ป้อมปราการสายนก (จากหนามไล่นก)

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ป้อมปราการสายนก

(จากหนามไล่นก)

 

ฟิ้ววววววว แปะ…เสียงของเหลวหนืดเหนียวกระทบเส้นผมที่เหยียดยาว และในเวลาเดียวกัน เสียงร้องโหวกเหวกด้วยความตกใจระคนเดียดฉันท์ก็ดังขึ้น

“อี๋ !! นี่มันอะไรเนี่ย” สาวน้อยละสายตาออกจากมือถือ มือจับไปที่เส้นผม ทั้งลูบ ทั้งทึ้งด้วยความงุนงงและหงุดหงิด “แหวะ นี่มันขี้นกนี่นา” เธอร้อง กว่าจะรู้ตัวอีกที มือของเธอก็ชโลมของเหลวขุ่นข้นลงบนผมและหนังศีรษะของเธอไปทั้งหย่อมแล้ว

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เสมอ อะไรที่เข้าไปก็ต้องออกมา ปักษาก็ต้องปลดทุกข์ มันเป็นเรื่องธรรมชาติแน่นอน เธอไม่รู้เลยว่าเธออาจจะตกเป็นเป้า และไม่รู้เลยว่า ที่ๆ เธอยืนอยู่ คือสุขาของเหล่าวิหค พวกมันไม่ได้เล็งเป้าไปที่เธอ พวกมันแค่อยากปลดปล่อยตามธรรมชาติก็เท่านั้น

แค่แจ๊กพ็อต เธอไปยืนอยู่ใต้ก้นมันพอดี…

ภาพ อุค-ฟลอเรียน เฮ็มสตรา และรังนกกางเขนแห่งแอนต์เวิร์ป

“ที่ใดมีนก ที่นั่นมีขี้นก” คนที่มีประสบการณ์ทุ่นตกใส่ย่อมตระหนัก และโดยมากมักจะกวาดสายตาว่องไวส่องดูพื้นก่อนเลยว่ามีภาพจิตรกรรมแอ๊บสแตร็กต์ สไตล์สะบัดพู่กันแนวแจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) สีขาวๆ กระจายอยู่บนพื้นหรือไม่

เพราะถ้ามี พวกเขาก็จะรู้ได้ทันทีว่าที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และการลบหลู่ภาพแอ๊บสแตร๊กต์โดยการไปยืนเหยียบย่ำ อาจจะโดนจิตรกรจัดให้สักทุ่นสองทุ่นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เพื่อขับไล่อาคันตุกะช่างถ่ายออกไปจากหลังคา ขอบบ้าน ระเบียง หลายบ้านตัดสินใจที่จะติดหนามไล่นกที่มีลักษณะเป็นลวดยาวๆ แทงยื่นออกมาทำให้นกเข้ามาเกาะลงบนหลังคา หรือระเบียงได้ยากยิ่งขึ้นทำให้พื้นที่ขี้นก และความเสี่ยงที่จะโดนทุ่นนั้นลดลงไปตามลำดับ

แต่ก็มีนกหนึ่งที่เป็นตำนาน นั่นก็คือนกพิราบแห่งสถานีพาร์กเดล (Parkdale pigeon)

พิราบสีเทาหน้าตาไม่ต่างจากพิราบทั่วไป แต่มีความดื้อรั้นผิดนก เริ่มโด่งดังในทวิตเตอร์และเรดดิต (Reddit) ในช่วงปลายปี 2016 เพราะความนิยมชมชอบทำเลหลังทีวีแอลซีดีที่สถานีพาร์กเดลในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย มันยึดหัวหาดทำรังอยู่บนนั้น ไม่ยอมไปไหน และไม่ว่าพนักงานทำความสะอาดจะรื้อรังของมันออกไปกี่รอบ มันก็จะกลับมานั่งทำรังอยู่ที่เดิม

จนในที่สุดทางสถานีก็เลยทนไม่ไหว สั่งเอาแถบหนามไล่นกมาติดเพื่อกันไม่ให้เจ้านกดื้อมายึดทีวีเป็นที่อยู่ (และสุขา)

ทว่า ก็ไม่เป็นผล พิราบแห่งพาร์กเดลก็ยังคงเมินหนามและยึดพื้นที่ทำรังอยู่บนทีวีเครื่องนั้นด้วยหัวใจที่หนักแน่น และต่อมา ก็มีรายงานว่ามันและคู่ของมันให้กำเนิดและเลี้ยงลูกน้อยออกมาอยู่ในรังที่เต็มไปด้วยหนามเสียด้วย

แต่นกบางชนิดกลับมีวิธีจัดการกับหนามที่น่าสนใจยิ่งกว่า โดยเฉพาะ นกกา (crow) และนกกางเขน (magpie) ที่นอกจากจะไม่กลัวหนามแล้ว ยังมาแอบขโมยฉกเอาหนามไล่นกไปทำรังตัวเองเสียด้วย

ภาพพิราบแห่งพาร์กเดล โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ไมเคิล เบลล์ (Michael Bell)

เรื่องราวนกน้อยขโมยหนามนั้นเริ่มต้นขึ้นที่ข้างโรงพยาบาลในเมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ปฏิมากรรมรังนกกางเขนขนาดยักษ์ที่ติดอยู่บนคาคบนั้นใหญ่โตโอฬาร และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือมันถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีต ประดับประดาไปด้วยหนามไล่นกกว่า 1,500 แง่ง ซึ่งถ้านับเป็นความยาวของแถบหนามที่พวกมันไปดึง รื้อ ทึ้งออกมา ก็น่าจะยาวได้ถึง 50 เมตรเลยทีเดียว

นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ในการปรับตัวที่แสนน่าทึ่งของนก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพวกนกที่ชาญฉลาดอย่างนกกาและนกกางเขนที่จากการศึกษาในอดีตพบว่าสามารถแยกแยะภาพสะท้อนของตัวเองในกระจก อีกทั้งยังสามารถจดจำแบบแผนต่างๆ ได้เช่นเดียวกับมนุษย์

และที่แสบสันต์ซ่านทรวงที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ก็คือพวกมันฉลาดพอที่จะช่วยเพื่อนนกตัวอื่นๆ แกะเอาเครื่องติดตามที่ติดอยู่บนหลังของพวกมันออกไปได้ด้วย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สำหรับนักปักษีและนักนิเวศวิทยาที่ศึกษาติดตามการย้ายถิ่นของนกอพยพ

อุค-ฟลอเรียน เฮ็มสตรา (Auke-Florian Hiemstra) นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเลเดน (Leiden University) ผู้หลงใหลในการแอบส่องรังนกเผยว่า คุณจะเจออะไรแปลกๆ ที่คาดไม่ถึงเสมอในรังนก ทั้งต้นไม้ปลอม แมสก์ ห่อโคเคน พลุไฟ ที่ปัดน้ำฝน แว่นดำ หรือแม้แต่ถุงยางอนามัย

แต่การที่นกเอาหนามไล่นกมาสร้างเป็นรังนั้น เป็นอะไรที่บ้าบอที่สุดแล้วที่เขาเคยเจอมา

ก่อนที่จะร่ายยาวต่อว่า “เพื่อผลประโยชน์ของพวกมัน พวกสัตว์เหล่านี้มักจะมองหาวัสดุใหม่ๆ อยู่เสมอ”

“เป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์มาก นกพวกนี้มีความยืดหยุ่นมากในเรื่องการเลือกวัสดุที่จะเอามาสร้างรัง” มาร์กเมนแวริง (Mark Mainwaring) นักปักษีวิทยาจากมหาวิทยาลัยบังกอร์ (Bangor University) ในเวลล์กล่าว แม้แต่หนามไล่นกที่ออกแบบมาให้ไล่พวกมัน พวกมันก็ยังสามารถปรับตัว และที่จริง สามารถไปตบเอามาใช้ประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องได้ด้วย

เรียกว่าเอาหมดทุกอย่างและทุกวิถีทางที่จะสร้างข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการให้กับพวกมัน!!

 

ด้วยหนามจำนวนมหาศาลที่ถูกขโมยมา อุค-ฟลอเรียน อุปมารังนกกางเขนยักษ์แห่งแอนต์เวิร์ปว่าเปรียบเสมือนป้อมปราการที่ไม่มีอะไรจะทะลุทะลวงผ่านเข้าไปได้ ที่จริง สำหรับนกกางเขน หนามไล่นกพวกนี้ถือได้ว่าเพอร์เฟ็กต์มากที่จะเป็นวัสดุในการกรุรัง

เพราะโดยปกติ นกกางเขนจะไล่หากิ่งไม้ที่มีหนามแหลมคมมากรุรังอยู่แล้ว เพื่อป้องกันและขับไล่พวกนกอื่นๆ ที่มักจะแอบมาขโมยไข่หรือลูกๆ ของพวกมันไปกิน แต่กิ่งไม้หนามที่สั้นบ้างยาวบ้างหรือจะหาญสู้หนามไล่นกที่ทั้งยาว ทั้งแหลม ทั้งเด็ดง่ายได้ และเมื่อเอามาประกอบร่างสร้างเป็นรังก็แน่นหนาและปลอดภัยเสียจนน่าทึ่ง จึงไม่แปลกที่หนามไล่นกจะกลายเป็นวัสดุยอดฮิตที่นกกางเขนรุ่นใหม่นิยมจะเอามาถักทอขึ้นเป็นรัง

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะนกกางเขนเอาหนามไล่นกไปใช้แบบเดียวกันกับที่มนุษย์ออกแบบไว้เป๊ะ นั่นคือเอาไป “ไล่นก” ซี่งเป็นอะไรที่ว้าวมาก ต้องแอบชื่นชมคนออกแบบ ที่ออกแบบหนามมาได้อย่างดีเลิศใช้งานง่าย

แม้แต่นกก็ยังมาฉกไปใช้งานได้

 

เรื่องนี้ทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงวลีอมตะที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ไม่ได้กล่าวไว้ที่ว่า

“ไม่ใช่สปีชีส์ที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด และก็ไม่ใช่ที่ฉลาดที่สุดด้วย แต่เป็นพวกที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหากที่จะดำรงอยู่”

ธรรมชาติสร้างความแปลกใจได้เสมอ ถ้าอยากอยู่รอด ก็แค่ต้องพร้อมที่สุดที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้

เพราะการแพ้ในเกมแห่งวิวัฒนาการอาจจะหมายถึงการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์