ถ้าเดินเกมการเมืองพลาด อำมาตย์ดีใจ ก้าวไกลบาดเจ็บ…เพื่อไทยพิการ

มุกดา สุวรรณชาติ

รากเหง้าของปัญหา
คือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย

การสกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์…จากพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นนายกฯ เป็นเรื่องปกติที่เป็นไปตามความคาดหมายของคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว แม้มีแผนจะเปลี่ยนตัวนายกฯ ไปสู่มือของพรรคเพื่อไทย แม้เสนอ เศรษฐา ทวีสิน โดยที่ก้าวไกลและเพื่อไทยยังกอดคอกันอย่างเข้มแข็งพร้อมพรรคร่วม 8 พรรค ก็ยังไม่แน่ว่าจะตั้งรัฐบาลได้

รากเหง้าของปัญหา คือ ระบอบอำมาตยาธิปไตยซึ่งได้สร้างสมความเลวร้ายต่อเนื่องมานับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ทั้งระบบและตัวบุคคล นี่จึงเป็นตัวขัดขวางระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แนวทางของพวกเขาก็คือไม่ให้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะเลือกตัวแทนจากพรรคใดมาก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาทำต่อเนื่องมา 17 ปีก็คือ…ทำลายพรรคการเมืองของประชาชนโดยใช้อำนาจต่างๆ ตั้งแต่การรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ ใช้อำนาจองค์กรอิสระ เพื่อจะยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้าม

การโค่นล้มพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ คือผลงานตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้พรรคก้าวไกลต้องเตรียมตั้งรับให้ดี

ส่วนเกมที่ก้าวไกลขอแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ คงไม่ผ่าน

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างเพื่อให้ได้เปรียบทางการเมือง โดยตั้ง ส.ว. 250 คนและให้มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เช่นเดียวกับผู้แทนฯ ที่ประชาชนหลายสิบล้านเลือกเข้ามา เรื่องที่จะปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้โหวตเลือกนายกฯ โดยการแก้รัฐธรรมนูญ คงไม่ผ่านเพราะต้องมี ส.ว.เห็นด้วยถึง 1 ใน 3 ของ 250 คนคือ 84 คน

ตราบที่ ส.ว.ชุดนี้ยังอยู่ก็จะไม่มี ส.ว.คนไหนยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตนเอง

 

การเดินเกมการเมืองของก้าวไกล
โดนสกัดทุกรูปแบบ

การเดินเกมทางการเมืองในขอบเขตที่กติกาบังคับไว้ก็มีความสำคัญ คนที่จะชี้ขาดการเดินเกมช่วงนี้คือก้าวไกล ซึ่งจะต้องคำนึงว่าขณะนี้มีประชาชนเลือกพรรคตนเองถึง 14 ล้านเศษ และเลือกเพื่อไทยซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้าเช่นกันอีกเกือบ 11 ล้าน ดังนั้น ด้วยพื้นฐานอันนี้ และคะแนนเสียง ส.ส.ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวม 312 เสียง จึงควรจะตั้งรัฐบาลให้ได้

ถ้าก้าวไกลไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ก็ให้เพื่อไทยลองดู และเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อจะได้ทำตามเป้าหมายที่ประกาศไว้กับประชาชนที่สำคัญคือ 2 เรื่อง

1. เปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหารที่มีการบังคับให้เป็นสมัครใจ

2. ร่วมกับทุกพรรคเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นก็สามารถร่วมกับทุกพรรคเพื่อจะปรับปรุงให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เพราะถ้าหากสามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เสร็จก็ควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ซึ่งอาจจะใช้เวลารวมทั้งหมด 2 ปีเศษก็ได้ ถ้ารัฐบาลซึ่งไม่ว่าจะนำโดยพรรคเพื่อไทยหรือก้าวไกลสามารถสร้างผลงานได้เหมาะสม แก้ไขปัญหาประชาชนได้บ้างทั้ง 2 พรรคก็จะเป็นที่นิยมและสามารถขยายกำลังทางการเมืองต่อไป

พรรคก้าวไกลจะต้องมีระยะเวลาหลายปีในการสร้างผลงานให้ประชาชนเห็นก็เป็นการพิสูจน์ความสามารถว่าแม้เป็นพรรคใหม่ก็ทำได้จริง

ซึ่งนี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยที่สามารถโด่งดังและมีชื่อ คนเชื่อถือก็เพราะมีผลงานจริง ไม่ใช่ดีแต่พูด

 

การเดินเกมการเมืองของเพื่อไทย
ต้องระวังกับดัก

เกมการเมืองในช่วงนี้จุดชี้ขาดก็ยังอยู่ที่ความสามัคคีของก้าวไกลกับเพื่อไทย ถ้ารวมกำลังกันไว้ให้แน่น ประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปได้แน่นอน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจังหวะก้าวเดิน

จนถึงบัดนี้แผนของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็ยังเหมือนเดิมคือพยายามแยกก้าวไกลและเพื่อไทยออกจากกัน

ขั้นที่ 1 สกัดพิธาจากก้าวไกลไม่ให้ได้เป็นนายกฯ โดยใช้ทั้ง กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว. ซึ่งได้เห็นผลแล้ว

ขั้นที่ 2 ให้เพื่อไทยเสนอตัวเป็นนายกฯ แต่จะต่อรองให้เพื่อไทย และสลัดก้าวไกลออกโดยอ้างว่าถ้ามีก้าวไกลซึ่งมีปัญหาเรื่อง ม.112 พวกเขาจะไม่โหวตให้ ขณะเดียวกันก็ขู่ว่าจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเข้ามาแข่งชิงนายกฯ เป็นการเร่งให้เพื่อไทยกับก้าวไกลรีบตัดสินใจจนขัดแย้งกัน

ขั้นที่ 3 จัดการให้เกิดรัฐบาลข้ามขั้ว เพราะจริงๆ แล้วเรื่อง 112 อาจจะเป็นปมเล็กๆ เท่านั้น ที่สำคัญถ้าเพื่อไทยคลายมือที่จับไว้กับก้าวไกลออก ก็จะไม่มีเสียง ส.ส.เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก นี่จึงเป็นช่องทางที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมจะเสียบเข้ามาแทนที่ 2-3 พรรค

เกมของเพื่อไทยนั้น ถ้าเดินให้สะดวก ก็ทำตามที่ก้าวไกลเสนอ ไม่จำเป็นต้องเร่งและไม่ควรก้าวสู่กับดักตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว คนที่ไล่ทำร้ายและทำลายเพื่อไทยมา 18 ปี ไม่มีทางจะมาหวังดีในวันนี้ ถ้าฝ่ายอำมาตย์ดึงเกมได้ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยืดได้

ถ้าเพื่อไทยหลงเข้ากับดัก ก็คือการตระบัดสัตย์ ยิ่งกว่าปี 2535 ที่เกิดพฤษภาทมิฬ

 

งานนี้ถ้าพลาด…
ก้าวไกลบาดเจ็บ…แต่เพื่อไทยพิการ

แนวทางการต่อสู้… จะเกิดทั้งในสภา และนอกสภา

สภาพแรงกดดันทางการเมืองขณะนี้ทำให้หลายคนมีความเครียดและคิดจะตอบโต้ด้วยความรุนแรง ผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองแนะนำว่าการต่อต้านอำนาจอำมาตยาธิปไตย การต่อต้านความอยุติธรรม ยังสามารถทำได้แต่ต้องคิดวิธีการที่เหมาะสมและได้ผลแต่การใช้ความรุนแรงในสภาพที่ฝ่ายตนไม่มีกำลังเพียงพอย่อมเป็นข้อเสียเปรียบและทำให้เกิดความเสียหายได้

สถานการณ์ปัจจุบันของโลกและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในประเทศไทย ไม่เหมือนกับเมื่อ 50 ปีที่แล้วที่มีกระแสการใช้อาวุธต่อสู้เพื่อการปฏิวัติ

ล่าสุดพรรคเหมาอิสต์ในประเทศเนปาลยังเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการใช้กำลังอาวุธกลับมาสู่การเลือกตั้งและต่อสู้จนได้รับชัยชนะ

แต่สถานการณ์นอกสภา อาจไม่มีใครควบคุมได้

ถ้าแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ เลือกตั้งชนะก็ไม่ได้อำนาจ จึงทำให้บางคนมีความเห็นว่า สุดท้ายต้องใช้พลังของประชาชนเป็นแสนเป็นล้านเคลื่อนไหวเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และโครงสร้าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ช่วงเวลานี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ที่จะชี้ว่าบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตทางการเมืองขนาดใหญ่หรือไม่ ตัวแปรสำคัญคือ

1. ผู้มีอำนาจในฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

2. แกนนำของเพื่อไทย

3. แกนนำของก้าวไกล

ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้พวกเขากล้าฝืนมติของประชาชนกล้าหัก กล้าทำลายความหวังทั้งหมดของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่น การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วโดยมีพรรค 3 ป.มาร่วม

จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่พอใจอย่างรุนแรง เป็นอารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันของคนเกิน 20 ล้าน ทั้งประเทศ และครั้งนี้ จะไม่เกิดขึ้นเพียงกรุงเทพฯ แห่งเดียว

ถ้ายอมถอยกันคนละก้าว ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะสามารถลดกระแสความรุนแรงไปได้ระดับหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงจะยังคงดำเนินต่อไป กองเชียร์สองพรรคใหญ่ต้องใจเย็นและคิดให้รอบคอบ เพราะทุกคนคือหมากที่อยู่บนกระดานซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

ถ้ามีรัฐบาลข้ามขั้ว ไม่ว่านายกฯ คือใคร ความวุ่นวายจะตามมา ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยยังมีเกมที่ซ่อนไว้อีก 2 ชั้น เพื่อที่จะใช้แสวงหาผลประโยชน์และใช้ทำลายพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล