบอ่านหนังสือและเขียนหนังสืออย่างนี้เองที่นำทางผมไปสู่แวดวงของกิจการที่เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า “จดหมายเหตุ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Archive ซึ่งผมสรุปความเข้าใจเอาเองว่า เป็นการศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้เรื่องราวในอดีตโดยอาศัยเอกสารต้นฉบับต่างๆ ที่มีผู้บันทึกไว้ส่วนตัวหรือมีหน้าที่ต่างๆ ได้จัดทำขึ้น ประกอบกับข้อมูลอื่น เช่น แผนที่หรือภาพถ่าย ประมวลเข้าด้วยกันแล้วก็เป็นความรู้ที่พาเราย้อนหวนไปในวันคืนครั้งเก่าอย่างน่าสนุกสนาน

ความรู้เหล่านั้นถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ได้มาก

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะปฏิรูปการศึกษาโดยไม่มองย้อนหลังกลับไปในอดีตเลยว่า ผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาแต่ก่อนท่านเคยคิดอะไรไว้บ้าง กว่าจะเดินทางมาถึงการศึกษาที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่ว่าในเวลานี้ เรามีบทเรียนอะไรที่ควรเก็บมาสอนใจ หากคิดแต่จะตะลุยไปข้างหน้าโดยไม่รู้ที่มาว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้ก็น่าเสียดายครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าเรื่องในอดีตจะต้องถูกต้องทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันเรื่องในอดีตก็ไม่ได้ผิดพลาดเสียทั้งหมดเหมือนกัน

เป็นหน้าที่ของคนอ่านจดหมายเหตุที่จะต้องเลือกเฟ้นข้อมูลที่ตัวเองค้นพบ ตีความโดยนึกถึงบริบทสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แล้วหยิบเรื่องที่เป็นประโยชน์มาสอนใจตัวเองในปัจจุบัน

 

นอกจากการอ่านจดหมายเหตุที่มีผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านเขียนบันทึกหรือทำงานไว้เป็นหลักฐานแล้ว ผมยังสนุกกับการสร้างจดหมายเหตุของตัวผมเองด้วย

ใช่ครับ ผมหมายถึงการที่ผมเที่ยวขีดเขียนอะไรเก็บไว้เป็นหลักฐานในที่ต่างๆ ถึงแม้ผมไม่ใช่บุคคลสำคัญถึงขนาดที่ใครจะต้องมาเคารพกราบไหว้ด้วยนึกถึงบุญคุณใหญ่โตมโหฬาร แต่อย่างน้อยประสบการณ์ชีวิตของผมก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคน อย่างน้อยก็สำหรับผู้ที่เป็นลูกหลานในครอบครัว หรือลูกศิษย์ลูกหา ถ้าได้อ่านเรื่องที่ผมเขียนฝากไว้แล้ว เขาจะได้รู้ว่าผมผ่านพบอะไรมาบ้าง

แม้จะไม่สอนใจอะไรมากมาย แม้เพียงแต่อ่านสนุกครึกครื้นก็คุ้มค่าแล้ว

สองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ผมรื้อบ้านเป็นการใหญ่ เพื่อตามหาสมุดบันทึกที่คุณปู่ของผมเขียนบันทึกประจำวัน หรือ Diary ไว้เมื่อครั้งที่ท่านไปรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อพุทธศักราช 2469 เกือบร้อยปีมาแล้วนะครับ

ท่านรับราชการอยู่ที่จังหวัดนั้นราวสามปีจนถึงพุทธศักราช 2471 จึงย้ายกลับเข้าพระนคร ระหว่างเวลานั้นเองท่านได้ชักชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดช่วยกันขุดบึงพลาญชัย เพื่อเป็นบึงใหญ่กลางเมืองสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคและบริโภค

ในสมุดบันทึกประจำวันของท่าน ท่านได้เขียนรายละเอียดไว้มากพอสมควรที่ทำให้เราสามารถมองเห็นบรรยากาศของการที่ผู้คนจำนวนนับหมื่นคนมาร่วมใจกันขุดบึงคราวนั้นได้ ขุดบึงเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านได้ร่วมกับประชาชนร้อยเอ็ดทำพิธียกหลักเมืองขึ้นประดิษฐานที่เกาะกลางบึง ในเวลาบ่ายของวันเพ็ญเดือนห้า พุทธศักราช 2471 โดยท่านได้ขอให้กำนันตำบลศรีแก้ว พ่อกำนันพิมพา จันทชา เป็นผู้ยกหลักเมืองขึ้นตั้งเอง

โดยคุณปู่ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยืนเป็นกองเชียร์อยู่ข้างๆ

บันทึกประจำวันอย่างนี้อ่านแล้วก็ได้ทั้งความรู้และทั้งความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน

เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ในชั้นประถมชั้นมัธยม คุณครูที่สอนภาษาไทยหลายท่านพยายามแนะนำให้ผมเขียนบันทึกประจำวัน ผมก็เป็นคนเชื่อครูครับ แต่เชื่อได้ประมาณสามสี่วันก็เลิกเชื่อ

ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมจึงไม่ได้เขียนบันทึกประจำวันแบบต่อเนื่องเสียที เพราะรู้สึกว่าในชีวิตนี้มีอะไรให้ทำอีกมากมายที่สนุกกว่าการเขียนบันทึกประจำวัน

จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีแล้วไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนิวยอร์ก นอกจากการเรียนหนังสือในห้องเรียนและอยู่ในห้องสมุดแล้ว วิธีคลายเหงาและบรรเทาความคิดถึงบ้านอย่างหนึ่งของผมคือการเขียนจดหมายถึงบ้านเป็นประจำ

เป็นจดหมายแบบเขียนใส่แผ่นกระดาษแล้วใส่ซองปิดแสตมป์บ้าง เขียนโปสการ์ดบ้าง หรือเขียนด้วยกระดาษบางๆ ที่ไปรษณีย์เขามีขายสำเร็จรูปบ้าง

ชีวิตเวลานั้นเขียนจดหมายมากครับ เขียนถึงบ้านทุกวัน ยกเว้นฤดูกาลที่มีการสอบ

จดหมายเหล่านั้นเมื่อส่งกลับมาถึงเมืองไทยแล้วแม่ของผมได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีจำนวนหลายร้อยฉบับ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ในความครอบครองของผม

มานึกดูแล้วจดหมายเหล่านี้ไม่ได้เล่าเรื่องส่วนตัวของผมแต่เพียงลำพัง หากแต่เล่าเรื่องของนักเรียนไทยคนหนึ่งที่ไปเรียนที่นิวยอร์กเมื่อเกือบห้าสิบปีมาแล้ว มีการเล่าถึงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ของอเมริกา มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งที่เกิดขึ้นในอเมริกาและในเมืองไทย เช่น เวลานั้นเป็นช่วงเวลาพุทธศักราช 2521 ถึง 2522 มีผู้อพยพจำนวนมากลงเรือเสี่ยงตายจากเวียดนามเพื่อมาลี้ภัยในเมืองไทย เรียกขานกันทั่วไปว่า Boat people

คำคำนี้ไปถามคนยุคปัจจุบันนี้จะมีสักกี่คนที่รู้ความหมาย

แถมจดหมายของผมชุดนี้ยังเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในยุคนั้น ความคิดเห็นประกอบเรื่องจะถูกอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นตัวอย่างของความคิดของคนในยุคนั้นที่มีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในโลก

จดหมายชุดนี้ในทางจดหมายเหตุจึงน่าจะมีความหมายและมีประโยชน์พอสมควรครับ

แต่ตอนนี้ยังเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวก่อน ตอนตายแล้วค่อยยกให้หอจดหมายเหตุแห่งชาตินำไปเก็บรักษาไว้กับเอกสารอื่นอีกสารพัดของผม ถึงตอนนั้นแล้วใครอยากไปค้นไปอ่านก็ยินดีครับ

ถือหลักว่าผมตายแล้ว มาฟ้องร้องหมิ่นประมาทอะไรไม่ได้แล้วล่ะครับ

เพราะในจดหมายนั้นนินทาผู้คนเอาไว้จมหูเลย

จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ผมนึกเสียดายอยู่เหมือนกันว่าในชีวิตการรับราชการ หรือแม้กระทั่งชีวิตในวัยเกษียณแล้วแปดปีจนถึงวันนี้ ผมได้ผ่านและได้พบอะไรมามากพอสมควร บางเหตุการณ์ผมเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษไปทำหน้าที่สำคัญบางอย่าง เช่น ปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเมื่อมีแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าในบางวาระ คราวใดก็ตามที่ผมมีโอกาสเช่นนั้น กลับมาถึงบ้านแล้วผมก็รีบเขียนบันทึกส่วนตัวของตัวเอง เรื่องอย่างนี้ต้องรีบจดก่อนที่ความจำจะเลือนหาย จดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เก็บเอาไว้ก่อน

รอไปรวมกับเอกสารจดหมายเหตุทั้งชุดของผมในอนาคต

นอกจากชีวิตราชการในหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ หรืองานพิเศษข้างเคียงกับงานราชการที่ผมได้ทำมามากมายแล้ว จังหวะชีวิตบางครั้งก็พาผมเข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง เมื่อก่อนเกษียณอายุก็เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ ครั้นเกษียณอายุมาแล้ว ก็เข้าไปเกี่ยวข้องเล็กน้อยในฐานะผู้ชมหรือคนแก่ที่มีคนมาขอพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์

การเมืองในที่นี้ หมายความรวมถึงการเมืองภาคประชาชนด้วยครับ

 

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่นั่งเขียนบทความคราวนี้อยู่ ผมนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของบ้านเรา

วันนั้นผมไม่ได้เขียนบันทึกประจำวันอะไรไว้เป็นหลักฐาน แต่คงไม่สายเกินไปที่จะขอบันทึกไว้ในที่นี้ว่า

“เช้าวันนั้นเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย ผมตื่นเต้นและรอวันนี้มาหลายเดือน ใกล้ 8 โมงผมก็ออกจากบ้านไปกับน้องชายเพื่อไปที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งตั้งอยู่ที่กรมส่งเสริมการส่งออก ปากซอยรัชดาภิเษก 32 เมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งปรากฏว่าผู้คนมากพอสมควร ยังไม่ได้เวลาเปิดหีบบัตร ผู้คนทั้งหลายต้องเข้าแถวยาวรอเวลา แถวยาวเป็นงูกินหางทีเดียว ระหว่างเข้าแถวนั้นเองได้พบกับลูกศิษย์ที่เรียนกฎหมายด้วยกันที่จุฬาฯ เขามาพร้อมด้วยคุณแม่และภริยา ความตื่นเต้นของเราที่จะได้ใช้สิทธิในวันนี้ดูสูสีกันมาก ลูกศิษย์คนที่ว่านุ่งกางเกงสีส้มมาด้วย แปลว่าอะไรหนอ ฮา!”

“พอได้เวลา 08:00 น. แถวก็เริ่มขยับ ผมได้ไปแสดงตนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักฐาน ลงชื่อรับบัตรเลือกตั้ง แล้วเดินไปเข้าคูหา คูหานั้นเป็นโต๊ะนักเรียน มีที่บังตาสามด้าน ภายในคูหามีปากกาลูกลื่นผูกเชือกไว้สำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใช้กาบัตร เรื่องจะกาบัตรให้ใครทั้งบัตรบัญชีรายชื่อและบัตรผู้แทนเขต ผมคิดมาจากบ้านเรียบร้อยแล้ว จะไปยากอะไรเล่า กาบัตรเสร็จก็นำบัตรทั้งสองใบซึ่งต่างสีกัน และเราพับเรียบร้อยแล้วไปหยอดลงกล่องพลาสติกที่อยู่ในบริเวณหน่วยเลือกตั้งของเรานั้นเอง”

“เป็นอันจบพิธีกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง กลับบ้านได้”

เห็นไหมครับว่า นี่คือตัวอย่างของการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวที่เราได้พบเห็นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ในวันข้างหน้าถ้าเรานำหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบนี้ไปประกอบกันกับข้อมูลว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีประชาชนทั่วทั้งประเทศไปใช้สิทธิเลือกตั้งถึงกว่าร้อยละ 75.22 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดที่เคยมีมาในสถิติของประเทศไทย

เราจะได้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากและเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนตั้งอกตั้งใจไปเลือกคนที่เป็นผู้แทนราษฎรของเขา ถึงขนาดไปต่อแถวยาวรอคอยก่อนเวลาเปิดหน่วยลงคะแนน เพื่อไปเลือกพรรคการเมืองที่เขาชื่นชอบ ที่เขาเห็นด้วยในนโยบาย เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีด้วย

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกหลังวันเลือกตั้งแล้วเพียงไม่กี่วันก็รู้แน่ชัดแล้วว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ประเทศไทยของเราจนถึงวันที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ ผ่านไปสองเดือนเศษแล้วยังไม่ทราบเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

รัฐธรรมนูญของเราเด็ดจริงๆ พับผ่าเถิด!

น่าเขียนจดหมายเหตุหรือบันทึกประจำวันนินทาไว้ยิ่งนัก

ช่วยกันเขียนคนละหน้าสองหน้าไหมครับ แต่สงสัยว่าเขียนแล้วพิมพ์ไม่ได้เหมือนกัน คนรอฟ้องเยอะเลยครับ