ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
ผวาพิษ ‘เสถียรภาพรัฐบาล’
ฉุดต่างชาติขยาดเที่ยวไทย
เศรษฐกิจอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ต้องยอมรับว่าความร้อนแรงของการเมืองไทยในขณะนี้ ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความปั่นป่วนให้กับทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ การเงิน และการลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวไทย ที่ถือเป็นความหวังเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปต่อในปัจจุบันแล้ว
ในขณะเมื่อยังไร้วี่แววว่าจะได้เห็นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ เสียงระงมร้องเพลงรอแล้วรอเล่าก็เริ่มดังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาชนที่อยากเห็นผู้นำตามครรลองที่ถูกที่ควร และภาคธุรกิจเองก็อยากเห็นความชัดเจนของนโยบายใหม่จากรัฐบาลใหม่ เพื่อวางแผนในการขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป
แต่พอผ่านการเลือกตั้งเสร็จไปกว่า 2 เดือนแล้วยังไม่เห็นจะมาสักที ทำให้ส่วนใหญ่ร้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอนนี้ มีอยู่ไม่มากก็น้อยแน่นอน
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ขณะนี้ได้รับข่าวดีจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ที่แม้รายได้ยังไม่กลับมาดีเท่าก่อนเกิดเกิดการระบาดโควิด-19 ปี 2562 แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้วด้วยซ้ำ ทำให้การท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการฟื้นตัวขึ้นอย่างแท้จริง แม้มีความเสี่ยงในเรื่องการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน และโอกาสในการเกิดการเมืองนอกสภา หรือการลงถนนชุมนุมประท้วงต่างๆ โดยหากมองบริบทของการเมืองที่คิดว่าไม่แตกต่างกันในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
ประเทศไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากปลายทางของการเมืองไทย เดินทางไปสู่การประท้วงหรือความขัดแย้งในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังที่เคยปรากฏในอดีต ก็อาจส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยบ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ส่วนตัวมองว่านักการเมืองยุคใหม่ และผู้ที่มีความคิดเห็นการเมืองทุกกลุ่มในปัจจุบัน มีวุฒิภาวะที่ดี แยกออกในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยในระยะใกล้ๆ นี้ ทำให้เรื่องการประท้วงที่จะเกิดผลกระทบในภาพลักษณ์ด้านลบน่าจะน้อยลง
เชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาก็ต้องให้ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวแน่นอน เพราะถือเป็นอาวุธลับที่สร้างเสถียรภาพสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ โดยขณะนี้การท่องเที่ยวไทย ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่สดใสมากๆ แม้ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ แต่สถานการณ์ในตอนนี้ทำให้ผู้ประกอบการยิ้มออกได้ ทำให้ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร เรายังคงต้องใช้กลยุทธ์ในการช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยด้วย
ททท.จะเน้นทำการตลาดผ่านกลยุทธ์ทั้งตลาดต่างชาติระยะใกล้ และระยะไกล รวมถึงในแง่ดีมานด์และซัพพลายควบคู่กัน แต่แม้การเมืองจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก แต่โอกาสที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมก็มี หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจด้วย เพราะมีผลกับการบริหารจัดการที่ล่าช้าออกไป อาทิ การจัดสรรงบประมาณที่จะล่าช้ากว่าแผนดำเนินการ อย่าง ททท.ก็อาจมีผลให้เกิดความล่าช้าในการช่วงชิงตลาดตามที่วางแผนไว้ได้
เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว วาระพิเศษของการท่องเที่ยวไทย ขณะนี้เราอยากได้เป้าหมายหรือการให้นโยบายการทำงานที่ชัดเจนจากรัฐบาล เพราะจะทำให้เห็นการทำงานที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ โดยอยากเห็นการส่งเสริมดีมานด์และพัฒนาซัพพลายของการท่องเที่ยว ส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ไทย ให้เป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างจริงจัง และสามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน มองข้ามไปยังการทำงานร่วมกันในระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวไทย
“ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2570 ต้องสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพีไทย ทำให้ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวแน่นอน ทั้งภาคการเกษตร การผลิต อุตสาหกรรม ส่วนภาคบริการเป็นปลายทางในการผลักดันให้ส่วนอีกๆ สามารถยิ้มออกได้อย่างแท้จริง ทำให้ความจริงจังและความจริงใจในการให้นโยบายของรัฐบาล จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาลใหม่ได้อย่างแน่นอน” ฐาปนีย์กล่าว
ขณะที่ภาคเอกชนประเมินผลความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในแง่ลบมากกว่าที่คาดไว้
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ ถือเป็นปัจจัยน่าเป็นห่วงมากที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะปัจจัยในด้านอื่นๆ อยู่ระหว่างกำลังฟื้นตัวแล้ว อาทิ ความต้องการ (ดีมานด์) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนผ่านการกลับเข้ามาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง กำลังซื้อก็เริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นมาแล้วเช่นกัน เพราะแม้ราคาตั๋วเครื่องบินยังทรงตัวในระดับสูง แต่ก็ยังเห็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ก็ตาม
ซึ่งในฐานะเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยืนยันว่าต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด เพราะหากรัฐบาลจัดตั้งล่าช้า การขับเคลื่อนก็จะช้าตามไปด้วย โดยเราอยากเห็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงมีเรื่องจำเป็นที่ต้องเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมด้วย เพราะแม้ขณะนี้ยังมีรัฐบาลรักษาการ แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้อยากทำอะไรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงอยากให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ผลกระทบของการจัดตั้งรัฐบาล มองในแง่ภาพรวมแน่นอนว่าจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน ทำให้ทุกอย่างล่าช้าแทนที่จะออกมาให้รวดเร็วมากที่สุด แม้ในแง่ของงบประมาณประจำปี 2567 ที่จะออกมาล่าช้านั้น มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายนัก แต่สำคัญในตอนนี้คือ จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาใเฉพาะหน้าที่มีอยู่ก่อน เพราะภาคการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงอยากให้มีรัฐบาลเข้ามาจัดตั้งท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และมีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งไว้เฉยๆ ในนามเท่านั้น เป็นการช่วยกันประสานงานเพื่อขับเคลื่อนผ่านทั้งภาคเอกชน ภาครัฐจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ และคำสั่งตรงจากนายกรัฐมนตรีด้วย อาทิ ปัญหาแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ ที่มองว่าแก้ไขได้หากเอาจริงมากเท่าที่ควร
ศิษฎิวัชรย้ำทิ้งท้ายว่า “ความกังวลการเมืองนอกสภา การลงถนนชุมนุมต่างๆ นั้น ต้องยอมรับว่าก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะหากเป็นการจัดชุมนุมแบบเล็กน้อยตามความเป็นประชาธิปไตย ส่วนนี้ไม่เป็นไร แต่หากเกิดในลักษณะม็อบชนม็อบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เราภาวนาว่าไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้นเกิดขึ้นอีก เพราะหากเป็นการเดินขบวนแล้วนำไปสู่ภาพม็อบชนม็อบอีกครั้ง อันนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีของประเทศไทยอย่างยิ่ง
ภาพความเสี่ยงที่จะยังคงอยู่และตามมาในอนาคต โดยเฉพาะการลงถนนชุมนุมประท้วง ถือว่าสร้างความหวาดหวั่นให้กับทั้งภาคเอกชน และประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งก็หวังว่าเราจะไม่ต้องเผชิญภาพฉายซ้ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา วนแบบไม่รู้จบอีกครั้ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022