เฉลียง Rare Item

วัชระ แวววุฒินันท์

เฉลียง Rare Item

 

วงดนตรี “เฉลียง” ที่มีสโลกแกนประจำวงว่า “ตัวโน้ตอารมณ์ดี” กำลังจะมีคอนเสิร์ตในเดือนหน้า เดือนสิงหาคมนี้แล้ว แสดงสองวันคือ วันเสาร์ที่ 26 และวันอาทิตย์ที่ 27 ในชื่อว่า “เฉลียง Rare Item” ผมในฐานะคนคุ้นเคยกับพวกเฉลียงอยู่บ้าง จึงขอเขียนถึงสักหน่อย

คนอายุ 50 ปีขึ้นไปคงคุ้นเคยกับชื่อวงดนตรี “เฉลียง” อยู่ไม่น้อย และหลายคนก็เคยฟังเพลงและกลายเป็นแฟนเพลงของเฉลียงไปเลยก็มาก ตอนที่เฉลียงในยุค 5 คนก่อตัวขึ้นก็ราวปี 2529 นี่ก็ผ่านมา 37 ปีแล้ว สมาชิกแต่ละคนวัยเลยเลข 6 กันมาพอขำๆ จึงลุกขึ้นมีคอนเสิร์ตอีกครั้งหลังจากเคยรวมตัวกันไปเมื่อ 7 ปีก่อน

และไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นการรวมตัวกันครั้งสุดท้ายก็ได้ จึงตั้งชื่อเป็นนัยๆ ว่า “เฉลียง Rare Item”

 

ที่บอกว่าในปี 2529 ในยุคที่เฉลียง 5 คนก่อตัวขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2525 เคยมีเฉลียง 2 คนมาก่อน สมาชิกก็คือ “เล็ก-สมชาย ศักดิกุล” และ “เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม” ได้ออกเทปในชื่อชุด “ปรากฏการณ์ฝน” ขายได้นิดหน่อย แต่ในแง่ของบทเพลงแล้วได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับคนในวงการดนตรีทีเดียว

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน นักเขียนเพลงและนักเขียนบทละคร ได้บอกเล่าถึงเฉลียงในเทปปรากฏการณ์ฝนไว้ว่า “พอเห็นเนื้อเพลงของเฉลียงในชุดแรกของเขา มันเหมือนเป็นปรากฏการณ์ใหม่จริงๆ อัลบั้มแรกเขาชื่อ ปรากฏการณ์ฝน แต่สำหรับเรา มันคือปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของเพลงไทย”

“ในแง่ของเนื้อเพลง มันเป็นเนื้อเพลงที่อิสระและหลากหลายมาก เราตกใจมาก เฮ้ย เพลงไทยมันพูดเรื่องนี้ได้เหรอวะ แล้วมันดันพูดได้ดีด้วย”

ซึ่งเนื้อเพลงที่ว่าหลากหลายนี้ มาจากการแต่งของ จิก-ประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งเป็นผู้สร้างวงเฉลียงขึ้นมาจากบทเพลงที่เขาแต่งก็ว่าได้ เดิมเพลงเหล่านี้ประภาสเคยเขียนเล่นๆ เอาไว้ นำมาให้เพื่อนๆ ที่ถาปัด จุฬาฯ ร้องเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือในวงเหล้าก็หลายเพลง ซึ่งเพื่อนก็จะร้องไปบ่นไปว่า

“เพลงอะไรของมึงวะ?”

 

เมื่อมีเพลงมากพอ จึงคัดมาจำนวนหนึ่งเพื่อตั้งใจจะออกเป็นอัลบั้ม ซึ่งตอนนั้นวงการดนตรีบ้านเรายังไม่มีค่ายเพลงแต่อย่างใด ประภาสจึงตั้งใจทำเดโมไปเสนอนายห้างที่เป็นเจ้าของเทปเพลงในยุคนั้น โดยชวนเพื่อนร่วมรุ่นคือ เจี๊ยบ วัชระ และ ดี้ นิติพงษ์ มาช่วยกันร้อง

การบันทึกเดโมไม่ได้ทำในห้องอัดเสียงเพราะไม่มีเงิน แต่อาศัยห้องในคลินิกของพ่อเจี๊ยบตอนกลางคืนอัดเสียงกัน ซึ่งก็อัดจากวิทยุหูหิ้วธรรมดา ที่เวลาอัดเสียงลงตลับเทปจะต้องกดปุ่มสองปุ่ม และเอาต้นกำเนิดเสียงไปอยู่ใกล้ๆ ไมโครโฟนของวิทยุ ซึ่งทั้งสามก็ดีดกีตาร์ร้องกันสดๆ ตรงนั้น เจี๊ยบ วัชระ เล่าว่า

“อัดๆ อยู่ก็ต้องหยุด เพราะมีรถตะโกนขายเงาะผ่านมา เสียงขายของเข้าไปในเทป”

เมื่อได้เดโมตามบุญตามกรรมแล้ว ประภาสก็หิ้วไปหา พี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ที่เคยร่วมงานกันจากการทำเพลงในหนังเรื่อง “วัยระเริง” พี่เต๋อเห็นว่าเพลงแปลกดี เนื้อเพลงน่าสนใจ จึงรับเป็นโปรดิวเซอร์ให้ โดยต้องเรียบเรียงดนตรีใหม่ และหาคนมาร้องใหม่ พี่เต๋อบอกว่า

“เจี๊ยบร้องเพลงเพี้ยนสูง ส่วนดี้ร้องเพลงเพี้ยนต่ำ” สุดท้ายเจี๊ยบพอเอาไว้ร้องได้คนหนึ่ง ส่วนอีกคนพี่เต๋อได้ไปชวนนักร้องเสียงดีที่คุ้นเคยกันมาช่วยร้องคือ “พี่เล็ก-สมชาย ศักดิกุล” นั่นเอง

นั่นเป็นที่มาของเทปชุดแรกเริ่มเดิมทีของเฉลียง ที่มีกันสองคน

 

ต่อมาอีก 4 ปี ที่วงการเพลงเริ่มมีค่ายเพลงเกิดขึ้น ประภาสจึงเห็นลู่ทางที่จะฟื้นคืนชีวิตให้กับเฉลียงขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้ไม่ได้มองแค่การทำเพลงขึ้นมาเท่านั้น แต่มองถึงภาพเบื้องหน้าของวงด้วย

ช่วงนี้ถ้าเป็นในหนังก็จะเป็นการเสาะแสวงหาสมาชิกในวงที่ต้องผจญอุปสรรคต่างๆ แต่กับเฉลียงไม่ต้องไปเสาะหาที่ไหนไกล จิกเอาคนใกล้ๆ ตัวนี่แหละ คือ เพื่อนถาปัดสองคน เจี๊ยบและดี้ มารวมกับน้องถาปัดที่ตอนนั้นอยู่ปีหนึ่งอีกคน คือ เกี๊ยง-เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ส่วน จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง นั้นเป็นรุ่นน้องคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่รู้จักกัน และกระตุ้นให้จิกนำเฉลียงกลับมาทำใหม่ และคนสุดท้ายคือ แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง ที่เคยร่วมเล่นดนตรีประกอบละครเวทีสมัยอยู่จุฬาฯ ในนาม “สยามมัธยัสถ์” ด้วยกันมาก่อน

แต๋งเล่าให้ฟังว่า ได้ไปเจอจิกในห้องบันทึกเสียง ตนไปรับจ้างเป่าแซ็กโซโฟนให้กับเพลงประกอบโฆษณาเพลงหนึ่ง ซึ่งมารู้ตอนนั้นว่าเพื่อนที่ชื่อจิกเป็นคนแต่ง เมื่อเจอกันในห้องอัด จิกกำลังหาคนเป่าแซ็กโซโฟนมาร่วมในวงเฉลียงอยู่แล้ว จึงเอ่ยปากชวน

เมื่อแต๋งเอาเดโมไปฟังก็ตอบตกลงทันที

เมื่อได้เบื้องหน้าครบแล้ว จุ้ยก็แนะนำให้จิกนำเพลงไปให้ค่ายเพลงน้องใหม่ในตอนนั้นคือ “ครีเอเทีย อาร์ติสต์” ฟัง เผื่อจะสนใจ ค่ายครีเอเทียนี้มีรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ของจุ้ยเป็นเจ้าของและผู้บริหารอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “เก้ง-จิระ มะลิกุล” แห่งค่าย GDH ในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางของค่ายครีเอเทียนั้นต้องการสร้างบทเพลงแนวใหม่ๆ ให้กับวงการ เฉลียงจึงตอบโจทย์ได้อย่างดี โดยมีลำดับจะออกวางแผงต่อจาก ปั่น ไพบูลย์เกียรติ และ อุ้ย รวิวรรณ

สโลแกน “ตัวโน้ตอารมณ์ดี” นี้ เก้งก็เป็นคนคิดให้

ไม่เท่านั้น เก้งยังลงมือผลิตมิวสิกวิดีโอเก๋ๆ อย่างสนุกมืออีกด้วย ในหนังสือเรื่องสั้นชุด “ว้าวุ่น…วาย” ของ ปินดา โพสยะ ได้เขียนถึงวงเฉลียงไว้ในตอนของตัวละครชื่อหยอย ซึ่งก็คือเจี๊ยบ วัชระ นั่นเอง ในนั้นได้เล่าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “เข้าใจ” ไว้ว่า

มิวสิกวิดีโอจะมีฉากหนีการไล่ล่าของแก๊งมาเฟีย ถ่ายทำที่อาคารร้างสไตล์ยุโรป แต๋งเป็นฮีโร่ที่ปกป้องหญิงหญิงสาวคนหนึ่ง ส่วนพวกเฉลียงที่เหลือเป็นกลุ่มมาเฟีย และแน่นอนที่ต้องมาในเสื้อผ้าเต็มยศแบบยุคอัลคาโปน

“มันนึกว่าอากาศ 10 องศาแบบยุโรปแน่นอน” หยอยเอ่ยปาก “เสื้อสูทสี่ชิ้นข้างใน ทับด้วยโค้ตหนาตัวยาวและผ้าพันคอ อย่างนี้ต้องถ่ายแถวไซบีเรียเท่านั้น”

หยอยยังประชดต่อ “แล้วมันจะให้เราไดร์ผมทำไม ในเมื่อต้องใส่หมวก”

แม้จะพูดไปบ่นไป แต่หยอยก็ยังทำงานด้วยความรับผิดชอบ

“คัต” เสียงผู้กำกับฯ สั่ง “ขออีกคัตหนึ่ง เผื่อไว้”

“อีกคัตหนึ่งเหรอ” หยอยเปรยๆ “ลองมาวิ่งเองไหม นี่เห็นไหม เหงื่อไหลเป็นน้ำตกไทรโยคน้อยแล้ว”

นั่นเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือนะครับ ยังมีเขียนถึงเฉลียงอีกหนึ่งตอนโดยเฉพาะ ใครสนใจหาซื้อมาอ่านได้ ติดต่อไปทาง Line ID @pinda ได้นะครับ

 

พอเพลงถูกเปิดตามวิทยุ และมีภาพมิวสิกวิดีโอออกฉายทางทีวี เฉลียงก็ดังขึ้นมาในทันที ด้วยความแปลกใหม่ของบทเพลงและความลงตัวของคนเบื้องหน้าทั้งห้า ที่มีภาพลักษณ์เป็นบอยแบนด์นิดๆ ในยุคนั้น

เทปชุดที่ออกกับครีเอเทียนี้มีชื่ออัลบั้มว่า “อื่นๆ อีกมากมาย” มีบทเพลงดังหลายเพลงนอกจากเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย” และ “เข้าใจ” แล้วก็มี “เที่ยวละไม” “รู้สึกสบายดี” “กล้วยไข่” “ต้นชบากับคนตาบอด” เป็นต้น

เพลงอื่นๆ อีกมากมายนี้ได้สร้างมุมมองให้กับคนฟังหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ที่บอกว่าเป็นเพลงเปลี่ยนชีวิตเขา เพราะทำให้เขารู้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว นับแต่นั้นเขาก็ไม่มองคนอื่นๆ แบบตัดสินไปก่อนอีกเลย

ส่วน “ป็อด วง Modern Dog” ได้พูดถึงเฉลียงไว้ว่า เป็นวงที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก แนวดนตรีของเฉลียงนั้น ถือได้ว่าเพลงในยุคนี้หรือแม้แต่ในยุคก่อนนั้นก็หายากที่จะมีมุมมองแบบเฉลียง สำหรับคอนเสิร์ตของพวกพี่ๆ เขาก็จะมีการพูดคุยกัน แซวหยอกกัน เรียกว่าแตกต่างจากวงอื่นๆ ในยุคเดียวกันในสมัยนั้น

จุดเด่นเรื่องการพูดคุยกันบนเวทีของสมาชิกเฉลียงนี้ ได้รับการยืนยันจาก “เอ๋ นิ้วกลม” ว่า คนที่ไปดูคอนเสิร์ตเฉลียง ไม่ได้หวังจะฟังเพลงเท่านั้น แต่จะไปดูการจิกกัดกันบนเวทีด้วย (หัวเราะ) และตอกย้ำว่า สำหรับเฉลียงแล้ว เป็นทั้งครู ทั้งพี่ชาย ตัวเองก็มีเพลงของวงเฉลียงเป็นหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างในชีวิต จะมีมุมคิดที่ทำให้เรารู้ว่า ชีวิตก็มองอีกแบบได้

ซึ่งในประเด็นนี้แฟนเพลงตัวจริงของวงเฉลียงคงทราบดี ทั้งนี้ก็มาจากความเป็นคนช่างคิดในมุมที่แตกต่างของจิก ประภาส นั่นเอง ทำให้บทเพลงของเฉลียงเล่าเรื่องผ่านเสียงเพลงแบบบันเทิงแต่มีสาระ ชวนคิด ที่ไม่เหมือนใคร

ฟังเอาเพลินๆ เพราะๆ ก็ได้ ฟังเอาสติปัญญาก็มีซ่อนอยู่ในบทเพลงเหล่านั้น

 

ในคอนเสิร์ตที่ผ่านๆ มา นอกจากจะร้องเพลงที่ออกในอัลบั้มต่างๆ แล้ว มักจะมีการแต่งบทเพลงพิเศษขึ้นใหม่สำหรับคอนเสิร์ตในครั้งนั้นๆ ด้วย เช่น เพลง “ไม่รักแต่คิดถึง”, เพลง “เรื่องราวบนแผ่นไม้”, เพลง “เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ”

สำหรับคอนเสิร์ต “เฉลียง Rare Item” ครั้งนี้ ก็จะมีการเสนอเพลงพิเศษเพลงหนึ่งจากฝีมือการแต่งของดี้ นิติพงษ์ ซึ่งเขาได้เล่าว่า เฉลียงเคยมีเพลงชื่อ “เข้าใจ” มาแล้ว ต่อมาก็มีเพลง “ไม่เข้าใจ” ออกมา เลยนำเอาเพลงสองเพลงนี้มารวมกัน กลายเป็นเพลง “เข้าใจว่าไม่เข้าใจ”

ใครอยากฟังเพลงชื่อซับซ้อนนี้ รวมทั้งชมความสนุกกับการแสดงคอนเสิร์ตที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาทั้ง 6 คน ที่นอกจาก ดี้ เจี๊ยบ แต๋ง จุ้ย เกี๊ยง แล้วก็มี นก-ฉัตรชัย ดุริยประณีต อีกด้วย หาซื้อบัตรได้ทาง Thai Ticket Major นะครับ ทราบว่าบัตรวิ่งไปไกลมากแล้ว อย่างไรก็ลองหาจับจองดู

ปิดท้ายด้วยท่อนหนึ่งในเพลงของเฉลียงที่ชื่อเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย” นะครับ

“…อื่นๆ อีกมากมาย มากมายที่ไม่รู้ อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น” •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์