เปิดคำพิพากษา ‘ฝุ่นพิษ’

คดีการฟ้องร้องฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ระหว่างคุณวสุชาติ พิชัย ชาวเชียงใหม่เป็นฝ่ายโจทก์ กับจำเลยได้แก่นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นั้นได้บทสรุปแล้ว

เมื่อ น.ส.พิชญ์ณัฎฐ์ คันธารัตนกุล ตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาในวันที่ 10 กรกฎาคม ระบุชัดว่าทั้งนายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยต่อหน้าที่ที่มีอยู่ หรือทำหน้าที่ล่าช้าเกินควรในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่

คำพิพากษาชี้ว่า แม้สถานการณ์ปัญหาควันหรือฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน ได้คลี่คลายลงแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และผลกระทบกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“ศาลจะพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อใช้ในการระวังป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกัน คุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟูและบริหารจัดการปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป”

คำพิพากษามีทั้งหมด 65 หน้า มีข้อมูลที่ศาลนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีบ่งบอกว่า การบริหารจัดการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในหลายมิติ

 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แจงข้อมูลตามคำสั่งศาล บอกให้รู้ว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดกลุ่มโรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้และโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งมีโรคที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิต 5 โรค คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรั้ง และโรคมะเร็งปอด

องค์การอนามัยโลก กำหนดเป้าหมายที่แนะนำล่าสุดในปี 2564 ไว้ 2 ค่า ค่าเฉลี่ยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายวันไม่เกิน 24 ชั่วโมง 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่าเฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม.

ค่าเฉลี่ยของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายวันนิยมใช้ศึกษาวิจัยผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและสุขภาพในระยะสั้น ส่วนค่าเฉลี่ยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายปี ใช้ในการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและสุขภาพระยะยาวต่อการเกิดโรคระบบอวัยวะต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยฝุ่นรายปีของจังหวัดเชียงใหม่ก่อนปี 2566 มีค่าประมาณ 30 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 25 มคก./ลบ.ม.

ทำให้อัตราการเสียชีวิตของชาวเชียงใหม่สูงกว่าประชากรในประเทศที่มีค่าฝุ่นมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกถึงร้อยละ 20

ในทางกลับกันหากผู้บริหารประเทศลดระดับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายปีให้ต่ำกว่า 5 มคก./ลบ.ม. ชาวเชียงใหม่จะลดการเสียชีวิตลงถึงร้อยละ 20

 

จากข้อมูลย้อนหลังของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ต่อการเสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2559-2561 พบปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถึงร้อยละ 7.2-8.9

ส่วนการศึกษาค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น พีเอ็ม 2.5 มีค่าประมาณ 30 มคก./ลบ.ม. แสดงให้เห็นว่า ชาวเชียงใหม่จะมีอายุขัยสั้นลง 2.5ปี

จากการศึกษาการเสียชีวิตและสาเหตุการเสียชีวิตของชาวเชียงใหม่ ระหว่างปี 2559-2561 โดยใช้ข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองพบว่า

หากนำจำนวนที่มีค่าเฉลี่ยรายวันของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาคำนวณจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 และ 2561

จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นจาก 87 รายในปี 2560 เป็น 151 รายในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 และเพิ่มเป็น 225 รายในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ถึงร้อยละ 158

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประชาชนในชุมชนราว 4 เท่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ของค่าเฉลี่ยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้น

 

คําชี้แจงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้รายละเอียดอีกว่า การกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของไทยในระดับสูงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่า ระดับฝุ่นในขณะนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ขาดการป้องกันการหายใจ ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องแก้ไขที่แหล่งกำเนิดฝุ่น แหล่งกำเนิดในเมืองที่ประชากรหนาแน่น การจราจรคับคั่ง เมืองมีโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่

 

คําพิพากษาคดีนี้ยังอธิบายรายละเอียดเรื่องการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เป็นผลจากกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. และในเวลา 1 ปีค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. พบว่า ช่วงเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2561-2565 คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อต้นปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่ปี 2562 กลับเป็นปีที่ค่าฝุ่นพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานไทย 5 เท่า สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 10 เท่า เพราะมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 8-241 มคก./ลบ.ม.

ถัดมาปี 2563 ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในช่วง 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 5-360 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ 7 เท่า และเมื่อนำไปเทียบกับค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ปรากฏว่าปริมาณฝุ่นพิษในจังหวัดเชียงใหม่สูงกว่า 14 เท่า

ปี 2565 ระหว่าง 1 มกราคม-30 พฤษภาคม ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วง 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 4-363 มคก./ลบ.ม. เทียบกับมาตรฐานไทย สูงกว่า 7 เท่า และเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก สูงถึง 24 เท่า

ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่สูงมาก สูงกว่าค่ามาตรฐานที่เรากำหนดเอาเองและเกินมาตรฐานโลก

 

นี่เป็นผลลัพธ์บรรทัดสุดท้ายบอกให้รู้ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างสิ้นเชิง

เวลาไม่รอใคร จากนี้ไปเหลืออีก 5 เดือนเท่านั้น บ้านเราก็เข้าสู่ห้วงฤดูหนาว นั่นหมายถึงปัญหาฝุ่นพิษจะวนกลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกระลอก เนื่องจากจะเกิดไฟป่า ชาวไร่พากันเผาหญ้า ซังข้าวเพื่อเตรียมดิน ความหนาวเย็นทำให้เกิดความกดอากาศต่ำ อากาศไม่ไหลเวียน ควันและฝุ่นพิษลอยแช่อยู่เหนือท้องฟ้า

แต่นาทีนี้ รัฐสภาไทยยังอลหม่านกับการเล่นเกมโหวตนายกฯ คนใหม่ ไม่รู้ว่าแคนดิเดตคนไหนจะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน พล.อ.ประยุทธ์

ทำนายล่วงหน้าได้เลยว่า “ฝุ่นพิษ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของประเทศนี้ต่อไป •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]