2 สมรภูมิ ‘สอย’ พิธา ถึงคิวลุ้น เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง & ป้อม

เห็นการเมืองไทยช่วงนี้แล้ว ชวนนึกถึงวลีอมตะที่สอนกันมาตั้งแต่มัธยม เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ว่าคือ “ระบอบการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

แต่ของไทยนี่น่าจะเป็น “ระบอบการปกครองของวุฒิสภา โดยวุฒิสภา เพื่อวุฒิสภา”

พูดเช่นนี้ ไม่เกินจริงไปนัก ไม่เชื่อลองเปิดข่าวสื่อใหญ่ระดับโลก ไล่มาตั้งแต่ฝั่งอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่านดูก็ได้

ผิดกับช่วงหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมไปมากๆ วันนี้เต็มไปด้วยข่าวเชิงลบด้านการเมืองของไทย

การเมืองไทยช่วงนี้จึงเซอร์ไพรส์คนไปทั้งโลก ล่าสุด โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาถึงกับต้องออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หลังการเลือกตั้งของไทย

โดยระบุว่ามีประเด็นโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายอยู่ในระดับ “น่าเป็นห่วง”

 

หลังก้าวไกลยอมถอยศึกชิงเก้าอี้ประธานสภา และต่อมา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล พ่ายศึกโหวตต่อเนื่องอีกครั้งในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก เพราะ ส.ว.ไม่ยึดหลักการเดิมโหวตให้พรรคเสียงข้างมากที่รวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้เช่นปี 2562

การพ่ายแพ้การโหวตดังกล่าวเท่ากับก้าวไกลถูกบีบจนต้องประกาศ “ยอมถอย” ทางการเมือง

แต่ก็พยายามพลิกสถานการณ์ ขอสู้ต่อใน 2 สมรภูมิคือ การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 และการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.

โดยหากพ่ายแพ้ทั้ง 2 สมรภูมิก็พร้อมถอยให้เพื่อไทยขึ้นมานำการจัดตั้งรัฐบาล และก้าวไกลจะสนับสนุนเพื่อไทย

ขณะที่ท่าทีของเพื่อไทยต่อการประกาศถอยทางการเมืองของก้าวไกลก็อยู่ในลักษณะไม่เห็นด้วยบางประการ โดยเฉพาะการพยายามดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว. เห็นได้จากการเดินสายให้สัมภาษณ์ของภูมิธรรม เวชยชัย ขึงขัง เข้มข้นเพื่อตอบโต้กับการเดินเกมของก้าวไกล ก่อนจบลงด้วยท่าทีพร้อมที่จะโหวตเลือกพิธาในรอบสอง

ขณะที่เพื่อไทยก็ประกาศตัว เตรียมพร้อมรับไม้ต่อจากก้าวไกล ปูทางด้วยประชาสัมพันธ์ด้านนโยบายเพื่อไทยโดยมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ การประกาศแก้เอ็มโอยูใหม่ของพรรคร่วม 8 พรรค ดันนโยบายเพื่อไทยขึ้นนำ

ตามมาด้วยอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประกาศพร้อมดัน เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกฯ หากพรรคก้าวไกลไม่ได้นำการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งยังส่งสัญญาณว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะยังไม่กลับไทยเร็วๆ นี้ จะรอให้การเมืองนิ่งก่อน

 

แล้วการโหวตนายกฯ รอบ 2 ก็จบลงแบบค้านสายตาคนดู ลากยาว เถียงเรื่องการโหวตนายกฯ เป็นญัตติหรือไม่ใช่ญัตติ เพราะการโหวตนายพิธาถูกไม่เห็นชอบไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ สุดท้ายรัฐสภาลงมติไม่ให้มีการเสนอซ้ำ ท่ามกลางคำถามของประชาชนที่คิดแบบสมมุติว่า ถ้าเวียนเสนอโหวตครบบัญชีแคนดิเดตที่มีไม่กี่คนแล้วยังไม่มีใครโหวตผ่าน

จะต้องทำไงต่อ? ยุบสภาหรือ?

ระหว่างการถกเถียงอย่างดุเดือด วัดใจเรื่องโหวตนายกฯ วาระ 2 ได้หรือไม่ พิธาก็เจอกับกระสุนปืนใหญ่ยิงใส่กลางตัว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีหุ้นสื่อไอทีวี

เป็นไปตามข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้าหนึ่งวันว่าจะมีคำสั่งดังกล่าวช่วงก่อนเที่ยง ซึ่งก็ออกมาตรงตามนั้น

เหมาะเหม็ง พอๆ กับ กกต.มีคำสั่งร้องฟันคดีนี้ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ 1 วันก่อนโหวตเลือกนายกฯ (ไม่นับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวางมือการเมือง 1 วันก่อน กกต.ออกคำสั่ง ที่จังหวะเวลาใกล้กัน ชวนให้คิดอีกเช่นกัน)

ส่วนสมรภูมิแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ทั้งยังมีเสียงขึงขังไม่เอาด้วยจากหลายฝ่าย แม้กระทั่งฝ่ายพรรคร่วมตั้งรัฐบาลเอง

 

ณ วันนี้ สถานการณ์ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงหมดโอกาสเข้าตึกไทยคู่ฟ้าแล้ว 100% แพ้ทั้ง 2 สมรภูมิที่เคยประกาศขอแบกความหวังคนไทยจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

ต้องยอมรับว่าฝ่ายอำนาจเก่าเล่นหนักมาก หนักชนิดโหดเหี้ยมเอากันระดับกระอักเลือด ที่คิดว่าจะเล่นงานยังไง ใช้เครื่องมืออะไร ก็จัดให้ตามที่คาดไว้หมด หลุดทั้งนายกฯ-ส.ส.ก็ไม่ให้เป็น

เรียกได้ว่า พิธาถูก “ประหารชีวิตทางการเมือง” ถึง 2 ครั้งในวันเดียว

ฉากต่อไปคือเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลอย่างไรคือคำถามสำคัญ?

ภูมิใจไทยและ ส.ว.ออกมาจุดประเด็นใหม่อีก จะไม่โหวตเลือกนายกฯ พรรคเพื่อไทย หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล หลังการเลือกนายกฯ ในสัปดาห์ก่อนที่ต่างพร้อมใจกันถือดาบนำ ไล่ฟันพิธาและพรรคก้าวไกลด้วยมาตรา 112

นี่คือการสร้างเงื่อนไขให้เพื่อไทยบีบก้าวไกลออกจากมือ เป็นการเปิดเกมรุกครั้งใหญ่จากฝ่ายอนุรักษ์

 

ความน่าจะเป็นในการตั้งรัฐบาลตอนนี้แม้จะอยู่ในมือเพื่อไทย แต่ก็เป็นอำนาจต่อรองที่อ่อนไหว มีความเสี่ยงจะได้ไม่คุ้มเสียอยู่สูง

โอกาสการเป็นนายกฯ ตอนนี้จึงตกไปอยู่ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งก็ยังมีปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองที่ต้องแบกรับไว้ จากการเคยลั่นวาจา ปะ ฉะ ดะ กับซีกรัฐบาลเดิมไว้มากช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และมีแนวโน้มจะอยากทำงานกับก้าวไกลมากกว่า

ขณะที่แพทองธาร ชินวัตร ที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ดี รู้กระแสความต้องการทางการเมือง แต่ดูเหมือนยังไม่พร้อมเป็นนายกฯ

ท่ามกลางความชุลมุนดีลจัดตั้งรัฐบาล ก็มีข่าวการพยายามดันชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ

สัปดาห์ก่อนมีการตั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักของพรรคในฐานะผู้ประสานงาน ต่อรองชิงเก้าอี้ทางการเมือง โดยการันตีเสียงจากสภาสูง พร้อมโหวตให้ 50 จนถึงเกิน 70 เสียง

นั่นคือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤตการจัดตั้งรัฐบาล

 

ในมุมของก้าวไกล ไม่ผิดนักถ้าจะมองว่าเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด ไม่สามารถต่อรองคว้าเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ไว้ได้ กระทั่งล่าสุด ไม่สามารถนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ แม้จะชนะเลือกตั้ง รวมเสียงข้างมากได้ 312 เสียง รวมประชาชนเลือกได้มากกว่า 27 ล้านคน จากผู้มาใช้สิทธิ์ 39 ล้านคน

หากมองแบบไม่โลกสวยนัก ฉากทัศน์ต่อไปก็มีความเป็นไปได้ที่ก้าวไกลอาจไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ร้ายไปอีก “พิธา” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่สามารถเป็น ส.ส. และไม่แม้แต่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านได้

ร้ายกว่านั้นไปอีกคือ “ก้าวไกลวงแตก” โดนแจกกล้วยแบบที่เคยสำเร็จมาแล้วช่วงปี 2562 ดึง ส.ส.บางส่วนไปอยู่พรรคใหม่

เรื่องนี้อย่าคิดว่าจะไม่เกิด ที่จริงเป็นเป้าประสงค์ของอำนาจเก่า ฝ่ายอนุรักษนิยม-ทุนจารีตด้วยซ้ำ

ต่อจากนี้ไปจึงต้องจับตาว่าก้าวไกลจะโดนหนักแค่ไหน ถ้า “พิธา” รอด ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ถ้าไม่รอด การเมืองไทยจากนี้ กระแส “เกลียดอำนาจนิยม” จะยิ่งสูงลิบ

แต่ถ้าฝ่ายอำนาจนิยมคิดไปไกล ขอเอา 151 ส.ส.ไปด้วย วิกฤตการเมืองเกิดแน่ และถ้าถึงขั้นยุบพรรค วิกฤตก็อาจเปลี่ยนเป็น “กลียุค” ได้ง่ายๆ

อย่าประเมินว่าฝ่ายอำนาจเก่าไม่กล้าทำ อย่าลืมว่าเพราะการปล่อยให้ประเทศมีฝ่ายค้านแบบก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 มี ส.ส. 151 คน อันตรายอย่างยิ่ง

ขณะที่เพื่อไทย อนาคตอาจจะไม่ใช่ “ตัวกลาง” ในลักษณะตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ตัวเองคิดไว้

เพราะตามสถานการณ์ที่กำหนดด้วยเกมของฝ่ายอำนาจเก่าอนุรักษนิยม-ทุนจารีต ก็จะสร้างเงื่อนไขทางการเมือง จะบีบให้ต้องเดินเส้นทางประนีประนอม ซึ่งฝ่ายอำนาจเก่าหวังได้ประโยชน์จากการไปลดทอนกระแสการต่อสู้ของประชาชน

ดังนั้น ประเทศไทยจากนี้ ต่อให้มีรัฐบาลใหม่ วงจรแห่งการทำลายประชาธิปไตยยังอยู่ เป็นรูปธรรมแบบที่เพื่อไทยเคยเจอมาตลอด 2 ทศวรรษ มองทางไหนก็แทบไม่เจอดี

ส่วนฝ่ายอำนาจเก่าอนุรักษนิยมไทย ต้องบอกว่าวันนี้ กลไกอำนาจ เครื่องมือที่ใช้ รุนแรงเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ไม่กังวลต่อเสียงเตือนใดๆ พร้อมใช้ทุกวิธีจัดการฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางการเมือง กลไกทางกฎหมาย พร้อมทำให้คนเหนื่อยหน่ายต่อความอยุติธรรม ไปจนกระทั่งสร้างความหวาดกลัว แม้แต่กลไกความรุนแรงก็พร้อมใช้ ดังที่เคยใช้ในปี 2563

ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยทำสำเร็จในการจัดการกับทักษิณ ชินวัตร มาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ แต่มาวันนี้ ทักษิณไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยแล้ว แต่คือพรรคก้าวไกลและคนอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เป็นอีกครั้งที่พลังประชาธิปไตยถูกระทำ ซึ่งเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะชนะตามกติกาที่บิดเบี้ยวมาแล้ว ก็ยังถูกกระทำซ้ำๆ โดยมีราคาที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยต้องจ่าย คือ ทั้งระบบไม่เหลืออะไรให้น่าไว้ใจอีกแล้ว ไม่มีใครเชื่อถืออีกแล้ว มีแต่ความคับแค้นใจของประชาชนจำนวนมาก

 

14 พฤษภาคม ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมประดิษฐ์ เป็นเพียงวันแสดงมหรสพที่มีมูลค่า 6,000 ล้าน

วันนี้ฝ่ายอำนาจเก่าจึงชนะอีกขั้น เป็นชัยชนะจากการค่อยๆ บีบให้ประชาชน “จนตรอก” ได้สำเร็จอีกก้าวหนึ่ง

แต่อย่าลืม อะไรก็ตามเวลา “จนตรอก” มันจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิต โดยไม่สนและไม่แคร์ว่าคู่ต่อสู้เป็นใคร

จากนี้ ไม่ว่าใครมาเป็นนายกฯ ราคาที่ต้องจ่ายจากนี้สูงลิบจริงๆ